กทม. ร่วมมือ กสศ. ติดตามสถานะการศึกษาเด็กทุนเสมอภาค เตรียมหารือเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน-ยากจนพิเศษ
สอดคล้องค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อเป็นสังกัดแรก

กทม. ร่วมมือ กสศ. ติดตามสถานะการศึกษาเด็กทุนเสมอภาค เตรียมหารือเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน-ยากจนพิเศษ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) สังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูในสังกัดเข้าร่วม หลังจากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 กรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่เชิงรุกค้นหานักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (PMT: Proxy Mean Test) เพื่อส่งข้อมูลให้ กสศ. จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค สำหรับนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองเป็นครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การศึกษาควรเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ประเทศไทยยังมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจากภาระค่าใช้จ่าย ทำให้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กสศ. เพื่อดำเนินการพัฒนาหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พิการ และด้อยโอกาส รวมถึงการพัฒนาคุณภาพครู สถานศึกษา

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบาย 9 ดี ด้านมิติการเรียนรู้ที่ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครให้สำคัญ โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีคุณครูในสังกัดลงพื้นที่บันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในทุกชุมชน โดยได้ส่งข้อมูลนักเรียน 6,159 คน ให้ กสศ. คัดกรองเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ยากจนพิเศษระดับอนุบาลคนละ 4,000 บาท/ปี  และระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นคนละ 3,000 บาท/ปี ต่อเนื่อง 3 ปี

“เมื่อคำนวณจากอัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน เงินอุดหนุน 3,000-4,000 บาท ถือว่าไม่มาก แต่การลงพื้นที่สำรวจทำให้ได้ตัวเลขเด็ก 6,159 คน ในมุมหนึ่งคือเราได้รู้ว่ามีกลุ่มเปราะบางในความดูแลเท่าไร ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงาน หลังจากนี้เราจะสามารถช่วยกันหนุนเสริมสิ่งจำเป็นตามความขาดแคลนของเด็กรายคนหรือรายกลุ่มได้อย่างตรงจุด ถึงแม้ว่าโรงเรียนในสังกัด กทม. จะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเทอม ค่าเครื่องแบบ รวมถึงสนับสนุนอาหารกลางวันโดยรัฐบาล และอาหารเช้าโดย กทม. เป็นผู้จัดสรร อย่างไรก็ตามพบว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ครอบคลุม ด้วยมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ของผู้ปกครองที่ฉุดรั้งเด็กไปจากการศึกษา”

นายศานนท์ กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายในการบริหารกรุงเทพมหานคร คือการสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน แต่ปัจจุบันยังมีผู้คนที่ถูกบดบังด้วยกำแพงความเหลื่อมล้ำ ในส่วนงานด้านการศึกษาได้จัดสวัสดิการให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นเพื่อลดกำแพงความเหลื่อมล้ำ เช่น เพิ่มงบประมาณอาหารโรงเรียนจาก 20 บาท เป็น 32 บาท โดยจัดสรรให้ทุกโรงเรียนมีอาหารเช้าและอาหารกลางวันคุณภาพครบมื้อ เพิ่มค่าอุปกรณ์การเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจาก 100 บาท เป็น 600 บาท มีชุดนักเรียนฟรี ผ้าอนามัยฟรี พร้อมลดการใส่เครื่องแบบเพื่อให้เด็กนักเรียนมีทางเลือกในการแต่งกายมากขึ้น

“สุดท้ายแล้วเราต้องทำให้โรงเรียนเป็นที่พึ่งของทุกคน ฟรีจริงไม่ว่าจะเป็นเด็กจากครอบครัวใดก็ตาม กทม. ต้องดูแลได้ ต้องขอบคุณ กสศ. ที่นำเครื่องมือมาสนับสนุน กทม. เพื่อค้นหาเด็กเยาวชนทุกคนอย่างทั่วถึง ทั้งกลุ่มที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงแนวทางในการช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้วว่าจะทำให้เข้าถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน จากนี้เราจะมีการสำรวจเพิ่มเติมซึ่งต้องพึ่งพาครูทุกท่านที่รู้และเข้าใจที่สุดว่าเด็กนักเรียนของท่านเป็นอย่างไร ขอส่งกำลังใจและขอบคุณไปยังทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาทุกแห่งและครูผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำให้เราสามารถสร้างกลไกในการขับเคลื่อนงานร่วมกันได้สำเร็จ”     

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า คำว่าเรียนฟรีในระบบการศึกษาไทยเป็นนโยบายจากฝ่ายผู้ให้บริการ แต่เมื่อย้อนดูกลุ่มเป้าหมายคือเด็กนักเรียน หลายคนเกิดมาในพื้นที่หรือครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม เรียนฟรีในฝั่งผู้รับบริการจึงเป็นโจทย์การทำงานของ กสศ. เพื่อทำให้นักเรียนได้รับการดูแลครอบคลุมปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อการคงอยู่ในระบบการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“ประเทศไทยมีเด็กราว 15-20% อยู่ในครัวเรือนใต้เส้นความยากจน ในจำนวนนี้หลายพันคนอาศัยอยู่ใน กทม. เราต้องทำให้เขาเดินทางไปโรงเรียนและอาศัยอยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัย มีอาหารครบมื้อ มีสวัสดิการรองรับ อุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ซึ่งทุนเสมอภาค 3,000-4000 บาทต่อปี เด็กจะได้รับต่อเนื่องตั้งแต่อนุบาลถึง ม.ต้น ถือเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลน้อง ๆ กลุ่มนี้”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในแบบคัดกรองนักเรียนของ กสศ. ที่สำรวจผ่านโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร มีการแสดงรายละเอียดภาระพึ่งพิง ลักษณะที่อยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัย แหล่งไฟฟ้า น้ำดื่ม ยานพาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ทำให้สามารถจำแนกนักเรียนได้เป็นสามกลุ่ม คือนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ และใกล้เส้นความยากจน ผลคัดกรองภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีการบันทึกข้อมูลของโรงเรียน 342 แห่ง จากทั้งหมด 437 แห่ง ส่งข้อมูลนักเรียนเข้าคัดกรอง 6,159 คน พบว่าผ่านเกณฑ์คัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษ 1,165 คน และนักเรียนยากจน 1,238 คน ในเบื้องต้น กสศ. จะจัดสรรงบประมาณลงไปยังกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษเป็นลำดับแรก ส่วนกลุ่มนักเรียนยากจนและใกล้เส้นความยากจน จะมีการหารือร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อหาแนวทางในการดูแลต่อไป

“ข้อมูลระบุว่า 90% ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ มีวุฒิการศึกษาสูงสุดประถมศึกษาหรือต่ำกว่า กสศ. มีข้อมูลว่าถ้าผู้ปกครองมีโอกาสได้เรียนเพียงชั้นประถม มากกว่า 50% ของรุ่นลูกก็จะได้เรียนเพียงชั้นประถม มีเพียง 34% ที่จบ ม.ต้น และ 16% เท่านั้นที่จบมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นถ้าในรุ่นลูกมีโอกาสเรียนสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ได้เรียนต่อ ม.ปลาย อาชีวศึกษา จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย เด็กเยาวชนเหล่านี้จะมีโอกาสทำรายได้สูงกว่ารุ่นพ่อแม่ และมีโอกาสก้าวพ้นความยากจนได้สำเร็จในรุ่นของเขา”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลจากการสำรวจของคุณครู นอกจากจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดสรรทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ ขณะนี้ กสศ. ได้นำข้อมูลมาจัดทำข้อเสนอนโยบายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการพิจารณาเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางการศึกษา สอดคล้องค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อในปีการศึกษาถัดไป หากทำได้กรุงเทพมหาครจะเป็นสังกัดแรกที่จัดสรรเงินอุดหนุนได้ทั่วถึงเด็กทุกกลุ่ม และสอดคล้องค่าใช้จ่าย

“สำหรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 กสศ. จะเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนกับทาง กยศ. ในการส่งต่อความช่วยเหลือในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และกระทรวงการคลังจะบันทึกรายชื่อเด็กยากจนและยากจนพิเศษในฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการของรัฐ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับสวัสดิการเพิ่มเติม นี่คือผลที่ได้จากข้อมูลของคุณครูทุกท่านที่ได้ลงแรงเยี่ยมบ้านและเก็บบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด สุดท้าย กสศ. จะร่วมกับ ทปอ. และกระทรวง อว. ในการหาแนวทางดูแลเด็ก ๆ ในระดับอุดมศึกษาไม่ให้มีใครหลุดไปกลางทาง”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เผยข้อมูลที่ กสศ. วิเคราะห์ให้เห็นว่าการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น โดยเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถม จะมีรายได้ตลอดชีวิตการทำงานเฉลี่ยเดือนละ 9,136 บาท หากมีวุฒิ ม.ต้น รายได้จะขยับไปที่เดือนละ 10,766 บาท ถ้าพ้นการศึกษาภาคบังคับได้วุฒิ ม.ปลายหรือเทียบเท่า ค่าเฉลี่ยรายได้จะอยู่ที่เดือนละ 13,118 บาท ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี ซึ่งประชากรควรมีรายได้เฉลี่ย 38,000 บาท/คน/เดือน แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้ประชากรอยู่ที่ 20,920 บาท/คน/เดือน สะท้อนว่ายังมีช่องว่างรายได้อยู่เกือบ 2 เท่า ดังนั้นการลดจำนวนเด็กออกจากระบบการศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ค่าเฉลี่ยรายได้ประชากรไทยจะค่อย ๆ สูงขึ้นได้ภายใน 5-10 ปี 

“ปัจจุบันสถิติด้านการศึกษาของแรงงานในประเทศไทย 38 ล้านคน มีค่าเฉลี่ยการศึกษาอยู่ที่ 7 ปี เทียบเท่ากับ ม.1 จากข้อมูลที่มีเราสามารถวางเป้าหมายร่วมกันได้ว่า ถ้าโรงเรียนสังกัด กทม. เก็บข้อมูลเด็กที่เรียนจบได้ว่าพวกเขาไปต่อในการศึกษาสูงสุดที่ระดับใด เราจะมีข้อมูลส่วนหนึ่งในการนำมาพัฒนาประเทศและช่วยกันทำให้การศึกษาที่เสมอภาคเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ นี่คือสิ่งที่ กสศ. กับ กทม. พยายามทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้ง และจะระดมภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อเติมเต็มให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น และในอนาคต กทม. จะเป็นต้นแบบของการทำงานด้านการศึกษาให้กับจังหวัดอื่น ๆ เมืองอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศต่อไป”

ทั้งนี้ สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ได้ชี้แจงปฏิทินและขั้นตอนการดำเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) สังกัดกรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ว่าระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2565 – 11 มกราคม 2566 เป็นช่วงที่เปิดให้สถานศึกษาตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครองให้ถูกต้อง วันที่ 16-27 มกราคม 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาในแต่ละสถานศึกษา เพื่อตรวจสอบและรับรองผลการพิจารณารับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขรวมถึงการบันทึกแบบฟอร์ม กสศ.05. ในระบบคัดกรอง

โดย กสศ. คาดว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนฯ ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการสถานศึกษาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะเปิดระบบให้คุณครูบันทึกเงื่อนไขการรับทุน 2 เงื่อนไข คือ ข้อมูลการมาเรียนและ น้ำหนัก-ส่วนสูง ได้จนถึงปลายเดือนเมษายน ซึ่งคุณครูและสถานศึกษาสามารถดาวน์โหลดปฏิทินการดำเนินงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้ในเมนูแหล่งรวบรวมข้อมูล https://cct.eef.or.th