สหรัฐฯ เผย 3 ประเด็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูสถานการณ์การศึกษา
โดย : VOA News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สหรัฐฯ เผย 3 ประเด็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูสถานการณ์การศึกษา

กว่า 3 ปีของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะคลี่่คลายจนเรียกได้ว่ากลับคืนสู่ภาวะที่ใกล้เคียงปกติ และหลายพื้นที่ก็กลับมาดำเนินชีวิตประจำวันต่อไป แต่ปัญหาภายในห้องเรียนที่เกิดขึ้น ถือเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวด้านสถานการณ์การศึกษาในสหรัฐฯ ยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกล โดยมี 3 ประเด็นหลักๆ ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ปัญหาการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ปัญหาทักษะการเรียนพื้นฐาน และปัญหาด้านสุขภาพจิต

สถานีโทรทัศน์ข่าว VOA ของสหรัฐฯ รายงานว่า การเรียนทางไกลเกือบสองปีเต็ม ทำให้นักเรียนหลายคนตกอยู่ในภาวะล้าหลังด้านวิชาการ โดยเมื่อโรงเรียนย้ายมาเรียนผ่านระบบออนไลน์ นักเรียนบางคนไม่ได้เข้าชั้นเรียน ขณะที่นักเรียนอีกส่วนหนึ่งประสบปัญหาทางพฤติกรรม และภาวะทางอารมณ์และทางสังคม แม้ว่าจะมีปัญหามากมายก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว แต่ไวรัสโควิดกลับทำให้สถานการณ์แย่ลง และขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้ำซ้อนทั้งด้านการเรียนรู้และสุขภาพจิต

ภาวะสูญเสียการเรียนรู้จากวิกฤตโควิดระบาด
Pandemic learning loss

รายงานระบุว่า สถานการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษาแย่ลงอย่างมากเมื่อโรงเรียนต้องถูกปิด โดยสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (IEA) และยูเนสโก พบว่า วิธีการสอนและการเรียนรู้ของแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างมากทั่วโลก และได้ดำเนินการวิจัยวิธีการสอนและการเรียนรู้ที่ใช้ใน 11 ประเทศครอบคลุม 5 ทวีป จนพบว่าขณะที่บางประเทศสามารถย้ายไปเรียนออนไลน์ได้อย่างราบรื่นและเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านบวกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างเต็มที่ บางประเทศกลับไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้  

ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคยุโรปอย่างเดนมาร์กและสโลวีเนีย นักเรียนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์สามารถใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปสำหรับการบ้านได้ แต่ในประเทศแอฟริกาอย่างบูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย และเคนยา มีนักเรียนน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีแล็ปท็อป และโดยรวมแล้ว ราว 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน  กล่าวว่าพวกเขาไม่มีทรัพยากรในการทำการบ้านให้เสร็จ อย่างน้อยก็เกือบตลอดเวลา

สำหรับในสหรัฐอเมริกา หลายรัฐเห็นจำนวนนักเรียนที่ต้องเรียนซ้ำชั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการซ้ำชั้นสามารถทำร้ายชีวิตทางสังคมและอนาคตทางการศึกษาของเด็กได้ แต่ผู้ปกครองจำนวนมากได้ขอให้บุตรหลานของตนทำเกรดซ้ำเพื่อช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวจากความยากลำบากในการเรียนออนไลน์ การกักตัว และการขาดแคลนบุคลากรในโรงเรียน

สำนักข่าว Associated Press ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลจาก 26 รัฐรวมถึง เขตการศึกษาโคลัมเบีย (District of Columbia) ในปีการศึกษาล่าสุด พบว่า 22 รัฐรวมถึงดี.ซี. มีจำนวนนักเรียนที่ถูกกักขังหรือกักตัวเพิ่มขึ้นหนึ่งปี

ทักษะการเรียนรู้พื้นฐาน 
Foundational learning

ฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้นานาประเทศพัฒนาทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน โดย UNICEF พบว่าเด็ก 2 ใน 3 คนทั่วโลกไม่สามารถอ่านและเข้าใจเรื่องราวง่ายๆ ได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่ เด็ก 3 ใน 4 ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ยังไม่มีทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์

ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศยากจน ตัวเลขยิ่งแย่ลงไปอีก เด็กเพียง 1 ใน 10 คนในทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาตอนใต้มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานภายในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

Catherine Russell ผู้อำนวยการ UNICEF กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือวิกฤตการเรียนรู้ระดับโลก ที่เด็กหลายล้านคนยังคงไม่ได้เรียนหนังสือ และเด็กอีกหลายล้านคนอยู่ในโรงเรียน แต่ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ที่พบว่าเป็นวิชาที่นักเรียนประสบปัญหาในการเรียนรู้มากที่สุด 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประเมินความก้าวหน้าทางการศึกษาแห่งชาติ (NAEP) ซึ่งเป็นแบบทดสอบคณิตศาสตร์และการอ่านที่มอบให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ มัธยมศึกษาปีที่ 2 (เทียบเท่าเกรด 8) ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วสหรัฐอเมริกา พบว่าผลจากปีนี้แสดงให้เห็นว่าคะแนนของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ลดลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 1990 ที่เริ่่มดำเนินการทดสอบเป็นครั้งแรก 

โดยทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ รายงานว่า พบคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย อีกทั้งนักเรียนมากกว่า 1 ใน  3 ทำคะแนนได้ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน และการลดลงนั้นรุนแรงกว่าในวิชาคณิตศาสตร์มากกว่าการอ่าน

ปัญหาสุขภาพจิต 
Mental health

การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้ความสนใจต่อสุขภาพจิตของนักเรียนและครูมีมากขึ้น โดยในการศึกษาของ IEA/UNESCO นักเรียนส่วนใหญ่ใน 8 ประเทศที่ถูกตั้งคำถามกล่าวว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางอารมณ์ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ บรรดาคุณครูกล่าวว่า แม้แต่ครูเองก็ยังรู้สึกถึงผลกระทบทางอารมณ์จากวิกฤตโควิด-19 ระบาดด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย 85 เปอร์เซ็นต์ของครูกล่าวว่าพวกเขาต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ส่วนในรัสเซีย 64  เปอร์เซ็นต์ของครูรายงานว่ารู้สึกเหนื่อย ขณะที่ชครูส่วนใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกรู้สึกเครียดและกลัวที่จะติดเชื้อโควิดขณะปฎิบัติหน้านที่ของตนเอง

ขณะนี้ หลายประเทศกำลังเงี่ยหูรอฟังว่าครูและนักเรียนต้องการอะไร โดยในประเทศส่วนใหญ่ที่ทางUN และพันธมิตรได้ทำการศึกษาร่วมกันพบว่า  50 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนในสหรัฐฯ ได้เพิ่มการสนับสนุนสำหรับนักเรียนและครูในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ขณะที่ผู้นำโรงเรียนหลายแห่งรายงานว่ามีการใช้ที่ปรึกษาแนะแนวในโรงเรียนและแหล่งข้อมูลสุขภาพจิตอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดโควิด อีกทั้งเหล่าคุณครูยังให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่นักเรียนเกี่ยวกับสุขภาพทางอารมณ์และร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกา ระบบโรงเรียนส่วนใหญ่กำลังขาดแคลนนักจิตวิทยาในโรงเรียน

ด้านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Chalkbeat พบว่า ในบรรดา 18 ระบบโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มี 12 แห่งที่เริ่มต้นปีการศึกษาในฤดูใบไม้ร่วงนี้โดยมีที่ปรึกษาหรือนักจิตวิทยาน้อยกว่าที่มีในฤดูใบไม้ร่วงปี 2019

ดังนั้น จึงเป็นผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนจำนวนมากต้องทำงานกับผู้ป่วยจำนวนมากที่เกินขีดจำกัดที่แนะนำ ผู้เชี่ยวชาญกล่าว นักเรียนหลายคนต้องรอความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน

ยิ่งไปกว่านั้น มีสัญญาณว่านักเรียนเริ่มชดเชยเวลาที่เสียไปในห้องเรียนมากขึ้น โดย Northwest Evaluation Association (NWEA) พบว่านักเรียนอเมริกันมีพัฒนาการด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ระหว่างปีการศึกษา 2021-2022 ที่อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างล่าช้าลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่า นักเรียนที่สอบตกและมีฐานะทางบ้านไม่สู้ดีจะต้องได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ 

Dirk Hastedt เป็นผู้อำนวยการบริหารของ IEA ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาแนวทางการเรียนการสอนใน 11 ประเทศกล่าวว่า ในทุกประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับนักเรียนที่ยากจนที่สุดและมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากนักเรียนที่ยากจนกว่าและนักเรียนที่ดิ้นรนอยู่แล้วคือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดระหว่างโรงเรียนหยุดเรียน หลายคนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลได้

ครอบครัวของนักเรียนหลายคนประสบปัญหาทางการเงินจากโรคระบาด ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนของพวกเขา บางคนต้องใช้เวลาดูแลคนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น ในเคนยา  63เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน กล่าวว่าพ่อแม่คนใดคนหนึ่งตกงานระหว่างเกิดโควิด-19 ระบาด 

Hastedt กล่าวว่าผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องหาทางเข้าถึงนักเรียนที่เจ็บปวดที่สุด

พร้อมกันนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังออกโรงเตือนว่า การฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะอยู่ได้นานกว่าการสนับสนุนทางการเงินที่มีอยู่หลายปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้เดินหน้าทยอย มอบเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยให้ระบบโรงเรียนฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่นี้ แต่อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้ก็จำเป็นต้องนำมาใช้ภายในปี 2024 ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องร่วมมือกับเอกชนในการจัดการปัญหาด้านเงินทุนดังกล่าว Hastedt ปิดท้ายว่า “งานสำหรับอนาคต… คือเราจะทำให้นักเรียนเหล่านี้กลับมามีความเร็วอีกครั้งได้อย่างไร เพื่อที่เราจะไม่สูญเสียพวกเขาไปโดยสิ้นเชิง และพวกเขาจะตามไม่ทันยิ่งกว่าเดิม”

ที่มา : In Third Year of Pandemic, Schools Faced Double Crisis