รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์แจง 5 เสาหลักปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขับเน้นให้ประชาชนชาวสิงคโปร์มีทักษะและศักยภาพเพียงพอที่จะยืดหยัดในระบบการศึกษาได้อย่างเข้มแข็ง สิงคโปร์จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตและปิดช่องว่างการเรียนรู้ในช่วงต้นของชีวิต เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์ยังยึดโยงอยู่กับกระแสโลก และพัฒนาต่อไปท่ามกลางสังคมโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความท้าทายที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
“การยกเครื่องพัฒนาระบบการศึกษาของสิงคโปร์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำให้เห็นความชัดเจน” ชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์กล่าว
ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีเสวนาเวทีแรกใน “สิงคโปร์ เปอร์สเปคทีฟ 2023” (Singapore Perspectives 2023) การประชุมที่จัดโดยสถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Policy Studies) ภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับการทำงานในโลกยุคใหม่ และประเด็นที่รัฐมนตรีศึกษาธิการเน้นย้ำ คือการดูแลตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลของนักเรียน และทบทวนแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา
ทั้งนี้ เสาหลัก 5 ประการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ประกอบด้วย
1) ปรับแต่งการเรียนรู้และปิดช่องว่างการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัย
(Customising learning and closing the learning gap early in life)
ชานอธิบายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนมากขึ้นในช่วงปีแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสจากครอบครัวรายได้น้อย ที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการช่วยเหลือไปจำนวนมากในตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา
เนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่า ไม่ควรปล่อยให้เกิดช่องว่างการเรียนรู้และการพัฒนาตั้งแต่อายุยังน้อย การยกระดับคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยจึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อเกิดช่องว่างในการพัฒนา จำนวนเงินที่ต้องการแก้ไขจะสูงเกินควร ทำให้ยากต่อการแก้ไขในท้ายที่สุด
“เราจะต้องตรวจสอบวิธีการในการเข้าถึงเด็กและครอบครัวเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง รวมถึงจัดโครงสร้างการสนับสนุนสำหรับพวกเขาแบบองค์รวม รวมทั้งในด้านการศึกษาและสังคมร่วมกันเพื่อไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้งตั้งแต่เริ่มต้น” ชานกล่าว พร้อมต้อนรับผู้คนและองค์กรเอกชนที่หลากหลาย เพื่อนำร่องโมเดลใหม่ในการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียน
ยิ่งไปกว่านั้น ชานยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยระบุว่า ระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์เชิงลึกต้องปรับแต่งแนวทางการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคนได้ดียิ่งขึ้น บรรดานักเรียนของสิงคโปร์จะต้องมีเส้นทางที่หลากหลายและมีตัวเลือกวิชาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในระดับวิชาและการปรับแต่งหลักสูตรปริญญา
ชานย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ การรับเข้าเรียนตามความถนัดที่คำนึงถึงศักยภาพและความสนใจของนักเรียน จะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบการคัดเลือกและการจัดตำแหน่งของสิงคโปร์
2) จาก 15 ปีแรกสู่ 50 ปีแห่งอนาคต
(Moving beyond the first 15 years to the next 50 years)
ชานอธิบายว่า ปัจเจกต้องมองหาเกณฑ์มาตรฐานใหม่เพื่อเป็นตัววัดความสำเร็จ เช่น การมีจิตวิญญาณของการแสวงหาความรู้และความปรารถนาที่จะสร้างความรู้และคุณค่าใหม่ ๆ
ดังนั้น บรรดาบริษัททั้งหลายจึงไม่สามารถและไม่ควรเอาแต่นั่งรอ “แรงงานสมบูรณ์แบบ” ที่พัฒนาแล้ว แต่ต้องลุกขึ้นมาเป็นพันธมิตรที่แข็งขันร่วมกันในการกำหนดความสนใจและชุดทักษะของนักเรียนตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งยังต้องทำงานร่วมกันกับสถาบันการศึกษาเพื่อฝึกอบรมพนักงานในภายหลัง แม้ว่าพนักงานเหล่านี้จะเข้าร่วมทีมกับบริษัทแล้วก็ตาม
“ผมเข้าใจความยากลำบากในการฝึกอบรมพนักงานเนื่องจากความไม่แน่นอนและการหยุดชะงักในอุตสาหกรรมของเรา แต่ยิ่งเราทำสิ่งนี้ได้ไม่ดีและไม่อาจทำงานร่วมกันเป็นระบบ เราจะยิ่งลงเอยด้วยการแย่งชิงกันในวังวนแรงงาน” ชานระบุ
นอกจากนี้ ชานยังกล่าวว่า สถาบันการศึกษาทั้งหลายยังต้องออกแบบวิธีการสอนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นท่ามกลางภาระรับผิดชอบที่มีความแข่งขันสูงมากขึ้น
3) ส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
(Getting academia and industry to work more closely together)
ชานกล่าวว่า การสร้างคุณค่าใหม่ท่ามกลางจุดบรรจบของกฎระเบียบตามธรรมเนียมปฏิบัติ ไปจนถึงการแปลผลงานวิจัยเพื่อองค์กรที่ดีขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกระดับ
แนวทางดังกล่าวเป็นงานหนักที่จำเป็นสำหรับสถาบันและคณาจารย์ของสิงคโปร์ ที่ต้องใช้ชุดทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นนอกเหนือไปจากระเบียบวินัยและพื้นที่คุ้นชินของบรรดาสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
“เมื่อภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาร่วมกันออกแบบ ร่วมพัฒนา ร่วมส่งมอบหลักสูตรก่อนการจ้างงาน และส่งการศึกษาต่อเนื่องให้ทั้งนักเรียนและผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ เราจะฟื้นฟูทักษะของบุคลากรของเราได้เร็วขึ้นมาก” ชานกล่าว
นอกจากนี้ ชานยังเสริมว่า การเรียนและทำงานไปด้วยในระดับปริญญาและอนุปริญญาจะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการขยายการมีส่วนร่วมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อฝึกทักษะร่วมกัน
4) สังคมทั้งผองต้องร่วมมือกัน
(Getting whole of society involved)
ชานย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ไม่เคยเชื่อว่า พวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแม้แต่พัฒนาคนรุ่นต่อไปได้เพียงลำพังหากต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งที่หลากหลายอย่างแท้จริงและขยายขอบเขตของความสำเร็จ แต่กระทรวงฯ ต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง พันธมิตรในชุมชน และภาคอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กันด้วย
“เราต้องทำงานร่วมกันกับอุตสาหกรรมของเราเพื่อปิดช่องว่างด้านทักษะและให้ค่าตอบแทนตามผลงานที่มากกว่าแค่การรับรอง หากเราไม่ร่วมกันลดช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาและผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษา ผู้ได้รับอนุปริญญาและผู้ไม่ได้รับอนุปริญญาไม่ว่าจะร่ายยาวถึงแนวทางที่หลากหลายมากมายเพียงใดก็คงจะไม่ได้ผล” ชานอธิบาย
5) ลงทุนในภราดรภาพของการสอน
(Investing in teaching fraternity)
ชานกล่าวว่า บรรดานักการศึกษาทั้งหลาย (ครู อาจารย์ ผู้ช่วยสอน) จำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสอนและชุดข้อมูลความรู้ใหม่ให้ทันโลกอยู่เสมอ เพราะนอกเหนือจากการถ่ายทอดความรู้แล้ว นักการศึกษาเหล่านี้ยังช่วยให้เด็กเกิดการค้นพบและเรียนรู้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากวิชาการแล้ว นักการศึกษายังให้การสนับสนุนทางอารมณ์แก่เด็ก ๆ และครอบครัวรายได้น้อยที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับสูง
“พวกเขาต้องเข้าถึงและเลี้ยงดูนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษด้านการศึกษา และนอกเหนือจากการทดลองและทดสอบการเรียนการสอนให้เกิดความเชี่ยวชาญแล้ว พวกเขายังต้องสำรวจและพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในวัยผู้ใหญ่ เพื่อส่งมอบการเรียนรู้แบบผสมผสานอีกด้วย” ชานกล่าว
แม้กระทั่งนักการศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับสูง ก็ห้ามหยุดเรียนรู้ และสถาบันเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ควรจะตั้งตนเป็นเสาหลักที่สามของการพัฒนาวิชาชีพของสมาคมการสอน นอกเหนือไปจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติและสถาบันพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติที่ทำหน้าที่ดูแลโรงเรียนและนักการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
ที่มา : Focus on 5 key areas to keep education system relevant in uncertain world: Chan Chun Sing