รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสศ.
รอบสามปีที่หนึ่ง (๒๕๖๑-๒๕๖๕)
คณะรัฐมนตรี (๒๔ มกราคม ๒๕๖๕) อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล กสศ. เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสศ. ตาม พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ นายชโยดม สรรพศรี นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ เป็นกรรมการ และนายนิกร เภรีกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ (รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมการประเมินผล กสศ.)
คณะกรรมการประเมินผล กสศ. ได้เสนอรายงานการประเมินให้คณะรัฐมนตรีทราบ (๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕) ต่อมาคณะรัฐมนตรี (๙ ธันวาคม ๒๕๖๕) ได้มีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการประเมินผล กสศ. เสนอรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ฯ มีเนื้อหาสรุปได้โดยสังเขป ดังนี้
๑. หลักการ ขอบเขต และแนวคิดในการประเมิน
คณะกรรมการประเมินผล กสศ. ได้ยึดหลักการประเมินผล ๔ ประการ เรียกว่า ECUB กล่าวคือ การประเมินผลบนพื้นฐานของหลักฐาน (Evidence-based) การประเมินผลเชิงสร้างสรรค์ (Constructive) ที่ไม่ได้มุ่งประเมินเพื่อการจับผิด แต่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาเป็นสำคัญ การประเมินผลที่ปราศจากอคติ (Unbiased) ด้วยความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ตรงตามสภาพที่เป็นจริง และการประเมินผลโดยฐานกว้าง (Broad-based) หรือประเมินผลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นการประเมินผลการดำเนินงานของ กสศ. ในรอบสามปีที่หนึ่ง (ตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕) เนื้อหาครอบคลุมการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายและประเมินผลการดำเนินกิจการของ กสศ. ตามแนวคิดองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organisation: HPO)
๒. ผลการประเมินโดยสังเขป
๒.๑ ผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ กสศ.
กสศ. มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ ๔ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ ๑๗ ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม โดย กสศ. ได้วางบทบาทองค์กรในการพัฒนาต้นแบบ ฐานข้อมูล และองค์ความรู้ผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเป็นแนวนโยบายและเสริมการทำงานของหน่วยงานหลัก โดยในรอบสามปีที่หนึ่ง กสศ. ได้ดำเนินงานครอบคลุมและบรรลุตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ทั้งการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ การเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูเพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษา มีการปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน และการริเริ่มสร้างสรรค์ในการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้นำต้นแบบนวัตกรรมไปใช้ในการดำเนินการ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างและวางฐานการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษา ที่จะนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้ดีขึ้นได้โดยลำดับ
สรุปข้อค้นพบที่สำคัญ กสศ. ได้ดำเนินงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของ กสศ. ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕ และสามารถให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายแก่เด็กและเยาวชนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เกิดผลสัมฤทธิ์สำคัญที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อันได้แก่ (๑) นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน (๒) ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Information System for Equitable Education หรือ iSEE” (๓) ระบบการติดตามนักเรียนทุนรายบุคคลผ่านเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก (๔) การระดมความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชน (Innovative Finance) ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ (๕) การระดมทุนจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชน (๖) เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่
การใช้งบประมาณและผู้ได้รับประโยชน์ ในรอบสามปีที่หนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงพ.ศ. ๒๕๖๕ กสศ. ใช้งบประมาณจากทุกแหล่งเงิน จำนวน ๒๑,๘๘๖.๔๓ ล้านบาท นำไปช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์รวมแล้วเกิน ๓ ล้านคน-ครั้ง ครอบคลุม (๑) เด็ก เยาวชนในระบบการศึกษา ๓,๐๒๑,๙๓๔ คน-ครั้ง จากเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๔๕,๐๒๘ คน นักเรียนทุนเสมอภาค ๒,๙๖๘,๘๙๓ คน-ครั้ง นักเรียนทุนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ๘,๐๑๓ คน (๒) เด็ก เยาวชน และแรงงานนอกระบบการศึกษา ๔๔,๘๒๙ คน (๓) ครู ๒๖,๖๔๘ คน และ (๔) สถานศึกษา ๗๒๗ แห่ง
เมื่อพิจารณา ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการดำเนินงานของ กสศ. ตามแผนกลยุทธ์ กสศ. ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ ที่ได้ทบทวนปรับปรุงจากแผนแม่บท กสศ. เดิม (ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๖) สรุปผลการประเมินในรอบสามปีที่หนึ่งได้ดังนี้
ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๑ การเข้าถึงการเรียนรู้ (Learning Access)
เด็กและเยาวชนวัยเรียนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาผ่านการได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งส่งผลให้อัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยและวัยเรียนเพิ่มขึ้น โดยนักเรียนกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีอัตราการเข้าเรียนน้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ลดจาก ๑๘,๓๔๕ คน ในภาคเรียน ๑/๒๕๖๓ เหลือ ๑,๐๒๔ คน ในภาคเรียน ๒/๒๕๖๓ และเด็กยากจนและยากจนพิเศษจำนวน ๑๑,๗๘๓ คน มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยสามารถเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS๖๔) ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน ๖๙ แห่งทั่วประเทศ
ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๒ ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome)
มีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารภายใน การบริหารจัดการด้านวิชาการ ส่งผลให้สามารถยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้และทักษะความสามารถของนักเรียนจำนวนกว่า ๑๙๐,๐๐๐ คน โดยนักเรียนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อจัดการศึกษาตามความต้องการที่หลากหลายเพื่อคุณภาพของผู้เรียน
ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๓ การศึกษาทางเลือก (Alternative Education)
เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาใน ๒๐ จังหวัดนำร่อง ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตามศักยภาพ โดยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ สำหรับแรงงานนอกระบบได้รับการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพจิต ทักษะชีวิตด้านการเงิน ทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ และทักษะอาชีพ ส่งผลให้แรงงานมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้
ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ที่ ๔ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systems Change)
มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเกิดขึ้นแล้วหลายประการ เช่น (๑) นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน โดยพัฒนาระบบการคัดกรองนักเรียน สร้างแนวทางในการค้นหาเด็กนักเรียนยากจนร่วมกันกับครูในพื้นที่ตามหลักการความเป็นธรรมและโปร่งใส (๒) การเปลี่ยนระบบการสนองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งเดิมมุ่งสนองทุนเพื่อให้นำทุนไปจัดการศึกษาโดยให้เงินงบประมาณกับโรงเรียนและจ่ายเงินรายหัวตามจำนวนนักเรียนเพื่อให้โรงเรียนไปจัดการศึกษา (Supply-Side Financing) แต่เพียงอย่างเดียว แต่ กสศ. ได้สร้างระบบการให้ทุนการศึกษาที่ให้กับนักเรียนโดยตรงโดยพิจารณาจากความจำเป็นและความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล (Demand-Side Financing) โดยจัดสรรงบประมาณตรงไปยังผู้เรียน (๓) เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ที่ปรับเปลี่ยนการทำงานในรูปแบบเดิมที่แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ทำงานแยกส่วน เป็นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับจังหวัดต้นแบบ โดยใช้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งแต่ละพื้นที่มีการออกแบบวางระบบเฉพาะพื้นที่ และให้มีโครงสร้างที่สามารถพัฒนาเติบโตในการขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้วยตนเองได้ต่อไป (๔) ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “iSEE” ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ ๖ กระทรวง ครอบคลุมผู้รับประโยชน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ทำให้การช่วยเหลือตรงตามกลุ่มเป้าหมาย มีระบบการติดตามนักเรียนทุนรายบุคคลผ่านเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก เพื่อการใช้ความช่วยเหลือรายบุคคล และใช้ติดตามรายที่หลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา (๕) การระดมความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีส่วนสนับสนุน กสศ. ทั้งในรูปแบบการระดมทุนให้ความช่วยเหลือและระดมความร่วมมือสนับสนุน มากกว่า ๒๐๐ องค์กร
ผลสรุป นับแต่ได้จัดตั้งและดำเนินงานมาในรอบสามปีที่หนึ่ง กสศ. ได้ดำเนินงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย มีผลลัพธ์ทั้งในด้านการช่วยเหลือสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน และที่สำคัญ กสศ. ได้สร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายมีการจัดการงบประมาณด้านการศึกษาโดยใช้หลักความเสมอภาค และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชนและภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมจัดการศึกษาในพื้นที่นำร่อง ๒๐ จังหวัด ปรับเปลี่ยนการทำงานแบบแยกส่วน มาเป็นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมออกแบบวางระบบให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพปัญหาความต้องการของพื้นที่ตนและสามารพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องได้ถือได้ว่า เป็นการวางพื้นฐานและสร้างจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่จะพัฒนาต่อยอดสู่ระบบนิเวศน์เพื่อการบูรณาการและนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ต่อไป
๒.๒ ผลการตรวจสอบและประเมินผลการดําเนินกิจการของ กสศ.
ด้านการใช้จ่ายเงิน พบว่าการใช้จ่ายเงินเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดย กสศ. มีการประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องการทุจริต มีมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตภายในหน่วยงาน มีแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตที่ชัดเจน รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการเพื่อยืนยันการจ่ายเงินไปยังระดับรายบุคคลที่มีการเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและสามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้ไม่มีการรั่วไหลของเงิน
ด้านการประเมินผลการดำเนินงาน ตามแนวคิดองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organisation: HPO) พบว่า ในช่วงสามปีที่หนึ่ง กสศ. มีคะแนนผลการประเมินในระดับองค์กร เท่ากับ ๒.๓๒ จากคะแนนเต็ม ๔ คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนระดับกลางค่อนข้างสูง โดยพบว่า กสศ. มี จุดแข็ง คือ มีการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์และเป้าหมาย โดยมีแผนอย่างเป็นระบบที่สนับสนุนองค์กรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างและกลไกการบริหารที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในงานแต่ละด้านอย่างชัดเจน มีลักษณะการทำงานแบบองค์กรอิสระ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ ระบบจัดเก็บข้อมูล iSEE และ Q-Info ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเป็นหลักประกันและสนับสนุนให้การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนมีความโปร่งใส สามารถติดตาม ตรวจสอบได้ และระบุผู้ได้รับประโยชน์ตามกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนได้โดยไม่มีการรั่วไหลของเงินทุน รวมถึงมีการทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ส่วน จุดที่ควรต้องพัฒนา ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กรให้เป็นมาตรฐาน การมีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล การจัดทำระบบการบันทึกหรือจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้วยดิจิทัล การวางแผนอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร การเพิ่มช่องทางและการจัดทำระบบการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น
๒.๓ ข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการดำเนินกิจการของ กสศ.
ระดับองค์กร มีข้อจำกัดและอุปสรรคของการบริหารงานภายใน ได้แก่ ตัวชี้วัดในการติดตามผลตามแผนกลยุทธ์บางตัวชี้วัดเป็นเชิงคุณภาพ ทำให้ยากต่อการวัดผล กระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการระหว่างสายงาน จำนวนบุคลากรมีน้อย อัตราการลาออกค่อนข้างสูง ยังไม่มีการติดตามประเมินผลด้านความเข้าใจและการรับรู้ของบุคลากรเกี่ยวกับกลยุทธ์และนโยบายขององค์กร รวมทั้งยังขาดการจัดการความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากภาคีภายนอกกลับมาสู่บุคลากรภายในองค์กร
ระดับการบริหารจัดการโครงการ มีข้อจำกัดและอุปสรรค ได้แก่ บางโครงการมีแผนหรือปฏิทินการดำเนินงานไม่ชัดเจน และบางครั้งมีระยะเวลาจำกัดในการดำเนินกิจกรรม สถานศึกษาบางแห่งขาดแคลนอุปกรณ์ และการใช้ระบบเทคโนโลยีมีข้อจำกัด ไม่เสถียร บางขั้นตอนโดยเฉพาะการคัดกรองเป็นกระบวนการซับซ้อน จึงเกิดความล่าช้า บางโครงการยังขาดการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยที่ข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในระดับการบริหารองค์กรและระดับการบริการโครงการดังกล่าว อยู่ในวิสัยที่ กสศ. สามารถจะปรับปรุงแก้ไขให้สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
๒.๔ ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง
เพื่อให้ กสศ. สามารถดำเนินการในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น คณะกรรมการประเมินผล กสศ. มีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง ดังนี้
- การเสริมสร้างการบริหารจัดการภายใน (Strengthening Internal Foundation) โดยเริ่มตั้งแต่การทบทวนกระบวนการ กฎระเบียบ นโยบาย ภายในสำนักงาน และการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ รวมถึงการพิจารณาการจัดสรรเงินทุนในรูปแบบเงินสะสมของกองทุนเพื่อใช้จ่ายเงินทุนตามปีการศึกษา เพื่อให้มีความอิสระและคล่องตัวจากเงินงบประมาณ
- ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย (Networking and Partnership) โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลากร การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเน้นการร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ในด้านต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเงินทุน การทำกิจกรรมเพื่อสังคม และเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานหลัก เช่น หน่วยงานในระดับอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เด็กยากจนได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น
- การมุ่งหน้าสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา (Supporting Equitable Education) โดยมุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความเท่าเทียมของคุณภาพสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่การคัดกรองที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน โดยการขับเคลื่อนองค์กรและการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งต่อโครงการและนวัตกรรมด้านการศึกษา ต้องพิจารณาให้มีแผนการส่งต่อและมีผู้รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจนโดยจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และสื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยงานหลัก ภาคี และหน่วยงานด้านนโยบายเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจในการดำเนินการ