ใครบอกว่าทุนการศึกษาต้องอยู่ในรูปของเงินเท่านั้น

ใครบอกว่าทุนการศึกษาต้องอยู่ในรูปของเงินเท่านั้น

ทุนการศึกษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เนื่องจากเงินอุดหนุนดังกล่าวจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในแต่ละครัวเรือน

แต่รู้หรือไม่ เครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทุนการศึกษาที่อยู่ในรูปแบบ ‘เงิน’ เพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ อย่าง ‘แว่นตา’ ‘นิทาน’ หรือ ‘อาหารเช้า’ ที่มีส่วนช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพไม่แพ้กัน

จากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนอีกจำนวนมากที่มีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง จนทำให้มองกระดานไม่ชัดเจน นักเรียนในกลุ่มยากจนหลายคนไม่ได้ทานอาหารเช้าเนื่องจากมีเงินที่ไม่เพียงพอ ลภาวะทุพโภชนาการและไม่มีสมาธิจดจ่อต่อการเรียน หรือนักเรียนที่ขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้พัฒนาการทางการเรียนรู้ต้องหยุดชะงัก

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงมีแนวทางการสนับสนุนนักเรียนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลากหลายรูปแบบตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อออกหน่วยให้บริการตรวจวัดการมองเห็นและตัดแว่นสายตาให้กับเด็กในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) การจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาวัตถุดิบในการทำอาหารเช้าในพื้นที่โรงเรียนนำร่อง หรือการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในโครงการ ‘ถุงปันยิ้ม’ และ ‘Black Box’ เพื่อนำส่งการเรียนรู้ไปถึงมือเด็ก ๆ ในช่วงโควิด-19 รวมไปถึงทุนทางความรู้จากการร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำงานวิจัยเพื่อค้นหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียน

แนวทางการสนับสนุนที่หลากหลายมิติ นอกจากจะช่วยให้นักเรียนกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้งยังช่วยให้เพิ่มพร้อมทางร่างกายและพัฒนาการในการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

วิจัยที่เกี่ยวข้อง : คลิก

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม