เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเองสู่แกนนำขยายผล 6 จังหวัดภาคอีสาน” ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.นครพนม จ.นครราชสีมา จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร และ จ.สุรินทร์ ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teachers and School Quality Program (TSQP) จัดวงเสวนา “ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนาของโรงเรียนที่มีแนวโน้มในการพัฒนาตนเองได้ เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดได้รับรู้และสามารถขยายผลต่อไปในอนาคต มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วย ศธจ., สพป., สพม. ร่วมกับโรงเรียนในโครงการ TSQP และเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียน 5 เครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต, มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา, มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สพป.สุรินทร์ เขต 2
วงเสวนา “ระบบและกลไกที่สนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” ได้ฉายภาพความสำเร็จจากการขับเคลื่อนของเครือข่าย TSQP 6 จังหวัดภาคอีสานในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีความเห็นตรงกันว่านวัตกรรม Open Class ช่วยสร้างการเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกัน และสร้างห้องเรียนที่ไม่ใช่ครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการปรับบทบาทจากผู้สอนเป็นเทรนเนอร์ทำให้เด็กกล้าแสดงออก ขณะที่แนวทาง TSQP ยังสอดรับแนวทางการประเมินครูของ ก.ค.ศ. ซึ่งเริ่มต้นที่ชั้นเรียนและมีเป้าหมายเรื่องคุณภาพผู้เรียน โดยมีสาระสำคัญจากการแลกเปลี่ยนดังนี้
ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า TSQP เป็นการนำร่องโรงเรียนพัฒนาตนเองเพื่อขยายผลสู่ระบบการศึกษาในภาพรวม ซึ่งมีความท้าทายอย่างยิ่ง แต่หากผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องสามารถผลักดันให้ TSQP ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องได้จะทำให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง ซึ่งต้องพิจารณาจาก Teachers and School Quality Program (TSQP) ไปสู่แนวทางการขับเคลื่อน Teachers and School Quality Movement (TSQM)
ในปีการศึกษา 2566 สพฐ. ให้ความสนใจในการขยายผล TSQP โดยส่วนกลางอาจจะมีนโยบายในเชิงการพัฒนาโรงเรียน แต่ส่วนงานที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเขตพื้นที่ เพราะรู้ข้อมูลของโรงเรียนต่าง ๆ ขณะที่ กสศ. มีกลไกเข้ามาหนุนเสริม มีพี่เลี้ยงและหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาช่วย กลไกตรงนี้จะนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่ส่งผลไปสู่การพัฒนาการศึกษาที่แท้จริง โดยขอเป็นกำลังใจและขอขอบคุณ กสศ.และเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ช่วยกันสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมในการทำให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง มีความเป็นไปได้ในรูปแบบที่ปรากฏอยู่
รศ.ดร.ไมตรี อินทรประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นว่า ความสำเร็จและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใน 3 ปีของ TSQP คือการนำนวัตกรรมมาใช้ ปัจจัยที่นำไปสู่ผลสำเร็จ คือมีต้นทุนเดิมในการขับเคลื่อนและการหนุนเสริมที่เข้าร่วมดำเนินการกับโรงเรียนอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือ อุดมการณ์ในการดำเนินการที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบจะสามารถทำงานได้ หากการปฏิบัติงานของครูได้รับความสำคัญ ตนเกิดคำถามตลอดเวลาว่า เราจะแสวงหาความรู้จากการปฏิบัติได้อย่างไร จะสร้างห้องเรียนและโรงเรียนแห่งอนาคตที่กระตุ้นให้เด็กสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองได้อย่างไร สมัยที่ตนอยู่ญี่ปุ่นได้ไปเรียนรู้ห้องเรียนของญี่ปุ่น และในฐานะที่เคยเป็นครูผู้น้อย ก็ได้พยายามปรับห้องเรียนไทยให้เกิดการเรียนรู้โดยให้มีการหมุนเวียนแบบญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ตนเห็นว่าชั้นเรียนไม่เหมือนเดิมจากที่เคยเห็นมาตั้งแต่ตอนตนอายุ 17-18 ปี จากที่ได้ปรับใช้วิธีของญี่ปุ่นกับชั้นเรียนไทย พบว่าชั้นเรียนจะมีคุณภาพได้ต้องเปิด ห้องเรียนไม่ใช่ของครูคนเดียว ตนจึงใช้คำว่า Open Class เพราะเห็นว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่นวัตกรรม ครูสามารถนำแนวคิดของเด็กที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถนำมาพัฒนาได้ เพราะคำถามว่า ‘ทำไม’ ของเด็กนั้นเป็นคำถามที่ตอบยากที่สุด เมื่อชั้นเรียนเป็นพื้นที่นวัตกรรมก็ต้อง Open และชั้นเรียนญี่ปุ่นเป็นแบบ Mobile ไม่ได้อยู่กับที่ ในญี่ปุ่นมีการ Open Class ระดับชาติ เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปทั่วทุกแห่ง และยังได้เห็นว่าชั้นเรียนคุณภาพเป็นพื้นที่ที่วิ่งไปที่ต่าง ๆ ได้ ไม่อยู่นิ่งกับที่
นอกจากนี้ ตนเห็นช่องว่างของระบบการผลิตครู เดิมเป็นผู้ใช้ครู เมื่อมาเป็นผู้ผลิตได้เห็นช่องว่างมาก ในประเทศญี่ปุ่นมี 3 ระบบ คือ 1.ระบบผลิต 2.ระบบ induction training ก่อนจะเข้าระบบที่ 3 คือระบบประจำการ คิดว่าหากเชื่อม 3 ระบบนี้ ได้ เราก็จะพัฒนาเรื่องการผลิตครูได้ โดยต้องนำนวัตกรรมมาเชื่อม เพื่อให้ได้ครูตรงกับที่เราต้องการและมีคุณภาพ ส่วนสิ่งที่ตนอยากเห็น จากนี้ไปจะช่วยกันหนุนโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็ต้องมีอุดมการณ์ และต้องมีความภาคภูมิใจ ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องเป็นผู้นำวิชาการ สร้างการเปลี่ยนแปลง และรู้ว่าควรเสริมหนุนครูในโรงเรียนอย่างไร และฝากให้กำลังใจผู้อำนวยการทุกท่านในการพัฒนาโรงเรียนของตนเอง
ดร.สมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้เข้ามาเห็นบรรยากาศการประชุมในวันนี้ เพราะตนก็เคยเป็นครูมาก่อน ด้วยคุณภาพของเด็กแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถนำคุณภาพของเด็กโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยไปเทียบกับเด็กโรงเรียนต่างจังหวัดได้ การที่จะขับเคลื่อนนโยบายอย่างไรนั้น แม้นโยบายดีแต่หากพื้นที่ไม่ดำเนินการก็มีค่าแค่ศูนย์ ดังนั้น การปฏิวัติต้องทำจากพื้นที่จากห้องเรียน หากสามารถสร้างสนามพลังบวกให้กับห้องเรียนได้ ก็จะสามารถปฏิวัติได้ แต่อย่าเอาโรงเรียนชายขอบเทียบกับโรงเรียนในเมือง
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมสามารถไปขับเคลื่อนโรงเรียนได้ทุกมิติ การไปสร้างสนามพลังบวก จะเป็นตัวแปรสำคัญ การมีผู้นำที่ดีมองเด็กและประชาชนเป็นตัวตั้ง งานหนักและยากแค่ไหนก็สำเร็จได้ แต่ถ้าผู้นำไปอยู่เพื่อย้าย คุณภาพก็ไม่เกิด ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการเรียนรู้จะไม่ได้ผล หากนักเรียนไม่เรียนรู้จากการปฏิบัติ คำถามคือจะทำอย่างไรให้ครูเป็นเทรนเนอร์หรือโค้ชชิ่ง อำนวยความสะดวก ชวนนักเรียนหาเป้าหมายในการเรียนรู้ และหาทางไปเป้าหมาย ให้ครูอยู่ห่าง ๆ คอยเป็นที่ปรึกษา จะทำให้เด็กกล้าคิด หมายความว่าครูทำหน้าที่ในการยุยง ตะล่อมให้เด็กแสดงออก ต้องใจเย็นและใจดี ไม่ใช่ทำผิดและตำหนิ
“เราเคยอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก เด็กกล้าแสดงออกครูและเด็กมีความสุข เด็กรักและศรัทธาในตัวครู โรงเรียนบางแห่งพบเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดีก็ขับเด็กออกจากโรงเรียน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ครูและ ผอ. เป็นแรงบันดาลใจสร้างสนามพลังบวกให้กับห้องเรียนได้ เพราะนักเรียนทุกคนมี Growth Mindset ประการที่สอง ผอ. และครูต้องเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งครูและ ผอ. รู้ดีที่สุดว่าจะเป็นต้นแบบที่ดีได้อย่างไร ประการที่สาม สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกให้ครูกับนักเรียน ทักทายในชีวิตประจำวัน เพราะเด็กบางคนไม่เคยได้รับสัมผัสจากครอบครัว หากครูรักเด็ก เด็กรักครูจะเกิดเป็นสนามศรัทธา และประการที่สี่ เป็นคนตื่นรู้ตลอดเวลา เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อใช้กับเด็กที่มีความหลากหลายและต่างกันโดยธรรมชาติทุกมิติ เด็กบางคนอยู่ ม.1 สมองอยู่ ม.3 หากมีวิธีการที่แตกต่างกันก็จะทำให้เด็กไปถึงเป้าหมายได้ ดังนั้น ผอ. และครู ต้องวางเป้าหมายของเด็กและโรงเรียนให้ชัด เมื่อเป้าหมายชัด ก็มาชวนเครือข่าย ชุมชน ผู้ปกครองไปหาเป้าที่มีความหลากหลาย นักบริหารที่ชาญฉลาด ต้องมีเป้าหมาย มีวิธีการ ปรับกลไก แนวทาง ให้เป็นตัวเรา สร้างการรับรู้ จับมือให้ไปถึงเป้า นำทุกนวัตกรรมาปรับให้เป็นตัวเราให้มากที่สุด”
นางสาวจารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล ก.ค.ศ. กล่าวว่า สิ่งที่โครงการ TSQP ดำเนินการสอดคล้องกับ ว.PA และการประเมินผลครูอย่างมาก หากพิจารณาเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.จะเห็นว่าทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มต้นที่ห้องเรียน โดยให้ความสำคัญกับชั้นเรียน และการทำให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียน ซึ่งการที่ครูทำ PLC ร่วมกันทั้งผู้อำนวยการและเขตพื้นที่ หรือการโค้ชชิ่งเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนนั้น ล้วนเป็นแนวทางที่วางอยู่ใน ว.PA ที่ต้องการพัฒนาการศึกษา ดังนั้นการดูประสิทธิภาพของครูก็ต้องดูคุณภาพของนักเรียน โดยไม่ได้ดูแค่ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเพียงแค่ผลทดสอบ แต่ยังดูเรื่องเจตคติ คุณธรรม จริยธรรมที่ถูกปลูกฝังจากคุณครูด้วย จากที่ได้สัมผัสหลายภาคส่วนรู้สึกว่าเราเดินมาอย่างถูกทาง วางกลไกการพัฒนาโรงเรียนให้ไปด้วยกันกับแนวทางการประเมินของ ก.ค.ศ. ที่มีเป้าหมายเพื่อเดินไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนเป็นสำคัญ
นางสุดสงวน กลางการ ศึกษานิเทศก์ สพป.ขอนแก่น เขต 1 กล่าวว่า การที่โรงเรียนในสังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง โดยนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ทำให้เห็นเพื่อนร่วมทางในการใช้นวัตกรรม ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ พฤติกรรมนักเรียน จากที่ตั้งคำถามมาเสมอว่าเด็กไทยคิดได้จริงหรือ ก็ได้ข้อพิสูจน์จากการร่วมศึกษาชั้นเรียน ได้เห็นกระบวนการ PLC ของครู การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสะท้อนผล ทำให้ได้มุมมองที่เราไม่เคยเห็น เกิดการเรียนรู้ภาคสนามที่แท้จริง สิ่งสำคัญคือการติดตั้งระบบก่อน ทั้งระบบนิเทศภายใน-ภายนอก เป็นการบูรณาการร่วมกันได้
“ศึกษานิเทศก์ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี มีความเป็นกัลยาณมิตร การทำงานต้องเริ่มที่การทำความเข้าใจให้ชัดเจนในสิ่งที่จะทำ ทั้งนวัตกรรมที่จะพาโรงเรียนและครูขับเคลื่อนไป ต้องการันตีให้เห็นความรอด ปลอดภัย เป็นเพื่อนคู่คิด ลงไปโรงเรียนอย่างพี่น้อง เป็นคู่งานที่ร่วมกันทำงาน สิ่งสำคัญการให้เกียรติผู้บริหารและครู ศึกษานิเทศก์ต้องไม่ทำตัวให้เหนือกว่า เพราะองค์ความรู้ต่าง ๆ หาได้ง่ายมากขึ้น ในอดีตศึกษานิเทศก์มีความรู้แล้วถ่ายทอด ซึ่งหมดยุคของการถ่ายทอดแล้ว แต่เราต้องช่วยสกัดความรู้ออกมาและนำไปใช้ได้ ต้องช่วยและเรียนรู้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ความรักความผูกพัน และความทุ่มเทในการสะท้อนคิด อย่าสะท้อนที่ตัวครู แต่ให้สะท้อนที่แผนการสอน และอย่าสะท้อนแรง เพราะอาจจะทำให้ท้อใจ เป็นการสะท้อนเพื่อการปรับปรุงพัฒนาที่ดีขึ้น” ศึกษานิเทศก์ สพป.ขอนแก่น เขต 1 กล่าว
ส.ต.ท.พลทอง เพ็งวงษา ผู้อำนวยการโรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ จ.ขอนแก่น ในฐานะตัวแทนของผู้บริหารโรงเรียน กล่าวว่า จากการนำนวัตกรรม Open Approach มาใช้ตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมา 7 ปี ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่โรงเรียนไหน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการชั้นเรียน เราจะมีการจัดทีมศึกษาชั้นเรียน เพื่อให้คุณครูได้จัดการเรียนการสอนเต็มพื้นที่ ป.1-ม.3 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยให้ครูทำกระบวนการ PLC ทุกระดับชั้น การนำนวัตกรรมไปใช้ สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือการเปลี่ยนแปลงของตัวนักเรียน จากผู้รับความรู้กลายเป็นผู้ลงมือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ส่งผลให้นักเรียนมีความสุขในการเรียน และชี้ให้เห็นถึงเด็กที่เรียนอ่อนก็สามารถไปเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนในแต่ละกลุ่มได้ ความด้อยโอกาสของนักเรียนแต่ละคนก็ถูกจัดการออกไป สิ่งที่ตามมาเป็นเรื่องบรรยากาศและระบบนิเวศที่ครูพยายามสร้างสถานการณ์ปัญหาให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง
“โรงเรียนเปิดชั้นเรียน (Open class) ทุกปี เพราะเราเป็นโรงเรียนที่สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนร่วมกับชุมชนและเครือข่าย ดังนั้น ในฐานะผู้บริหารหากได้มีโอกาสย้ายไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนใหม่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องดูคุณภาพการเรียนการสอนโรงเรียนใหม่เป็นอย่างไร การบริหารจัดการทำงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อนำมาออกแบบแผนปฏิบัติการ เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจะเชิญชวนคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองเข้ามาร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการประจำปี และใช้กรอบการดำเนินงานตาม 6 มาตรการของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ของ กสศ. ทั้งการกำหนดเป้าหมาย (School Goal), กระบวนการ PLC , ระบบสารสนเทศ (Q-info) เพื่อติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียน และการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานต้นสังกัด เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อสร้างโอกาส ในการพัฒนานักเรียนให้มีความเสมอภาค เพราะเราเป็นโรงเรียนต้นแบบในการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ จากการนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) โดยได้เปิดชั้นเรียนให้ร่วมเรียนรู้” ส.ต.ท.พลทอง กล่าว