เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปในการประชุมสามัญ ประจำปี 2565 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นรางวัลนานาชาติ ที่จัดมอบให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต รวม 11 คน ทุก ๆ 2 ปี โดยพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้น ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ซึ่งครูที่ได้รับพระราชทานรางวัล จาก 11 ประเทศ ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม ครูโมฮัมหมัด อาเมียร์ อิรวาน บิน ฮาจิมุกซิน, ราชอาณาจักรกัมพูชา ครูเฮ ชาคริยา, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ครูฮาริสดายานิ, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครูกีมเฟือง เฮืองมะนี, ประเทศประเทศมาเลเซีย ครูไซฟุลนิซาน เจ๊ะ อิสมาอิล, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ครูดอว์ เอ ซู วิน, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ครูเจอร์วิน โอ. วาเลนเซีย, สาธารณรัฐสิงคโปร์ ครูชอง หลวน เพนนี, สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ครูฟิโลมีนา ดา คอสตา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ครูเหงียน หมั่น หุ่ง
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาดำเนินการคัดเลือกครูผู้ สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างปี 2565 – 2566 โดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 77 จังหวัด และองค์กรที่มีรางวัลระดับประเทศ 7 องค์กร ซึ่งพิจารณาให้ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านมอโก้คี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และทำหน้าที่ครูนิเทศก์ ใน 5 ศูนย์การเรียน และห้องเรียนสาขาที่บ้านมอโก้ใหม่ อ.ท่าสองยาง โดยจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในชุมชน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวทีประชาคมหมู่บ้านทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการทำลายป่า ส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจรและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ครูนิวัฒน์อุทิศทั้งชีวิตของการเป็นครูบนดอยสูง มากกว่า 21 ปี และบุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 5 แห่ง ซึ่งแต่ละศูนย์อยู่ห่างกัน 7 – 10 กิโลเมตร ด้วยความมุ่งมั่นว่า “อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยให้ความรู้ที่จะติดตัวนักเรียน ไปตลอดจนหมดลมหายใจ”
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังพิจารณามอบรางวัลคุณากร จำนวน 2 ราย คือ ครูอุดร สายสิงห์ ครูผู้เป็นที่รักและศรัทธายิ่งของศิษย์ผู้ปกครอง และชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา และครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูยุคใหม่ผู้สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อการรักถิ่น เน้นความมีตัวตนและความสำเร็จของเด็กทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ ณ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อ.เมือง จ.ตราด
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เพิ่มประเทศเพื่อเสนอชื่อครูเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในครั้งที่ 6 ปี 2568 อีก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ ภูฎาน และมองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการตามพระราชดำริด้านการศึกษา และในรอบปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายครูรางวัล อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือของสภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านระบบอาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน การใช้สื่อและกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพลังครูและอาสาสมัครใน 14 จังหวัดทดลองนำร่อง ครอบคลุมโรงเรียนเป้าหมาย 1,619 แห่ง