เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีติดตามผลประเมินภายในเพื่อเสริมศักยภาพภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการสนับสนุนกลไกขับเคลื่อน ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ Teachers – School – Quality – Program (TSQP) รุ่นที่ 2 ปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการติดตามประเมินภายในและหาข้อตกลงร่วมในการติดตามประเมินผลภายในของชุดโครงการฯ ซึ่งมี 8 องค์กรภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มหาวิทยาลัยนเรศวร ,มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ,มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ,มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และมูลนิธิสยามกัมมาจล
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เป็นประธานกล่าวนำ เรื่อง ‘จาก TSQP สู่ TSQM การจัดการความสำเร็จสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่’ ว่า 3 ปีที่ผ่านมาจากโครงการ TSQP ได้ก่อประโยชน์ต่อการศึกษาในพื้นที่ที่ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดจึงเกิด System Transformation ของการศึกษาไทย ทั้งนี้ จาก TSQP ที่อักษร P หมายถึง Project ที่มีกติกา ระเบียบ ตนได้เปลี่ยนมาสู่ TSQM โดย M คือ Movement หมายถึง เปลี่ยนการทำงานในที่แคบให้กว้างขึ้น และเป็นการเปลี่ยนที่ขึ้นกับตัวของเราเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการสื่อสารครั้งนี้
“วันนี้ขอมาป่วน โดยมีข้อสมมุติฐานว่า ทุกคนคือผู้นำการศึกษาของบ้านเมือง ผ่านประสบการณ์มามากทั้งในตัวบุคคล การมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างโรงเรียน, ระหว่างเครือข่าย, ระหว่างพื้นที่, และระหว่างชุมชน โดยการป่วน เป็นการพูดให้งง เพื่อให้เห็นถึงตัวโครงการที่ชัดเจนว่าต่อไปจากนี้ จะเป็นการ Movement ที่แสดงให้เห็นสภาพของความชั่วร้าย หรือ Wicked ในงานที่กำลังร่วมกันทำเพื่อบ้านเมือง”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า คำว่า Wicked ในด้านการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ คือความชั่วร้าย แต่ในความคิดของตนคือโหดร้าย แต่ขอให้มองไปทางความหมายที่ดี คือมองเป็นความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพการศึกษาไทยที่วิกฤติ ซึ่งหากยอมรับได้ว่ามันโหดร้าย ก็ต้องไม่ทำตามรูปแบบ หรือมีแบบแผนตายตัว แต่ต้องมีหลากหลายวิธีการที่เหมาะสมโดยยึดถืออุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่
“สิ่งที่ยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงใหญ่คือ การหลงเข้าใจผิด ในการเอาวิธีการหรือเครื่องมือมาเป็นเป้าหมาย ทั้งที่เป้าหมายผลลัพธ์คือตัวเด็ก ฉะนั้น ที่เราจะต้องทำ คือเอาสภาพของความโหดร้ายมาสร้างอิสระเพื่อให้เป็นพลัง ใช้ความไม่ชัดเจน คลุมเครือ มาเป็นความสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายในงานของเรา”
ศ.นพ.วิจารณ์ ยังกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนเป็น TSQM หรือจากโครงการสู่ขบวนการ School / Education Systems Transformation ที่มีความเป็นอิสระของโรงเรียนเป็นเป้าหมายยิ่งใหญ่ หัวใจสำคัญคือเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เรากำลังเปลี่ยนจากตัวหนอนเป็นผีเสื้อ หรือการ Transformation อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของผีเสื้อไม่สามารถกลับไปเป็นดักแด้ได้ แต่โรงเรียนเกิดภาวะถอยหลังได้ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ดังนั้น กสศ. และเครือข่าย จะช่วยหนุนให้โรงเรียน ‘ลอกคราบ’ จากสภาพปัจจุบันสู่ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ในหลายรูปแบบ” ได้แก่
1) เปลี่ยนจากทีมโค้ชทำงานสนอง กสศ. สู่การทำงานสนองโรงเรียน สนองประเทศไทย
2) โรงเรียนทำงานสนองหน่วยเหนือสู่การทำงานสนองนักเรียนคือหัวใจ
3) เน้นนักเรียนเรียนรู้ในโรงเรียน สู่นักเรียนเรียนรู้ ตลอดชีวิต
4) จากเด็กวัยเรียนสู่เด็กทุกวัย เอาใจใส่เด็กในพื้นที่ ชุมชน ทุกวัย พร้อมทั้ง ต้องหนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง เลิกกำหนดสูตรสำเร็จ สู่การกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ และปรับตัวต่อเนื่อง
“เพื่อให้การศึกษาไทย สู่การศึกษาไทยคุณภาพสูง สำคัญที่สุดคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่สามารถช่วยเปลี่ยนการศึกษาไทยให้โรงเรียนที่มีกระบวนทัศน์ มีพฤติกรรมถูกต้อง เด็กได้ประโยชน์ โรงเรียนมีความตั้งใจต่อการเปลี่ยนการศึกษาไทยทั้งหมด โดยมีหลักฐานว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ประกอบด้วย V-A-S-K คือ V – values ค่านิยม A – attitude เจตคติ S – skills ทักษะ, K – knowledge ความรู้
“คุณค่าในการฝึกคนให้เป็นคนดี เป็นเรื่องของประโยชน์ระยะยาวของชีวิต ดังนั้น Stakeholder มีทั้งการร่วมกับชุมชนโดยรอบและต้นสังกัด มีกลไกหนุนเสริม ไม่ใช่ควบคุมสั่งการ วันนี้พยายามยุกลไกเสริมสนับสนุนในฐานะที่ทุกคนเป็นผีเสื้อไม่ใช่ตัวหนอน ทุกคนต้องกำหนดและบอก กสศ.ว่า อยากได้แบบนี้ กสศ.ช่วยได้หรือไม่ โดยชี้ได้ทั้งช่องทางนามธรรมและรูปธรรม ที่สำคัญ เมื่อเป็นสถานการณ์ที่โหดจึงต้องทำไปเรียนรู้ไป โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือใช้ Experiential learning เป็นหัวใจสำคัญ มีสัมมาทิฎฐิทั้งครู โค้ช นักเรียน และทุกคน มีการใคร่ครวญสะท้อนคิด ตั้งเป้า ดำเนินการ เรียนรู้ ปรับปรุง ต่อเนื่องเป็นวงจรไป”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือกระบวนการที่เรากำลังช่วยกัน (Bottom-up Education Systems Transformation) เปลี่ยนระบบการศึกษาจากหนอนเป็นผีเสื้อ ริเริ่มจากส่วนปลายของระบบ คือ โรงเรียน โดย กสศ.หนุนให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงตนเอง มีกระบวนการทำให้เกิดผลสำเร็จ นำคุณภาพของโรงเรียนไปผลักดันการเปลี่ยนเชิงระบบ ดังนั้น Education Systems หัวใจคือการเปลี่ยน Core learning outcome ของนักเรียน เชื่อว่าในสถานการณ์โหดสิ่งดีๆ มีอยู่ เพียงแต่ระบบราชการปกติไม่คำนึงถึง ไม่มีสายตาในการมอง เพราะสายตาไปอยู่ที่คำสั่งหรือเงื่อนไขของตนเอง ไม่ได้ดูที่เด็กซึ่งโรงเรียนอาจจะทำโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ Wicked เป็นการ “โหด (ดี)” หากมองให้เป็น
“จึงขอย้ำว่าความโหดคือสิ่งที่ดี หากพลิกวิธีคิดไปหาด้านบวกของสิ่งที่ยากเพราะมีอยู่แล้วในมนุษย์เรา ดังนั้น ในสายตาของผมเป็นการทำไปเรียนรู้ไป ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สามารถปรับได้โดยการเรียนรู้ของเราเอง เพียงอย่าหลงแค่รู้ทางเทคนิคต้องเรียนรู้หลักการให้ได้ มองให้เป็นระบบวงจร
“อยากเสนอข้อคิดเห็นว่าเรากำลังก้าวสู่การขับเคลื่อนผลลัพธ์การศึกษาของนักเรียนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับ Transform วิถีปฏิบัติในโรงเรียน เปลี่ยนความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติในครอบครัว ชุมชน พื้นที่ หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนทางการเมือง โดยผู้ก่อการ (ดี) สู่ Education Systems Transformation ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะการขับเคลื่อนให้เด็กได้ประโยชน์ ทำให้เป้าหมาย ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ และ V-A-S-K ของนักเรียน และคุณภาพพลเมืองไทยดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา โครงการ TSQP ได้สร้างความสำเร็จให้ประเทศไทย จากผลการประเมินโครงการฯ พบว่าโรงเรียนกว่าครึ่งหนึ่งจาก 636 แห่ง ประสบความสำเร็จในการยกระดับได้สำเร็จ ฉะนั้นหน้าที่ของเราทุกคนจากนี้ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นชัดและเชื่อว่าเด็กได้ประโยชน์จริง ซึ่งเราจะช่วยกันวางพื้นฐานคุณภาพพลเมืองไทยในอนาคต เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ของรุ่นที่ 2 แต่เป็นการทำงานของโครงการ TSQP มาเป็นเวลา 4 ปี ทั้งนี้ TSQP ต้องการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ด้วยการไปกระตุ้นให้โรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบใน 2 ส่วน คือ 1. การพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการโรงเรียน และ 2.การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เพื่อมุ่งสร้าง ผลลัพธ์การเรียนรู้ = Values + Attitude + Skills + Knowledge ให้เกิดกับผู้เรียนทุกคน
“การทำงานตลอดเส้นทางตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะก้าวต่อไปในปี 2566 อาจเป็นทิศทางการพัฒนาที่พิสูจน์แล้วว่า บางเรื่องอาจจะใช่ บางเรื่องอาจจะไม่ใช่ แต่เราก็พยายามศึกษาวิจัยและนำมาออกแบบ จนได้พบมาตรการที่สำคัญ มีการทำงานกับ 11 เครือข่ายร่วมพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ที่แม้ว่าขณะนี้บางเครือข่ายไม่ได้จับมือไปต่อ แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือเป็นแบบอื่นๆ โดยยึดเป้าหมายเดิม คือ การให้เด็กมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี”