พายเรือขึ้นภูเขา พิชิตโค้งและหุบเหวแล้วพาขึ้นฝั่ง
คุยกับครูเปีย ปรียานุช ครูสาวสุดแกร่งที่สู้เพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดี

พายเรือขึ้นภูเขา พิชิตโค้งและหุบเหวแล้วพาขึ้นฝั่ง

วันนั้นเวลาตี 5 กว่า ฟ้ายังไม่สาง อากาศกำลังเย็นฉ่ำ เราเดินทางมาตามนัดที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เพื่อพบคณะครูที่จะเดินทางขึ้นไปเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ ที่ยื่นขอทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“ขอโทษนะคะที่วันนี้ต้องออกเช้าหน่อย พอดีต้องไปบ้านเด็ก 12 ที่” ครูเปีย ปรียานุช คำเย็น ครูประจำแผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ หัวหน้าทีมคัดกรองเด็กทุนนวัตกรรมฯ เอ่ยกับเราด้วยน้ำเสียงสดใส 

12 ที่ไม่ใช่น้อย ๆ ขณะกำลังอ้าปากตกตะลึง ครูเปียก็อมยิ้มเอ่ยต่อว่า “อันนี้ถือว่าทางไม่โหดค่ะเลยไป 12 ที่ได้ เคยมีที่โหดกว่านี้ค่ะ” เราลอบอุทานในใจ คุยกันไม่นานครูเปียก็ชวนเราออกเดินทางทันที

จากอำเภอเมืองเชียงใหม่มุ่งสู่อำเภอแม่แตง ไต่เลี้ยวลดตามแนวเขาหลายร้อยโค้ง มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ บนดอยแห่งหนึ่งที่ไม่อาจบอกได้ว่าชื่ออะไร เพราะขนาดกูเกิลแมปส์ยังเขียนไว้เพียงว่า ‘ถนนไม่มีชื่อ’ 

หลังจากขับไปผิดทางนิดหน่อย ก็เจอเด็กหนุ่มท่าทางชำนาญทางขับมอเตอร์ไซค์พาไปส่งถึงบ้าน เด็กหนุ่มกล่าวทักทายแล้วพาคณะครูเข้าสู่บ้าน เป็นบ้านปูนชั้นเดียวค่อนข้างเก่า ข้างในบ้านปูด้วยเสื่อน้ำมันที่เริ่มมีรอยขาด เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น มีโทรทัศน์รุ่นเก่าเครื่องเล็กที่ใช้การไม่ได้วางอยู่บนตั่ง และตู้เก็บของที่ข้างบนเป็นหิ้งพระ 

คณะครูกล่าวทักทายคุณพ่อของเด็กหนุ่ม แล้วเริ่มต้นสอบถามข้อมูลคัดกรอง มีครูบิ๊กช่วยบันทึกข้อมูล และครูเบสออกไปถ่ายรูปบรรยากาศของบ้าน ราว 20 นาทีกระบวนการก็เสร็จ คณะครูรีบกระโดดขึ้นรถอีกครั้ง เหยียบคันเร่งมุ่งหน้าสู่บ้านเด็กคนถัดไปในอีก 200 กิโลเมตร

“วันนี้ครูว่าจะกลับถึงโรงเรียนกี่โมงคะ” เราถาม

“อาจจะสัก 4 ทุ่มค่ะ” ครูเปียตอบ ไร้แววเหนื่อยล้า

ครูเปีย ปรียานุช คำเย็น ครูประจำแผนกวิชาช่างเชื่อมโลหะ
หัวหน้าทีมคัดกรองเด็กทุนนวัตกรรมฯ

ก่อนวิทยาลัยจะได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

“ปีนี้เป็นเด็กทุนปีที่ 5 แล้วค่ะ” ครูเปียให้ข้อมูล “ทุนนี้เป็นทุนที่ดีมาก ๆ สำหรับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อาจจะมีน้อยที่เด็กตามชายขอบได้เข้ามาเรียนในวิทยาลัยใหญ่ที่มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน สื่อการสอน และครูที่มีความสามารถ แต่เราเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่เด็กเราจบไปแล้วเขามีโอกาสดี ๆ มีงานดี ๆ”

จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) พบว่า เด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน คือครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ต้องแบกรับรายจ่ายทางการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 22 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยรับภาระทางการศึกษาคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 ของรายได้ ครอบครัวยากจนจึงต้องรับภาระทางการศึกษามากกว่าครอบครัวที่ร่ำรวยถึง 4 เท่า 

ผลวิจัยจาก PISA for Schools ระบุว่าประเทศไทยมีเยาวชนที่มีศักยภาพจากครัวเรือนยากจนราว 357,500 คน ซึ่งคิดเป็น 60,000 คนต่อรุ่นของเยาวชนทั้งประเทศ “ถ้าเราร่วมกันค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้พบ และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ ผลักดันให้ไปถึงปลายทางคือการประกอบอาชีพตามศักยภาพได้สำเร็จ เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแบบให้เห็นว่า ถ้าได้รับการศึกษาที่ดี ต่อเนื่อง และตรงตามความสามารถที่มี เขาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับ และเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนได้” ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว

นั่นจึงเป็นที่มาของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ และเพื่อพัฒนาสถานศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ คือ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) รวมทั้งสาขาที่ขาดแคลนในพื้นที่สถานศึกษานั้น ๆ และสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) 

ทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือทุนให้เปล่าสำหรับเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ของประเทศ ให้ศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยช่วยสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน ในระดับ ปวช. 6,500 บาท/เดือน และระดับ ปวส. 7,500 บาท/เดือน 

ส่วนที่สองคือ ทุนพัฒนาสถาบันการศึกษาที่ผ่านการพิจารณาประมาณ 50 แห่ง เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพ การแนะแนวประชาสัมพันธ์ การค้นหาเยาวชนรอโอกาส ระบบดูแลการมีงานทำ ตลอดจนการส่งเสริมโอกาสการทำงานของผู้รับทุน ให้การสนับสนุนเชิงวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการทำงานระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ

“ทุนนี้ไม่ได้ให้กับเด็กอย่างเดียว แต่ให้วิทยาลัยด้วย เด็กทุนได้ด้วย เด็กปกติได้ด้วย เวลาอาจารย์ทำโครงการที่ให้ความรู้กับเด็กทุน เราสามารถให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่เด็กทุน” ครูเปียเล่า

แต่ทุนนี้มีจำกัด 2,500 ทุนต่อปี ดังนั้นทุกวิทยาลัยที่อยากได้ทุนจึงต้องเขียนโครงการอย่างละเอียดยิบ ครูเปียเล่าว่า ต้องมีรายละเอียดทั้งเรื่องแนวทางการดูแลและพัฒนาเด็ก หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง รวมหลายร้อยหน้าเพื่อส่งให้ทาง กสศ.พิจารณา หลังจากนั้นต้องผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดูว่าทางวิทยาลัยเหมาะสมที่จะรับเด็กทุนหรือไม่ 

“สัมภาษณ์เบื้องต้นเขาก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ call zoom มาสัมภาษณ์ เรามีความพร้อมไหม ห้องเรียนเราพร้อมไหม หอพักเราพร้อมไหม หลักสูตรเราร่วมกับสถานประกอบการจริง ๆ สถานประกอบการที่ร่วมจัดทำหลักสูตรดีไหม แล้วครูที่จะต้องไปตัดเกรดเด็กในสถานประกอบการได้รับวุฒิหรือเปล่า ผ่านการอบรมไหม คือเขาดูขนาดนั้นเลยค่ะ เขาถึงจะตัดสินใจที่จะให้ทุน” ครูเปียแจกแจงให้ฟังอย่างละเอียด

เมื่อวิทยาลัยได้ทุนมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการคัดกรองเด็ก

กว่าจะได้มาซึ่งเด็กทุน

ขึ้นเขาลงห้วยในสถานที่ไร้ GPS เยี่ยมบ้านเด็กแต่ละคน

“ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เพิ่งมีทุนนี้ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ยิ่งพอบอกว่าเป็นทุนให้เปล่ายิ่งไม่มีใครเชื่อ ผู้ปกครองยังเข้าใจว่าจะเป็นทุนกู้ยืมรึเปล่า จะต้องคืนไหม ไปแนะแนวหรือประชาสัมพันธ์ส่วนมากก็จะถูกปฏิเสธกลับมา เปลี่ยนความคิดผู้ปกครองค่อนข้างยาก” ครูเปียเล่าเท้าความ

ต่อเมื่อมีการเล่ากันปากต่อปากจากเด็กรุ่นแรกที่ได้รับทุน ว่ามีการสนับสนุนค่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือนจริง ไม่ใช่การกู้ยืม คนจึงสนใจสมัครกันเยอะขึ้นอย่างมาก 

“พอมาปีหลัง ๆ ในหมู่บ้านนี้ รุ่นพี่คนนี้นะ เคยไปเรียนแล้วได้ทุนนี้มา แม่เขาก็จะพูดเลย แม่อยากให้ลูกได้ ฝากครูด้วยนะ แม่ไม่ได้เรียนถ้าลูกแม่ได้เรียนแม่ก็จะดีใจ บางครอบครัวก็เป็นเด็กเพียงคนเดียวในบ้านที่ได้เรียนหนังสือ”

เมื่อให้เล่าถึงการเดินทางไปคัดกรองเด็กตั้งแต่ปีแรก ๆ ครูเปียทำสีหน้าจริงจังเล่าประสบการณ์ให้ฟังอย่างละเอียด

“ตอนนั้นเราไปอมก๋อยกัน 7 วัน ซึ่ง 7 วันนั้นเป็น 7 วันที่เราใช้ GPS ไม่ได้เลย เราต้องให้ผู้รู้ในตัวอำเภออมก๋อยวาดแผนที่ให้ แล้วพอเราจะไปอีกที่เราต้องเอาแผนที่อีกแผ่นมาต่อ 7 วันนั้นเราไปหาเด็กได้แค่ 4 คน”

ค่ำไหนก็กางเต็นท์นอนนั่น ขับผ่านเขาลูกแล้วลูกเล่า ผ่านโค้งหักศอกและหุบเหวลึก บางมื้อครอบครัวของเด็กก็ทำอาหารเลี้ยง และมักเป็นปลากระป๋องกับไข่เจียว 

“เราได้กินอย่างนี้ทุกบ้าน บ้านสุดท้ายเราก็เลยบอก แม่ อยากรู้เหลือเกินทำไมถึงต้องเป็นปลากระป๋องกับไข่เจียว เขาบอกว่าเพราะว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดของเขา กว่าเขาจะได้ปลากระป๋องมาหนึ่งอันเขาต้องเก็บเงิน หรือไข่ก็จะมีรถขึ้นมาขายบนดอยอาทิตย์ละครั้ง” ครูเปียเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

เมื่อไปถึงแต่ละบ้านแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการถามคำถามตามเกณฑ์คัดกรองที่ละเอียดยิบ

“ส่วนใหญ่เราก็จะถามตามเกณฑ์ที่เขาให้มา ฐานะทางบ้านเป็นยังไง ซึ่งมีเกณฑ์คือรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน บางบ้านทำนาเขาก็ไม่มีรายได้เป็นเดือน บางปีฝนแล้งอีก รายได้หาย เราก็ต้องประมาณตัวเลขให้เขา แล้วก็จะมีคำถาม เช่น บ้านเป็นลักษณะแบบไหน หลังคาเป็นแบบไหน ฝาบ้านเป็นแบบไหน มีห้องน้ำในตัวไหม มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง มีมอเตอร์ไซค์ไหม คือละเอียดยิบ และต้องถ่ายรูปให้เห็น” ครูเปียบอก

เกณฑ์ที่ละเอียดยิบแบบนี้นั้นมีที่มาที่ไป รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามอุปสงค์เล่าว่า แต่เดิมเกณฑ์ที่ใช้วัดความยากจนของเด็กคือรายได้ของผู้ปกครอง ซึ่งรวมกันแล้วจะไม่ต้องเกิน 40,000 บาทต่อปี แต่ปัญหาคือเด็กเกินร้อยละ 20-30 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่มีทั้งที่อยู่กับตายาย อยู่ที่วัด หรืออยู่ที่มูลนิธิก็มี ทำให้การถามรายได้ของผู้ปกครองกลายเป็นปัญหาในตัวเอง 

อีกปัญหาหนึ่งที่คณะทำงานพบคือ คำถามเรื่องรายได้เป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบยาก เพราะบางครัวเรือนทำงานเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือประกอบอาชีพรับจ้าง ดังนั้น ถ้าไม่ใช่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็อาจจะต้องไปทำงานอย่างอื่นแทน หรืออาชีพบางอาชีพก็มีความไม่แน่นอน บางปีมีรายได้มาก บางปีก็มีรายได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความยากในการประเมินรายได้

ดังนั้นทางทีมวิจัยจึงเสนอการใช้ เกณฑ์วัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับใกล้จน ระดับยากจน และระดับยากจนพิเศษ โดยคำนวณจากรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน บวกกับปัจจัยอื่น เช่น มีภาระพึ่งพิง (การมีคนพิการ / เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี มีคนอายุ 15-65 ปีที่ว่างงาน หรือเป็นพ่อ / แม่เลี้ยงเดี่ยว) ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มียานพาหนะ ไม่มีที่ทำกิน ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนจะถูกนำมาประมวลผลด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อหาคะแนนความยากจนของนักเรียนแต่ละคน

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงซึ่งเป็นทุนที่ให้แก่เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์จึงนำเกณฑ์นี้มาใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคัดกรองมากขึ้น

จาก 70 เอา 15 ประชุมทีมเพื่อคัดกรองอย่างเข้มข้น มี AI ร่วมช่วย

ข้อมูลของ กสศ.ระบุว่า ในปีการศึกษา 2565 มีสถานศึกษาสายอาชีพได้รับคัดเลือกเข้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจำนวน 116 สถานศึกษา 44 จังหวัด ครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย และมีเยาวชนจากครัวเรือนที่ยากจนได้รับทุน จำนวนประมาณ 9,427 ทุน 

แม้จำนวนทุนจะไม่น้อย แต่อย่างไรก็ยังมีอยู่จำกัด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ยากสำหรับคนเป็นครูคัดกรองคือตอนที่ต้องคัดชื่อเด็กออก 

“ปีแรก ๆ เป็นปีที่ทรมานใจมาก ไปหลังไหนน้ำตาไหลทุกหลัง คือเราอาจจะใหม่ด้วย ต้องไปเจอบ้านที่ยากจนจริง ๆ บางบ้านต้องกินหน่อไม้ต้มแทนข้าว เราเห็นแล้วใจเราอยากให้เขาจริง ๆ แต่พอหลัง ๆ มาเรามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้น เราจะบอกผู้ปกครองว่าไม่เป็นไร ถ้าเกิดว่าลูกไม่ได้ทุนนี้ ถ้าลูกแม่อยากเรียนจริง ๆ มีทุนอื่น ๆ อีกที่จะช่วยซัพพอร์ต เดี๋ยวเราจะหาให้

“ปีนี้สาขาช่างยนต์เราได้ 15 ทุน แต่มีเด็กสมัคร 70 คน ก็จะเริ่มคัดกรองจากใบสมัคร ดูว่าคนไหนไม่ผ่านคุณสมบัติ ทุนนี้เด็กจะต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้น แต่บางคนได้เกรด 2.60-2.70 แต่มีผลงานทางด้านวิชาการ เคยแข่งขันมาก่อน อย่างถ้าสมัครสาขาช่างยนต์ แล้วเคยไปแข่งขันเกี่ยวกับงานยานยนต์มา ก็ควรผ่านเกณฑ์ 

“เราจะคัดให้เหลือ 30 คนที่เราจะต้องไปเยี่ยมบ้าน เพราะถ้าเราไปเยี่ยมบ้านเยอะกว่านี้จะไม่มีเงินที่ซัพพอร์ตได้” ครูเปียกล่าว

หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการสอบสัมภาษณ์เด็ก โดยเชิญครูประจำสาขา นักจิตวิทยาเด็ก ตัวแทนจากสถานประกอบการ ผู้อำนวยการ และกรรมการสถานศึกษา เข้ามาสอบสัมภาษณ์เด็กร่วมกัน 

นอกจากนี้ยังมีการประชุมทีมครูทั้งหมดเพื่อนำเสนอเรื่องราวของเด็กแต่ละคนผ่านสไลด์ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อคัดเลือกให้ได้ตามจำนวนโควตา

“เวลาเราประชุมรวมกัน เราก็สามารถคัดเด็กได้ว่าเด็กคนนี้ยากจนจริง ๆ เขามีความต้องการอยากได้ทุนนี้จริง ๆ อย่างบางคนอยู่กับพ่อกับแม่แต่ก็ยากจน บางคนยากจนและมีแม่คนเดียวที่ต้องเลี้ยงน้อง 3-4 คน ครูแต่ละคนก็จะมีดาวในใจ ก็มาดูว่าเด็กแต่ละคนครูแต่ละคนเห็นตรงกันมากน้อยแค่ไหน” ครูเปียเล่าบรรยากาศการคัดกรอง

ขณะเดียวกันทาง กสศ. ก็จะใช้ระบบ AI ในการคัดกรองเด็กเช่นกัน เมื่อมาเทียบกับที่คณะครูเป็นผู้คัดเลือก เด็กคนไหนที่ได้รับเลือกจากทั้งคณะครูและระบบ AI ก็จะเป็นเด็กทุนตัวจริง และบางวิทยาลัยก็คัดกรองเข้มข้นถึงขนาดให้เด็กเข้าค่ายกินนอนเพื่อดูพฤติกรรมด้วย

ต้องส่งเด็กให้ถึงฝั่ง

งานของครูผู้ดูแลโครงการยังไม่จบ เมื่อรับเด็กทุนเข้ามาแล้ว แต่ละปีก็ต้องจัดทำโครงการเพื่อดูแลและพัฒนาเด็กด้วย เช่น โครงการปรับปรุงบุคลิกภาพ โครงการออมเงิน ซึ่งต้องทำรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณและการเบิกจ่าย และต้องรายงานผลกับ กสศ. 3 รอบต่อปี 

“ไม่น่ามีทุนไหนละเอียดขนาดนี้แล้ว วิทยาลัยเทคนิคมีเด็กทุน 5 รุ่น แต่ละปีมีทุนอยู่ 2 ประเภท (ปวช. และ ปวส.) ซึ่งเราต้อง top-up งานของเราไป 2 เท่า แต่ทางกองทุนเขาก็จะมีทีมหนุนเสริมเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำ และมีการอบรมครูด้วย เช่น อบรมเรื่องการคัดกรอง อบรมเรื่องการเงิน การเบิกจ่าย อบรมการเป็นครูที่ปรึกษาเด็ก เราจะมีการพูดคุยกับเด็กยังไงเวลาเขามีปัญหา ทำไมเธอไม่มาเรียน อย่าพูดแบบนี้กับเด็ก ต้องพูดว่า ครูเป็นห่วงเราเหลือเกิน แล้วทุก ๆ ปีก็จะมีการประเมินเป็นภาพรวม” ครูเปียกล่าว

การดูแลให้เด็กทุนเรียนได้ตลอดรอดฝั่งนั้นเป็นหน้าที่สำคัญอีกอย่างของคนเป็นครู ครูเปียเล่าว่าโดยปกติจะ​​มีการเยี่ยมเด็กที่หอพักเพื่อดูความเป็นอยู่ทุกวัน และติดตามเรื่องผลการเรียนของเด็กในทุกเทอม ก่อนเกรดจะออก เพื่อให้เด็กรักษาเกรด 2.50 ตลอดไปจนจบตามเงื่อนไขทุน

ครูเปียเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วเด็กทุนมักผ่านฉลุย แต่ก็มีบางคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตใจและกระทบกับการเรียน

“มีเด็กบางคนเริ่มไม่มาเรียน เราเป็นครูเราอาจจะไม่ค่อยเข้าใจบริบทเขา เขามีปัญหาฝังใจอะไร เราก็จะให้เขาคุยกับนักจิตวิทยาเด็ก ซึ่งนักจิตวิทยาก็ได้จากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เขาทำ MOU กับกองทุนนี้อยู่ 

“พอเขาคุยเสร็จ เขาก็เล่าให้เราฟังว่า เด็กคนนี้มีภาวะที่ไม่สามารถเข้าสังคมได้ พอเขาไม่อยากเข้าสังคมก็จะไม่ค่อยอยากมาเรียน แล้วนักจิตวิทยาก็จะนัดให้เด็กคนนี้มารับการบำบัดต่อ

“อย่างหนักสุดก็คือมาบอกเราว่า ผมไม่เรียนแล้วผมจะไปแต่งงาน เราก็จะให้นักจิตวิทยามาลองคุย ซึ่งทาง กสศ. เขาก็มีเกณฑ์ว่าจะต้องให้นักจิตวิทยามาคุยถึง 3 ครั้ง กว่าจะยอมให้เด็กหลุดทุน และทั้ง 3 ครั้งต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งว่ามีการปรับเปลี่ยนยังไง

“พอถึงครั้งที่ 3 คุณครูที่เป็นนักจิตวิทยาบอกว่า อาจารย์เปียคะ เด็กมีความมุ่งมั่นที่จะอยากกลับไปประกอบอาชีพ เพราะพอถามเขาว่าวางแผนอนาคตยังไง เขาตอบได้เป็นฉาก ๆ ว่าอนาคตเขาจะทำยังไง เขาจะช่วยเหลือพ่อแม่ยังไง ถึงแม้เขาต้องเสียเงินในการชดใช้ทุนเยอะ แต่เราต้องปล่อยเขาไป เขาวางแผนสำหรับอนาคตเขาไว้หมดแล้ว

“ถามว่าเราอยากรั้งไว้ไหม เราอยากรั้งทุกปี เรารั้งทุกครั้ง เราคุย เราตาม แต่บางทีคือเขาไม่ไหวจริง ๆ เราก็ต้องปล่อยให้เขาไป คือเราดูแล้วว่าความสุขของเขาน่าจะอยู่จากการที่เราปล่อยมือเขามากกว่า แล้วมันก็ไม่ส่งผลกระทบกับตัวเขามาก” ครูเปียกล่าวด้วยความเข้าใจ

สำหรับเรื่องสุขภาพจิตนั้นทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุนฯ ให้มีสุขภาพจิตที่ดี

แพทย์หญิงศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า นอกจากการดูแลนักเรียนทุนแล้ว ยังดูแลเรื่องการพัฒนาบุคลากรในวิทยาลัยอาชีวะที่อยู่ในโครงการให้มีศักยภาพในการเป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้ โดยจะมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตในพื้นที่ที่พร้อมรับรู้ปัญหาของนักเรียนทุนแต่ละคน 

“ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้คำปรึกษาในเบื้องต้นและวินิจฉัยพิจารณาส่งต่อในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยหรือปัญหาที่รุนแรง เพื่อให้เด็กได้พบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือสถานบริการในพื้นที่ที่เหมาะสมกับปัญหาของเขา นั่นหมายถึงทีมของเราจะสร้างระบบการดูแลที่ครอบคลุมปัญหาสุขภาพจิตในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงทั้งหมด” แพทย์หญิงศุทรากล่าว

อีกเรื่องที่ครูต้องดูแลคือการหาที่ทำงานของเด็กหลังเรียนจบ โดยทุนนวัตกรรมฯ มีการสนับสนุนให้เด็กฝึกงานกับสถานประกอบการจริง เพื่อโอกาสในการทำงานต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระบุว่า ทุนนี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสการมีงานทำเป็นหลัก ให้สถานศึกษาร่วมกับสถานประกอบการพัฒนานักเรียนให้สามารถเข้าทำงานกับสถานประกอบการได้โดยตรง มีงานทำทันทีเมื่อเรียนจบ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ปัจจุบัน กสศ. เปิดรับสมัครผู้รับทุนการศึกษา ปีการศึกษา 2566 เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. จำนวน 116 แห่ง ใน 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานระดับประเทศและท้องถิ่น เช่น สาขาเครื่องกล สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาเทคนิคการผลิต สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาอุตสาหกรรมเกษตร และมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา

“พอเด็กจบไปฝึกงานที่บริษัทนี้ 3 เดือน ถ้าสมมติว่าบริษัทชอบ ก็คุยกันเรื่องจ้างงานต่อ ถ้าไม่โอเคกับเด็กเราก็ไม่เป็นไร ให้เขาหาที่ใหม่ได้ แต่ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีมาก ส่วนใหญ่สถานประกอบการที่เด็กเราทำงานก็จะจ้างต่อเลย” คือคำบอกเล่าของครูเปีย ที่ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายโครงการที่ตั้งไว้นั้นประสบความสำเร็จไม่น้อยเลย

ทุนที่มอบโอกาสให้เป็นครู

“ครูเปียมาเป็นครูเพราะอะไร” 

เราถามคำถามง่าย ๆ ปิดท้ายการสนทนา หลังฟังเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อและความทุ่มเทจากครูสาวผู้นี้มาพักใหญ่

ครูเปียอมยิ้มก่อนตอบ “จริง ๆ ต้องบอกก่อนว่าเราอยากทำงานในโรงงาน อยากเป็นผู้จัดการโรงงานสักที่นึงหลังจากเรียนจบ แต่ว่าสอบได้ทุนมาเป็นครู เป็นทุนที่พอเรียนจบปุ๊บ ได้มาบรรจุเป็นข้าราชการเลย 

“พอได้เข้ามาทำงานเป็นครูก็รู้สึกชอบการถ่ายทอดความรู้ เหมือนกับว่าฉันรู้ตรงนี้ ฉันมีเทคนิคนี้ ฉันอยากให้เขาได้รู้เทคนิคที่มากกว่าเดิมที่เขามี การได้ถ่ายทอดและเด็กเอาไปใช้ได้ อันนั้นเหมือนเป็นความภูมิใจ ชอบเวลาเด็กเดินเข้ามาถาม อาจารย์ผมเชื่อมแบบนี้โอเคไหม รอยเชื่อมของผมสวยกว่าอาจารย์นะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราซึมซับความเป็นครูเข้ามา

“เรารู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่เด็กจบไปแล้วเขามีโอกาสดี ๆ มีงานดี ๆ บางปีเด็กเราก็เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับชาติ ได้รับรางวัล จากเด็กที่เราไปบ้านเขาวันนั้น เด็กที่เราหยิบยื่นโอกาสให้เขาวันนั้น เขาได้โอกาสแล้วเขาก็ทำมันอย่างเต็มที่ สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน มันเป็นความภูมิใจหนึ่งสำหรับครูทุกคนที่เข้ามาทำทุนนี้ ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่ากับความสุข คุ้มค่ากับโอกาสที่เราให้กับเด็ก” ครูเปียตอบด้วยรอยยิ้ม

*ปัจจุบันทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้สร้างเยาวชนผู้มีผลงานและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย เช่น งานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญทอง’ อุปกรณ์กายบำบัดการเดินป้องกันการหกล้มด้วยสปริง 2+2 ทิศทาง, รางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญเงิน’ อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินป้องกันการหกล้มด้วยสปริง 4 ทิศทาง และรางวัลชนะเลิศ ‘เหรียญทองแดง’ เครื่องผลิตไฟฟ้า 2 Generator ระบบพลังงานหมุนเวียนด้วยวงล้อ Flywheel และ Universal Motor

หรือในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ World Skills Thailand ครั้งที่ 29 ระดับภาคกลางและภาคตะวันออก นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสาขาอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ก็ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันสาขาแมคคาทรอนิกส์ (ประเภททีม), รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การแข่งขันสาขาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (ประเภททีม) รวมถึงรางวัลชนะเลิศและรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การแข่งขันสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (ประเภทบุคคล)