ทางเข้าศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีบานประตูเหล็กสีน้ำเงินหนาทึบสูงตระหง่าน กั้นแบ่งขอบเขตอิสรภาพไว้จากจองจำ ณ ปัจจุบันในปีการศึกษา 2566 ที่นี่มีเด็กเยาวชน 167 คน ที่ต่างใช้เวลาของตนอยู่ภายในนี้
ประตูเหล็กบานนี้เป็นผลงานของน้อง ๆ สาขาช่างเชื่อมโลหะในโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่เป็นความร่วมมือของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิปัญญากัลป์ ที่ช่วยกันสร้างพื้นที่จัดการศึกษาเสมอภาคและพัฒนาทักษะชีวิตให้กับน้อง ๆ ในพื้นที่ ‘ปิด’ ให้เป็นพื้นที่ ‘เปิดรับ’ กลุ่มเด็กเยาวชนที่เข้ามา ให้รู้สึกอยากเข้าใกล้การศึกษามากกว่าเดิม
“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ประโยคนี้หากมองเป็นวาทกรรม ก็เป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่พวกเราอยากทำให้เด็กและเยาวชนทุกคน ไม่ว่าเป็นใครหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ ‘ดี’ ‘มีคุณภาพ’ และ ‘เหมาะสม’ กับตัวเอง
เมื่อย้อนกลับมาที่การลงมือ พวกเราระดมความคิด ระดมข้อมูล และงานวิชาการ เพื่อค้นหาและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่มีทางเลือกและเปิดกว้างด้วยระบบที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งชีวิต เป้าหมาย และมีวุฒิบัตรรับรองการสำเร็จการศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเรื่องจริง
มันไม่ใช่งานบนเส้นทางราบรื่นดังที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ได้เคยพูดไว้ว่า “การจะทำให้การศึกษาทะลุฝ่ากำแพงหนาทึบและปิดสนิทเข้าไปได้ เป็นโจทย์ที่ยากด้วยข้อจำกัดนานัปการ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือ มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและทรงพลัง เพื่อให้การศึกษาเข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ” และไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ เพื่อรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม มีการดูแลติดตามต่อเนื่องหลังกลับออกไปใช้ชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าน้อง ๆ ทุกคน จะพบที่ทางของตนในสังคม ไม่เวียนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีก
รูปแบบการเรียนรู้ที่ ‘ยืดหยุ่น’ ตอบโจทย์เด็กเยาวชนที่หลุดหล่นจากการศึกษาระหว่างทาง
เป็นเวลา 71 ปีแล้ว ที่กรมพินิจ ฯ จัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งเด็กเยาวชนในสถานพินิจ ฯ ที่อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาจากศาล และเด็กเยาวชนที่ศาลมีคำสั่งให้อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนซึ่งมีอยู่ 21 แห่งทั่วประเทศ โดยมีหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. และหลักสูตรฝึกอาชีพ
แม้ที่ผ่านมา จะมีเด็กเยาวชนจำนวนหนึ่งสามารถเรียนรู้จนสำเร็จการศึกษา แต่ยังนับเป็นจำนวนไม่มาก เนื่องจากปัญหาสำคัญคือเด็กเยาวชนส่วนใหญ่มักหลุดจากระบบการศึกษากลางทาง มีเหตุให้พ้นจากโรงเรียนระหว่างช่วงชั้น เช่น หลุดตอน ม.1 เทอม 2 หรือ ช่วง ม.2 เทอมแรก บ้างก็ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว แต่มาหลุดเอาตอน ม.3 เทอม 2 ซึ่งการเรียนด้วยหลักสูตร กศน. พวกเขาจำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการเรียนให้ครบทั้งหลักสูตรในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
กระทั่งในปี 2563 กสศ. มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาผ่านโครงการย่อย 66 โครงการ ในจำนวนนี้มี 20 โครงการที่ทำงานร่วมกับกรมพินิจ ฯ หนึ่งในนั้นคือการทำงานกับศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ที่ริเริ่มจัดการศึกษาตามความสนใจและความถนัดผ่านระบบ ‘ศูนย์การเรียน’ จนกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้เห็นว่าการจัดการศึกษาตามความสนใจและความถนัด ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม คือรูปแบบการศึกษาที่อาจเป็นทางออกสำหรับผู้เรียนที่หลุดหล่นจากระบบการศึกษากลางทาง
จากนั้นในปี 2564 ศูนย์การเรียนซีวายเอฟ ได้ร่วมกับจังหวัดนครพนม ทำโครงการ ‘นครพนมโมเดล’ ที่ใช้การศึกษาในรูปแบบการเทียบเคียงประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางของผู้เรียน มาใช้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึงเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จนประสบความสำเร็จและเป็น ‘ต้นแบบ’ การพัฒนาการจัดการศึกษาให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ที่กรมพินิจฯ และ กสศ. นำมาทดลองใช้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทำให้มีเด็กเยาวชนที่สำเร็จการศึกษา 101 คน ในปีการศึกษา 2565
ด้วยระบบ ‘ศูนย์การเรียน’ ที่มีความยืดหยุ่น ทำให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิต และเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้ เมื่อเด็กพ้นออกไปจากที่นี่ ก็สามารถกลับไปศึกษาต่อที่สถาบันเดิมได้ทันที รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาขณะอยู่ข้างใน ก็จะได้วุฒิบัตรไปใช้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือใช้ต่อยอดสมัครทำงานกับสถานประกอบการได้
พลิกโฉมการศึกษา… เปลี่ยน ‘ศูนย์ฝึกฯ’ เป็น ‘ศูนย์การเรียน’ เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’
ในเชิงโครงสร้าง การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะพัฒนาผ่าน 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.)ยกระดับศูนย์ฝึกฯ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ 2.)เปลี่ยนผู้บริหารสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ที่สามารถออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมและมองภาพรวมการจัดการศึกษาได้ในทุกมิติ 3.)เปลี่ยนผู้ดูแล เป็นครูนักจัดการเรียนรู้ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และ 4.)พัฒนาเด็กเยาวชนในกระบวนการให้เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้กรอบการพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ขับเคลื่อนผ่าน 6 แผนงานสร้างโอกาสทางการศึกษาบนพื้นฐานของความเสมอภาค ดังนี้
- ครูเป็น ‘โค้ชชีวิต’ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึก สามารถดูแลเด็กเยาวชนได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นเส้นทางชีวิตชัดเจนขึ้น และเชื่อมโยงให้เข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง
- จัดการเรียนการสอนและประเมินผลเช่นเดียวกับสถานศึกษาทั่วไป มีหลักสูตรวิชาชีพรองรับ มีการเทียบประเมินประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนนำหน่วยวิชาชีพมาเทียบเป็นเครดิตใช้ศึกษาต่อและรับวุฒิบัตรได้
- จัดการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มีโปรแกรม ‘young boots-up’ ร่วมกับสถานประกอบการ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด ได้ลองทำงานจริง ฝึกประสบการณ์ในสถานที่จริง
- เรียนรู้วิชาชีวิต ส่งเสริมทักษะชีวิตทั้งมิติสุขภาพจิต ภาวะอารมณ์-ปัญญา เพื่อพัฒนาพฤติกรรมเชิงบวก โดยพัฒนาเครื่องมือเพิ่มเติม 11 ชิ้น เพื่อยกระดับให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการสามารถตั้งคำถาม-หาคำตอบ และกำหนดเป้าหมายด้วยตัวเองได้
- เชื่อมโยงชุมชนสร้างกระบวนการติดตามหลังกลับคืนสู่สังคม โดยทำงานกับชุมชนปลายทางผ่านกลไก ‘ชุมชนโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก’ และผลักดันการทำงานเชิงนโยบายระดับจังหวัด กำหนดนโยบายคุ้มครอง สร้างการยอมรับในสังคม ลดความเสี่ยงของการกระทำผิดซ้ำ และผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายปรับตัวในสังคมอย่างมีคุณภาพ
- ฐานข้อมูลและงานวิจัย 3 ด้าน คือ วิจัยเชิงระบบเพื่อสังเคราะห์ภาพรวมการทำงาน วิจัยกลุ่มเป้าหมายเพื่อศึกษาความต้องการและการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมะสม และ วิจัยครูผู้จัดการเรียนรู้โดยวิเคราะห์พัฒนาการด้านสมรรถนะการจัดการเรียนรู้
นอกจาก 6 แผนงานดังกล่าว ในการดูแลน้อง ๆ อย่างต่อเนื่อง กสศ. ยังสนับสนุนให้เกิด ‘แผนงานที่ 7’ ผ่าน ‘ทุนสานฝันปันโอกาส’ ให้กับเด็กเยาวชน 1,081 คนทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียน และผลักดันให้ได้ศึกษาต่อแม้เมื่อพ้นจากความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนออกไป ในระบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี ‘พื้นที่แห่งโอกาสทางการศึกษา และโอกาสชีวิตใหม่’
“เด็กเยาวชนทุกคนเคยเชื่อว่า ใครที่ก้าวเท้าผ่านเข้ามาในศูนย์ฝึกฯ หรือสถานพินิจฯ ความฝัน ความหวังที่เคยวาดเคยมีจะดับสิ้นลงไปทันที ขณะที่เราในฐานะผู้ดูแลเยาวชนเหล่านี้ เชื่อว่าความผิดพลาดหรือชีวิตที่หักเหของเด็กเยาวชนในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับ ทั้งโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาศักยภาพในตัวเอง หรือการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดด้วยความรักความเข้าใจ และมูลเหตุเหล่านี้คือต้นทางอันซับซ้อนที่ทำให้เกิดปัญหารูปแบบอื่น ๆ ตามมา”
นี่คือเรื่องเล่าจาก จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ที่เล่าให้ฟังถึงหลักการทำงานของศูนย์ฝึกฯ ก่อนพาเราเข้าไปเยี่ยมเยือนข้างใน เพื่อดูว่าด้านหลังบานประตูเหล็กที่มีกำแพงรั้วสูงทึบ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่ปิดกั้นโอกาส ในวันนี้เมื่อเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนกลายเป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้อันหลากหลาย’ น้อง ๆ เยาวชนข้างในจะมีช่องทางเข้าถึงการพัฒนาตนเองในรูปแบบใดบ้าง
ที่นี่แบ่งการดูแลเด็กเยาวชนออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจาก ‘ระยะแรกรับ’ (Orientation Stage) เมื่อน้อง ๆ เข้ามาจะมีการตรวจร่างกาย ดูแลเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย มีครูที่ปรึกษา (นักจิตวิทยา) พาเข้าสู่กิจกรรมบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ร่างกาย ความคิด และทบทวนตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนเข้าสู่ ‘ระยะฝึกอบรม’ (Intermediate Stage) ด้วยการจัดการศึกษาทั้งสายสามัญ (กศน., อุดมศึกษา, ศูนย์การเรียน) ควบคู่กับการฝึกอาชีพ ในสาขาช่างเชื่อมโลหะ ช่างไม้และก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า ดนตรี ศิลปหัตถกรรม ช่างตัดผม การเกษตร การช่างสตรี กีฬาและ E-sports เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นให้เลือกเรียนตามความสนใจ ได้แก่ หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ทำอาหาร เบเกอรี ช่างตัดเย็บ นวดเพื่อสุขภาพและแปรรูปสมุนไพร คอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างอาชีพ โดยระหว่างการศึกษาวิชาการและวิชาชีพ น้อง ๆ จะได้รับการดูแลด้านจิตใจ สุขภาพร่างกาย และฝึกวินัยในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ มีครูที่ปรึกษา นักบำบัดจิต นักสังคมสงเคราะห์ คอยอภิบาลสนับสนุนเพื่อเตรียมพร้อมกลับคืนสังคม
เข้าสู่ ‘ระยะเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว’ (Pre-Release Stage) สำหรับคนที่เหลือเวลาในศูนย์ฝึกฯ ไม่เกิน 6 เดือน จะมีกิจกรรมฝึกทักษะชีวิต-สังคม ความเข้มแข็งทางใจ แนะแนวการศึกษาต่อ เส้นทางอาชีพที่น่าสนใจ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนเข้ามาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ รวมถึงร่วมวางแผนติดตามน้อง ๆ หลังออกไปจากศูนย์ฝึกฯ ครอบคลุม 5 ด้าน คือที่อยู่อาศัย ชุมชน การศึกษา/การทำงาน ครอบครัว และความสัมพันธ์ทางสังคมกับการใช้เวลาว่าง
แล้วเมื่อถึงกำหนดออกจากศูนย์ฝึกฯ จะเป็น ‘ระยะการติดตามภายหลังปล่อย 1 ปี’ (The follow-up assistance after release Stage) โดยประสานผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง สถานพินิจฯ สถานศึกษา และสถานประกอบการปลายทาง พร้อมกับผลักดันติดตามสนับสนุนทางวิชาชีพ และเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ชีวิต เพื่อร่วมกันดูแลจนเด็กเยาวชนสามารถตั้งหลักด้วยตัวเองได้ มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งด้านสภาพจิตใจและการประกอบภารกิจด้านการศึกษาหรือการทำงานอย่างมั่นคง
“ภารกิจของเราคือต้องช่วยให้เด็ก ๆ ค้นพบโอกาส พบทางรอดใหม่ ๆ ทางสังคมด้วยการศึกษา การฝึกอบรมอาชีพตามความสนใจและความถนัด และไม่เพียงแค่เรียนจบได้วุฒิการศึกษา แต่ยังต้องมีกระบวนการติดตามเมื่อเด็กกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง เพื่อติดตามว่าการศึกษา การพัฒนาตนเองของเขายังเดินหน้าไปต่อได้ สามารถเรียนต่อได้ด้วยวุฒิที่มี มีงานทำและมีรายได้จากทักษะที่ได้รับการฝึกฝน ซึ่งเมื่อไปถึงจุดนั้น หมายถึงเราสามารถคืนความฝันความหวังให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ได้สำเร็จ” จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง
แนวทางการออกแบบการศึกษาของ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี’ แสดงให้เห็นว่า ‘กำแพง และบานประตู’ ที่เคยเป็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘อิสรภาพ’ และ ‘จองจำ’ วันนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดภาพจำใหม่ โดยที่อีกฟาก ‘กำแพง และบานประตู’ เดียวกันได้กลายเป็นพื้นที่แห่ง ‘โอกาส’ ซึ่งไม่ใช่แค่โอกาสของน้อง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม หากแต่เป็นจุดเริ่มของการ ‘เปลี่ยนแปลงการศึกษา’ ที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ความสนใจของแต่ละคนได้ เป็นตัวอย่างการทะลุเส้นแบ่งของคำว่าเด็ก ‘ในระบบ’ หรือ ‘นอกระบบ’ เหลือเพียงรูปแบบการศึกษาที่มีทางเลือกโดยมีเด็กเยาวชนเป็น ‘ที่ตั้ง’ มีลู่ทางเดินหลากหลายให้พวกเขาพัฒนาทักษะที่มาจากความต้องการภายในอย่างแท้จริง ซึ่งกรมพินิจ ฯ และภาคีเครือข่ายของ กสศ. ได้ทำให้เห็นผลลัพธ์ความสำเร็จของเด็กกลุ่มหนึ่งที่ก้าวเดินล่วงหน้ากันไปแล้ว