ผู้เชี่ยวชาญการศึกษา ‘เคนยา’ แนะ เปิดทางครูมีส่วนร่วมออกแบบและปรับการสอนของตนเอง
โดย : the Education Commission
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษา ‘เคนยา’ แนะ เปิดทางครูมีส่วนร่วมออกแบบและปรับการสอนของตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของคณะกรรมาธิการการศึกษา (The Education Commission) แนะนำให้มีการเปิดทางให้ครูผู้สอนมีส่วนร่วมในการออกแบบ และปรับวิธีการสอนตามแบบฉบับของตนเอง ซึ่งการที่ครูได้มีส่วนร่วมมากขึ้นจะกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ที่ส่งตรงถึงผู้เรียน

เว็บไซต์ของทาง The Education Commission รายงานว่า ทุกห้องเรียนต้องการสิ่งพื้นฐาน 2 – 3 อย่างในการทำงาน นั่นคือ ครู สื่อการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนในการเรียนรู้ นอกเหนือจากนั้น ห้องเรียนทั้งหมดล้วนอยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน และผู้เรียนทุกคนสร้างความรู้และทักษะด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ดังนั้น ครูผู้สอนต้องสามารถปรับบทเรียนให้มีความครอบคลุมและมีส่วนร่วมสำหรับทุกคนในห้องเรียน รวมถึงตัวพวกเขาเองด้วย

คำแนะนำดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ Innovative Pedagogies หรือนวัตกรรมหลักสูตร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Education Commission, มูลนิธิ Aga Khan Foundation, องค์กร Samuel Hall และรัฐบาลเคนยาเพื่อพัฒนาการใช้การสอนแบบมีองค์รวม มีส่วนร่วม และปรับเปลี่ยนได้ หรือ inclusive, engaging, and adaptive (IEA) ในห้องเรียนของเคนยา

ทั้งนี้ หลังจากตระหนักถึงความท้าทายที่ครูต้องเผชิญในการมีส่วนร่วมกับการสอนตามแนวทาง IEA อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำเสนอหลักสูตรที่เน้นความสามารถ หรือ competency – based curriculum (CBC) ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ทาง AFK จึงตระหนักถึงการให้การสนับสนุนนักการศึกษาในเคนยา (และทั่วโลก) เพื่อพัฒนาแนวทางของตนเองในการสอนผ่านการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง หรือ Human – Centered Design (HCD) ผ่านโครงการ  Schools 2030

รายงานอธิบายว่า HCD เป็นแนวทางการคิดเชิงออกแบบที่ทำให้ผู้คนเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม การใช้หลักการนี้ Schools 2030 สนับสนุนครูและนักเรียนในการออกแบบและใช้นวัตกรรมในชั้นเรียนที่มีต้นทุนต่ำและปรับขนาดได้ เพื่อปรับปรุงผลการเรียนรู้แบบองค์รวมและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

“เป็นเวลานานแล้วที่เรามองหาทางออกจากภายนอก (แต่)… ฉันค้นพบว่าทางออกนั้นอยู่ภายใน เราได้คำตอบจากคนที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดและจากสิ่งของรอบตัวเรา” Said Baya Kombo กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น Said ระบุว่า ในฐานะครูวีชาชีพมา 17 ปี ตนเองได้เห็นภูมิทัศน์ของการศึกษาที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งการมาของแนวทาง CBC ล่าสุด ทำให้ตนเองได้มีการสำรวจปัญหาและการใช้ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของตนออกแบบนวัตกรรมเพื่อให้การสอนตรงประเด็นมากขึ้น สอดรับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น โดยหลังจากนำเอาความคิดเกี่ยวกับแนวทางการสอนที่ตัวเองออกแบบมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน Said ยอมรับว่า การเรียนรู้ในชั้นเรียนของตนเป็นเรื่องที่สนุกมากขึ้น

ทั้งนี้ Said ได้นำแนวทางการเรียนรู้ของ TECOP  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการทำงานร่วมกันที่รวบรวมผู้ปกครอง ครู และผู้เรียน มาใช้ในโรงเรียนของเขา เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างทักษะการอ่านและความเข้าใจผ่านเทคโนโลยี โดยอาศัยแท็บเล็ตที่ทางกระทรวงศึกษาธิการแจกจ่ายภายใต้โครงการ DigiSchools ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงผู้อ่านตามสถานที่โดยใช้การกระทำที่สำคัญ 3 ประการในการพัฒนาทักษะการอ่าน นั่นคือ การได้ยิน การเห็น และการลงมือทำ

Said คาดหวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การเปิดทางให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเรียนรู้ของบุตรหลาน อีกทั้งตัวผู้เรียนยังตระหนักถึงผลการเรียนรู้แบบองค์รวมทั้งเชิงวิชาการและที่ไม่ใช่เชิงวิชาการ

ขณะเดียวกัน โอกาสในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและมีส่วนร่วมกับความคิดสร้างสรรค์นี้ทำให้ Tabitha Wangoi ซึ่งเป็นครูสอนชีววิทยาและเคมีจากมอมบาซาสามารถคิดนอกเหนือไปจากงบประมาณโรงเรียนที่มีอยู่อย่างจำกัด

“ด้วยการคิดเชิงออกแบบ ฉันมองเห็นวิธีแก้ปัญหาที่อยู่ภายในจริง ๆ อันที่จริง คุณไม่จำเป็นต้องคิดว่าวิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องใหญ่โต ปัญหาใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำสิ่งเล็ก ๆ” Tabitha กล่าว

สำหรับ Tabitha เจ้าตัวได้แนะนำชั่วโมงคณิตศาสตร์ทุกสัปดาห์เพื่อให้นักเรียนได้อภิปรายหัวข้อที่ได้รับมอบหมายในกลุ่ม ซึ่งเซสชั่นที่เธอเรียกว่า “การค้นหาความสนุกในตัวเลข” นักเรียนนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้และงานนำเสนอของพวกเขาจะถูกบันทึกโดยใช้แท็บเล็ตไปยัง Google Classroom เพื่อให้สามารถอ้างอิงได้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของ Tabitha สิ่งที่มีค่าที่สุดของการคิดเชิงออกแบบคือการได้มาร่วมกับครูคนอื่น ๆ  ในการคิดค้นและสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพื่อนครูด้วยกัน โดยเจ้าตัวมองว่าเมื่อได้พูดคุยกับครูคนอื่นจากโรงเรียนอื่น คุณจะรู้ว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน ซึ่งทำให้คุณมีความคิดเกี่ยวกับแนวทางที่คุณสามารถทำได้เพื่อเอาชนะความท้าทายในโรงเรียนของคุณ และทำให้เกิดความร่วมมือและการทำงานเป็นทีมมากมาย โดยในกรณีของ Tabitha กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าร่วมมา เจ้าตัวและเพื่อน ๆ ร่วมงานได้มีโอกาสสนับสนุนความคิด และแนวทางการสอนของกันและกันมากขึ้น เพื่อปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน

ที่มา : Enabling teachers to design and adapt their own learning solutions