ภาวะปริแยกแตกร้าวในช่วงปฐมวัยจะส่งผลตลอดชีวิต กสศ. สนับสนุนเครื่องมือฟื้นฟูเด็กกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ภาวะปริแยกแตกร้าวในช่วงปฐมวัยจะส่งผลตลอดชีวิต กสศ. สนับสนุนเครื่องมือฟื้นฟูเด็กกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรุงเทพมหานคร เสนอนโยบายและแถลงผลการศึกษาโครงการ ‘การเฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กในภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของโควิด-19 ในกรุงเทพฯ’

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่พยายามดูแลเด็กให้ทั่วถึง แต่ยังมีเด็กอีกมากตกอยู่ในภาวะยากจน ต้องอยู่ในครอบครัวแตกแยก และได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เด็กเหล่านี้เรียกว่า เด็กที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ หรืออยู่ในภาวะ ‘ปริแยกแตกร้าว’

“ภาวะปริแยกแตกร้าวในเด็กปฐมวัยหรือช่วง 8 ปีแรกของชีวิต ส่งผลต่อการเรียนรู้ พฤติกรรมของเด็กๆ ตลอดชีวิต และส่งผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชุมชน ประเทศ และโลก

“เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมก่อความรุนแรง มีภาวะซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น รวมถึงเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เมื่อถึงวัยกลางคน ก็กลายเป็นบุคคลไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน เรายังพบว่า เด็กกลุ่มนี้มักเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ ทำให้เราสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าไป”

ระบบเฝ้าระวังและค้นหาเด็ก ACE (Adverse Childhood Experiences) หรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เลวร้าย จึงถูกพัฒนาขึ้นจากการศึกษาวิจัยในระดับชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กในทุกภาคส่วน

ระบบเฝ้าระวังและค้นหาดังกล่าวประกอบด้วย 4 แบบสอบถาม คือ แบบประเมินประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัย แบบประเมินความยากจนขาดแคลน แบบประเมินระดับการเลี้ยงดูเด็ก และแบบประเมินผลกระทบในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิด-19 โดยผู้ใช้งานแบบสอบถามเหล่านี้ ได้แก่ ทีมครูในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และผู้นำชุมชน กว่า 70 ทีม

กสศ. และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนการดำเนินการครั้งนี้ด้วยการพัฒนาเครื่องมือและฐานข้อมูล จัดฝึกอบรม และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในชุมชนให้มีความสามารถในการคัดกรองเด็กในภาวะปริแยกแตกร้าว รวมทั้งพัฒนาทักษะการทำงานในภาวะฉุกเฉินร่วมกับครอบครัว และทักษะการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุว่า ตลอด 2 ปี มีการจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับครอบครัวและเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ยากจน รวมถึงฟื้นฟูเด็กจากภาวะปริแยกแตกร้าว จำนวน 11 หลักสูตร และมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คนต่อเดือน 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
และหัวหน้าโครงการฯ

ผลการสำรวจและติดตามเด็กในชุมชนแออัด 1,392 ราย พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เด็กร้อยละ 54 อยู่ในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่อง เด็กร้อยละ 28 ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เด็กร้อยละ 56 ขาดการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง และเด็กถึงร้อยละ 90 ขาดการศึกษาต่อเนื่อง

และหากคัดกรองเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตกรุงเทพฯ โดยใช้ภาวะยากลำบากเป็นเกณฑ์ จะพบว่ามีเด็กที่ควรได้รับการติดตามช่วยเหลือ 5,325 คน จากทั้งหมดกว่า 22,000 คน 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ เสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูเด็กภาวะปริแยกแตกร้าวเหล่านี้ กล่าวคือ อสม. อสส. อพม. และชุมชน จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกัน และคุ้มครอง เด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรก ครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะมีบทบาทในเด็กอายุ 2-4 ปี ครูอนุบาลดูแลเด็กอายุ 4-6 ปี และครูประถมศึกษาดูแลเด็ก 6-8 ปี

“ระบบนี้จะทำให้เด็กได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 8 ปีแรก และทำให้ทั้งเด็กที่อยู่ในครอบครัวสมบูรณ์และเด็กที่อยู่ในภาวะยากจนหรืออยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ได้รับการพัฒนาและการดูแลอย่างทั่วถึง

“ทุกชุมชนควรมีการรวมตัวกันของบุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องควรได้รับการช่วยเหลือในทุกภัยพิบัติ เด็กๆ เหล่านี้ควรได้รับการประเมินพัฒนาการการเรียนรู้ ภาวะสุขภาพ ภาวะโภชนาการ และภาวะความปลอดภัย

“การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 8 ปี จะคุ้มครองให้เด็กเหล่านี้เติบโตและพัฒนาอย่างเสมอภาค เช่นเดียวกับเด็กในครอบครัวที่มีความสมบูรณ์ และจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศต่อไปในอนาคต” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวปิดท้าย