Area-Based Education หรือ ABE ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ มีจุดเริ่มต้นจากความตั้งใจในการขยับเขยื้อนเพื่อแก้ปัญหาจากพื้นที่เล็กไปสู่พื้นที่ใหญ่ โดยใช้ความพร้อมและทรัพยากรที่มีภายในจังหวัดเป็นทุนตั้งต้น ไม่เพียงเพื่อทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ แต่ยังผลักดันให้ผู้คนทุกช่วงวัยได้เติมเต็มศักยภาพ มีลู่ทางพัฒนาตนเองได้จนถึงที่สุดตามโจทย์ชีวิตของแต่ละคน
หลายปีมานี้ กสศ. ได้รวมพลังความร่วมมือกับหลายจังหวัดจนเกิดเป็นกลไกการทำงาน มีการพัฒนา ‘ตัวแบบ’ การบริหารจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเป็น ‘เจ้าของปัญหา’ และ ‘บริหารจัดการ’ ร่วมกันผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ
1.กลไกบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน
2.เชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสจากในพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียว
3.แผนจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในระยะยาว
4.พัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาหรือการดูแลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อย่างเป็นระบบ