คราฟท์ ไฮนซ์ (Kraft Heinz) ผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เปิดตัวข้าวกล่องอาหารกลางวันซึ่งได้รับการปรับสูตรใหม่ให้มีคุณค่าทางโภชนาการสอดคล้องกับพัฒนาการเด็กและเป็นไปตามเกณฑ์ใหม่ของหน่วยงานสาธารณสุข โดยตั้งเป้าจัดส่งถึงโรงเรียนทั่วสหรัฐฯ ในราคาที่เข้าถึงได้และเหมาะสมกับโรงเรียน และมีแผนที่จะร่วมมือกับโครงการอาหารกลางวันแห่งชาติ (National School Lunch Program: NSLP) ในการแจกฟรีให้แก่กลุ่มเปราะบาง
คาร์ลอส อับรัมส์-ริเวียรา (Carlos Abrams-Rivera) รองประธานบริหาร คราฟท์ ไฮนซ์ กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ผู้บริโภค หรือ Consumer Anslyst Group ประจำปีที่นครนิวยอร์กว่า บริษัทเตรียมที่จะจัดส่งอาหารสำเร็จรูปมื้อกลางวันสำหรับเด็กให้กับโรงอาหารของโรงเรียนโดยตรงเป็นครั้งแรก โดยเป็นข้าวกล่องพร้อมรับประทานที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีขึ้น สอดคล้องกับข้อกำหนดของ NSLP และจะให้บริการในโรงเรียนหลักสูตรภาคบังคับทั่วประเทศ เริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
ขณะเดียวกัน ทางบริษัทยังวางแผนที่จะขยายผลการจัดจำหน่ายข้าวกล่องอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในราคาย่อมเยาตามร้านขายของชำทั่วประเทศภายในปี 2024
เว็บไซต์ของบริษัท คราฟท์ ไฮนซ์ อธิบายรายละเอียดของข้าวกล่องเพิ่มเติมว่า เป็นการผลิตขึ้นสำหรับโรงเรียนโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางโครงการอาหารกลางวันแห่งชาติ
สำหรับโครงการ NSLP เป็นโครงการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 โดยมีพันธกิจเพื่อให้บริการอาหารกลางวันทุกวันแก่นักเรียนเกือบ 30 ล้านคนในโรงเรียนทั่วสหรัฐฯ ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน รวมถึงสถานดูแลเด็กในที่พักอาศัย
คราฟท์ ไฮนซ์ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ข้าวกล่องนี้ไม่เพียงเป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับโครงการทัศนศึกษา โรงเรียนภาคฤดูร้อน หรือจะใช้เป็นอาหารมื้อเย็นก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หนึ่งในจุดแข็งของข้าวกล่องคราฟท์ ไฮนซ์ คือ เป็นอาหารกลางวันที่ไม่ต้องแช่แข็ง แต่สามารถเก็บในตู้เย็น ช่วยโรงเรียนลดค่าใช้จ่ายและภาระของแรงงาน
เมนูเบื้องต้นของข้าวกล่องอาหารกลางวัน อาทิ ไก่งวง เชดดาร์ชีส และธัญพืช กับอีกเมนูหนึ่งคือ พิซซ่าชีส ธัญพืช และผัก โดยฉลากระบุรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำหนัก สัดส่วนโภชนาการ สารอาหาร รวมถึงปริมาณไขมันอิ่มตัว และโซเดียม ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็กใน 1 มื้อ และพอเหมาะพอดีกับร่างกาย ซึ่งทางคราฟท์ ไฮนซ์ ระบุว่า เมนูทั้งสองเป็นสูตรพิเศษที่รวมโปรตีนและเมล็ดธัญพืชมากขึ้นเพื่อให้เด็กๆ มีพลังงานตลอดทั้งวัน ลดไขมันอิ่มตัวและโซเดียม และปรับเพิ่มปริมาณเพื่อให้เด็กอิ่มท้อง
สำหรับแนวคิดการเปิดตัวข้าวกล่องอาหารกลางวันในโรงเรียนนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการปรับแนวทางใหม่ในการควบคุมมาตรฐานอาหารในโรงเรียนที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลโครงการอาหารในโรงเรียนภายใต้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง รวมถึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับน้ำตาลและโซเดียมที่มากเกินไปในอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดเตรียมให้
ทั้งนี้ ค่าอาหารในโรงเรียนมาจากงบประมาณหน่วยงานท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง โดยมีกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานอาหารสำหรับเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารทุกมื้อที่นักเรียนได้รับจะมีคุณค่าทางโภชนาการและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านอาหารของสหรัฐอเมริกา โดยทางโรงเรียนจะต้องจัดเตรียมมื้ออาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ผลไม้ ผัก โปรตีน ธัญพืช และนม และนักเรียนต้องได้รับประทานอาหารอย่างน้อย 3 มื้อ (และ 1 มื้อ ต้องเป็นผลไม้หรือผัก)
ด้าน ลอว์เรน อู (Lauren Au) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แผนกโภชนาการของศูนย์วิจัยเดวิส แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมโภชนาการในโรงเรียน กล่าวว่า ตนเองต้องการทราบปริมาณโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลที่เติมเข้าไปในข้าวกล่องที่ปรับสูตรใหม่ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ต่ออาหารกลางวันโรงเรียนจริงหรือไม่
“การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การบริโภคโซเดียมในปริมาณสูงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคอื่นๆ โดยข้อกังวลก็คือเด็กเล็กที่ได้รับโซเดียมสูงในอาหารสำเร็จรูปตั้งแต่อายุยังน้อยอาจมีความต้องการอาหารที่มีโซเดียมสูงไปตลอดชีวิต” อู กล่าว
ตัวอย่างเช่น ข้าวกล่องไก่งวงและเชดดาร์ชีสพร้อมแครกเกอร์ (3.2 ออนซ์) มีโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อ 1 กล่อง ซึ่งตามแนวทางการบริโภคอาหารของชาวอเมริกัน ผู้ใหญ่ควรจำกัดการบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา ดังนั้น สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ปริมาณสูงสุดในการบริโภคโซเดียมจึงควรจะต่ำกว่านี้
อู กล่าวอีกว่า หากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน มีความกังวลว่าข้าวกล่องของคราฟท์ ไฮนซ์ อาจมีราคาแพงกว่าอาหารที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่นำเสนอในโครงการอาหารกลางวันแห่งชาติ
เมแกน มาโรนีย์ (Meghan Maroney) ผู้จัดการโครงการรณรงค์โภชนาการเด็กของรัฐบาลกลาง ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Center for Science in the Public Interest: CSPI) เปิดเผยว่า คราฟท์ ไฮนซ์ ได้ส่งเสริมข้าวกล่องอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนและองค์กรของรัฐมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่สำคัญคือ การได้รับทราบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ข้าวกล่องดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางโภชนาการของ NSLP ในปัจจุบันหรือไม่
มาโรนีย์ กล่าวว่า นอกจากนี้หากผลิตภัณฑ์ได้รับการปรับสูตรให้เป็นไปตามแนวทาง NSLP ข้าวกล่องเหล่านี้จะต้องมีรสชาติที่แตกต่างจากข้าวกล่องที่จำหน่ายในร้านค้า เนื่องจากเป็นข้าวกล่องที่มีการปรับลดโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และส่วนประกอบอื่นๆ ให้ลดลงตามข้อกำหนดเพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งหมายความว่า ทางโครงการและบริษัทต้องมีการสื่อสารเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ เกิดความสับสน
ด้านไดแอน แพรตต์-ฮีฟเนอร์ (Diane Pratt-Heavner) โฆษกสมาคมโภชนาการโรงเรียน (School Nutrition Association) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่มีสมาชิก 50,000 คน เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการอาหารในโรงเรียน แสดงความกังวลว่า ผลิตภัณฑ์ข้าวกล่องอาหารกลางวันใหม่นี้อาจได้รับการตอบรับในโรงเรียนบางแห่ง เนื่องจากขณะนี้หลายโรงเรียนในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน
นอกจากนี้ โฆษกฯ ยังกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นบริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์ข้าวกล่องที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านโภชนาการของโรงเรียนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่อยากให้มองว่าข้าวกล่องอาหารกลางวันของคราฟท์ ไฮนซ์ เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น โดยโรงเรียนควรจะเตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ให้กับนักเรียนในทุกวันเป็นตัวเลือกไปพร้อมๆ กันด้วย
ที่มา : Lunchables are going to be rolled out directly to students. Here’s what’s in them