ผลการศึกษาล่าชุดชี้ การที่พ่อแม่ปล่อยให้ทารกดูแท็บเล็ตและโทรทัศน์ อาจบั่นทอนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีในภายหลังได้ การที่พ่อแม่ใช้เวลากับลูกอย่างเต็มที่คือหนึ่งในทางออก
สถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลีย รายงานอ้างอิงการศึกษาของทีมนักวิจัย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกุมารแพทย์จามา (journal JAMA Paediatrics) พบว่า การที่พ่อแม่ปล่อยให้ทารกดูแท็บเล็ตและโทรทัศน์ อาจบั่นทอนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีในภายหลัง
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังพบว่า การใช้เวลาหน้าจอที่เพิ่มขึ้นในช่วงวัยทารกนั้น สัมพันธ์กับทักษะสมองในการพัฒนาความคิด (Executive functioning: EF) ของเด็กที่จะแย่ลงเมื่อเด็กคนนั้นอายุได้ 9 ขวบ
ศูนย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อการพัฒนาเด็ก (Harvard University Centre on the Developing Child) อธิบายว่า ทักษะ EF เป็นกระบวนการทางความคิดภายในจิตใจที่ช่วยให้มนุษย์สามารถวางแผน มีสมาธิ จดจำคำสั่ง ควบคุมอารมณ์ และจัดการงานหลายอย่างได้สำเร็จ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทักษะ EF ที่ว่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจในระดับที่สูงขึ้น เช่น การควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และสุขภาพจิต
ดอกเตอร์ อีริกา ชิแอปปินี (Dr.Erika Chiappini) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปคินส์ (Johns Hopkins) กล่าวว่า ทักษะ EF อย่าง Executive functioning skills นี้ มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของเราในด้านสังคม วิชาการ วิชาชีพ และวิธีที่เราใช้ดูแลตัวเอง เธอกล่าวว่า แม้กระบวนการทางความคิดเหล่านี้จะพัฒนาไปตามธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่กระบวนการเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากประสบการณ์ของเรา และเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเรา
ด้าน ดอกเตอร์ จอยซ์ แฮร์ริสัน (Joyce Harrison) รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวเสริมว่า การศึกษาสนับสนุนคำแนะนำจากสถาบันกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics : AAP) ที่กีดกันไม่ให้ทารกใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโดยเด็ดขาดก่อนอายุ 18 เดือน ยกเว้นการใช้วิดีโอแชท
รายงานระบุว่า การศึกษาครั้งนี้อาศัยการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาการเติบโตอย่างมีสุขภาพดีของสิงคโปร์ หรือ Growing Up In Singapore Towards Healthy Outcomes ซึ่งรู้จักกันดีในนาม กัสโต (GUSTO) โดยศูนย์ฯ ได้ทำการสำรวจผู้หญิงที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยเด็ก 437 คนที่ได้รับการสแกนสมองด้วยคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อดูเส้นทางประสาทของการทำงานด้านความรู้ความเข้าใจในสมองเมื่อเด็กอายุได้ 18 เดือน 1 ขวบ และ 9 ขวบ ตามลำดับ
ทั้งนี้ การศึกษาระบุว่า พ่อแม่จะเป็นผู้รายงานเวลาการใช้หน้าจอของเด็กแต่ละคน ซึ่งนักวิจัยพบว่า เวลาที่เด็กใช้ไปกับการอยู่กับหน้าจอมีความสัมพันธ์กันกับความสนใจและการทำงานของทักษะ EF เมื่อเด็กอายุได้ 9 ขวบ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาชี้ว่า จำเป็นที่จะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอก่อให้เกิดความบกพร่องในทักษะทางความคิดมากน้อยแค่ไหน และมีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ด้าน AAP ระบุว่า ในช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ และเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการใช้หน้าจอก็คือ เด็กเล็กจะไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนักจากการใช้หน้าจอ โดยแฮร์ริสันระบุว่า ไม่มีอะไรที่สามารถทดแทนการมีปฏิสัมพันธ์ และการสอนที่ทำให้เด็กได้เห็นต้นแบบจากผู้ใหญ่จนทำให้เกิดพฤติการการลอกเลียนแบบได้
ด้าน ชิแอปปินี กล่าวเสริมว่า พัฒนาด้านประสาทการรับรู้ของเด็กที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้ทารกมีความยากลำบากในการตีความข้อมูลที่นำเสนอมาจากหน้าจอ 2 มิติ และมีปัญหาในการแยกแยะจินตนาการออกจากความเป็นจริง ดังนั้น ทารกและเด็กจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ มากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านหน้าจอ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพูดถึงการควบคุมอารมณ์ ทารกและเด็กวัยเตาะแตะสามารถเรียนรู้จากผู้ดูแล เมื่อพวกเขาจำลองการควบคุมตนเองหรือช่วยติดฉลากอารมณ์และการแสดงออกที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนให้เด็กเล็กเลือกสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เมื่อพวกเขาโกรธ เช่น หยุดพักหรือหายใจลึก ๆ แทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การตี หรือขว้างปาข้าวของ
ด้าน ดอกเตอร์ เจนนีย์ เรดสกี (Dr. Jenny Radesky) กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการด้านพฤติกรรมและรองศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งโรงพยาบาลเด็ก มิชิแกน เมดดิซีน ซีเอส ม็อตต์ (Michigan Medicine CS Mott Children’s Hospital) กล่าวเสริมเกี่ยวกับการสอนทักษะทางอารมณ์ให้กับเด็กว่า การพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์อาจเป็นเรื่องนามธรรมเกินไปสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน และในกรณีเหล่านั้น การใช้โซนสีเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์อาจเป็นประโยชน์
ดอกเตอร์เรดสกีอธิบายว่า ความสงบอาจเป็นสีเขียว ความกังวลหรือความตื่นเต้นอาจเป็นสีเหลือง และอารมณ์เสียหรือโกรธอาจเป็นสีแดง โดยใช้ภาพกราฟิกหรือภาพใบหน้าอธิบายเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ จับคู่สิ่งที่พวกเขารู้สึกกับโซนสีของพวกเขา และผู้ใหญ่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ของตนเองในรูปแบบสีต่อหน้าเด็ก ๆ เพื่อตอกย้ำสาร พ่อแม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเล่นสีกับเด็ก ๆ และช่วยเด็ก ๆ หาแนวทางจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
ส่วนดอกเตอร์แฮร์ริสันกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะเสริมสร้างทักษะความคิด คือต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมเชิงโครงสร้าง ที่เด็กสามารถทำงานผ่านการแก้ปัญหาในขอบเขตที่พวกเขาสามารถทำได้ในระดับพัฒนาการ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหาให้พวกเขา
ดอกเตอร์แฮร์ริสัน ย้ำว่า ต่อให้พ่อแม่จะยุ่งมากแค่ไหน ก็ควรหาทางหลีกเลี่ยงให้เด็กเล็กใช้เวลาอยู่กับหน้าจอให้ได้มากที่สุด และพยายามให้เด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับงานบ้าน เช่น ให้เด็กวัยหัดเดินมาพับเสื้อผ้าข้างคุณแม่ หรือมานั่งใกล้ ๆ ในจุดที่ปลอดภัย ในขณะที่พ่อแม่อาจจะซักผ้าหรือทำงานบ้านอื่น ๆ เพื่อให้พ่อแม่สามารถสบตากับลูก ๆ ได้
ในส่วนของเด็กช่วงก่อนวัยเรียน การหลอกล่อให้เด็กอยู่ห่างจากหน้าจอ อาจจะต้องมีกลยุทธ์ชั้นเชิงเล็กน้อย เช่น นัดแนะว่าจะใช้เวลาไปกับหน้าจอนานเท่าไหร่ ถ้าพ่อแม่มีประชุมออนไลน์ 1 ชั่วโมง เด็กก็จะมีเวลาอยู่กับหน้าจอแค่ 1 ชั่วโมงเท่ากัน จากนั้นจึงค่อยทำกิจกรรมอื่นร่วมกัน เป็นต้น
ในเวลาเดียวกัน เวลาที่เด็กก่อนวัยเรียนใช้อยู่กับหน้าจอจะเป็นประโยชน์ถ้าพ่อแม่ใช้เวลาร่วมกับลูก ๆ ไปด้วย เช่น ถามเด็กว่าในเรื่องราวที่พบเจอ ตัวละครเหล่านั้นรู้สึกอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยตัวละครแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ
ดอกเตอร์เรดสกีสรุปว่า การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ซับซ้อนและบางครั้งอาจหนักหนาสาหัส และไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคนใดที่สามารถให้ทุกสิ่งที่ลูกต้องการได้ตลอดเวลา
สิ่งที่ทำได้คือ ให้เวลากับลูกเพื่อให้เกิิดการสื่อสารระหว่างกันให้มากที่สุด
ที่มา : Why letting your baby watch screens could harm their chance of success at school