พื้นที่ ผู้คน ครอบครัว คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ที่แตกต่างย่อมส่งผลถึงปัญหา อุปสรรคไม่เหมือนกัน ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยสูตรสำเร็จเดียว
‘กสศ.’ รวมพลังความร่วมมือ 14 จังหวัด และกลไกการทำงานในท้องถิ่น ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา สุโขทัย ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น สุรินทร์ สมุทรสงคราม ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี ยะลา ราชบุรี ‘พัฒนาตัวแบบการบริหารจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ โดยที่ภาคส่วนต่างๆ และประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเป็น “เจ้าของปัญหา” และ “บริหารจัดการศึกษา” ร่วมกันในรูปแบบกลไกการทำงานระดับพื้นที่
โดยมี 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.กลไกบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม
2.เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กเยาวชนคนด้อยโอกาสของพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียว
3.แผนจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สามารถขับเคลื่อนต่อไปในระยะยาว
4.พัฒนานวัตกรรมจัดการศึกษาหรือดูแลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
ซึ่งจากบทสรุปการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “ก้าวสู่ความเสมอภาคไปด้วยกัน” เมื่อวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 เห็นพ้องว่า ‘การกระจายอำนาจ’ ในการจัดการศึกษา สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและแต่ละบุคคลได้มากขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โปร่งใสขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สะท้อนถึงสิ่งที่ท้องถิ่นให้ความสำคัญได้ดีขึ้น และโดยทั่วไปแล้ว สามารถปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงคุณภาพและความเสมอภาคได้ดีขึ้น
‘ปฏิรูประบบกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังระดับพื้นที่’ จึงมีความสำคัญต่อ ‘การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน’