‘Equity Opportunity Day ครั้งที่ 3’ เปิดประสบการณ์เหล่านวัตกร เมื่อโจทย์การศึกษาคือปัญหาร่วม และแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะ

‘Equity Opportunity Day ครั้งที่ 3’ เปิดประสบการณ์เหล่านวัตกร เมื่อโจทย์การศึกษาคือปัญหาร่วม และแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะ

ท่ามกลางโจทย์ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education: ABE) เป็นหนึ่งในวิธีการทำงานที่เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ และประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ ‘เจ้าของปัญหา’ รวมถึงร่วมบริหารจัดการศึกษา เพื่อพัฒนากลไกการทำงานระดับพื้นที่ กระทั่งนำไปสู่ต้นแบบเชิงนโยบายกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา

นี่คือการกลับมาอีกครั้งกับ Equity Opportunity Day ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา โดย Equity Lab กองทุนเพื่อความเสมอทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Disrupt Technology Venture เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ด้วยโจทย์ ‘นวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดพะเยา สุรินทร์ และปัตตานี’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของเพื่อนภาคี กสศ.

กิจกรรมในครั้งนี้เริ่มจากการชวนนวัตกรแต่ละคนทำความรู้จักร่วมกัน เรียนรู้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ก่อนจะนำสู่ปัญหาใน 3 จังหวัด โดยมี School of change maker และ Change Lab ช่วยคลี่ให้เห็นรายละเอียดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเหล่านวัตกรได้รับข้อมูลของแต่ละพื้นที่แล้ว จึงเลือกโจทย์ตามความสนใจและระดมความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาพื้นที่นั้นๆ เพื่อการคิดอย่างเป็นระบบและแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร

ด้วยเหตุนี้ Equity Lab ชวนสนทนากับเหล่านวัตกรทางการศึกษาในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เผชิญกับปัญหาอย่างใกล้ชิด ผู้คลุกคลีกับแวดวงการศึกษา หรือกระทั่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งโจทย์ในครั้งนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่รอการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการศึกษาสู่การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างมีคุณภาพ รวมถึงกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการ

ปัญหาในพื้นที่ของเขากับปัญหาของเราไม่ต่างกัน

“การนำเสนอปัญหาวันนี้ ทำให้เรารู้ว่าปัญหาในพื้นที่ของเขากับปัญหาของเราไม่ได้ต่างกันเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจ การยอมรับของผู้ปกครอง หรือเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา แต่เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงการศึกษา หรือสภาพพื้นที่ที่ต่างกัน ทำให้การมองเห็นปัญหาของเขาอาจจะดูใหญ่กว่า แต่ปัญหาไม่ต่างกันเลย”

ชินอนงค์ ประชุมชิต อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก) และทำวิจัยเรื่องระบบเปลี่ยนผ่านนักเรียนออทิสติกในช่วง 10 ปีแรกของศูนย์วิจัยฯ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ ชินอนงค์สนใจจังหวัดพะเยาที่มีโจทย์การพัฒนานวัตกรรมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จากจุดร่วมกันของปัญหาในพื้นที่ทำงานของตัวเองและพื้นที่ทำงานของ กสศ. นั่นคือ

ชินอนงค์ ประชุมชิต อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก)

“เด็กออทิสติกที่ออกจากระบบการศึกษาไป มักเกิดจากความสมัครใจหรือการตัดสินใจของผู้ปกครองทั้งสิ้น เพราะเขามองไม่เห็นว่าจะมีแนวทางไหนให้ลูกเขาไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเมืองหรือโรงเรียนต่างจังหวัดก็ตาม ถ้ายังมีปัญหาตรงนี้อยู่ เด็กก็จะขาดโอกาสอยู่ดี”

ขณะที่การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดพะเยามีโจทย์สำคัญคือเด็กออทิสติกในศูนย์การเรียนรู้พิเศษ ซึ่งเด็กเหล่านี้มาเรียนตามความสะดวกของพ่อแม่ในการรับ-ส่ง และการเรียนในโรงเรียนรวมไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของพวกเขาได้ แนวทางการพัฒนานวัตกรรมจึงจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้อย่างทันท่วงที เด็กสามารถดูแลตัวเองได้ กระทั่งยกระดับสู่การประกอบอาชีพ

“จากที่ฟังข้อมูล เราคิดว่าจะต้องแบ่งกลุ่มปัญหาที่แยกย่อยมากขึ้น โดยแบ่งเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครู กับกลุ่มเด็กโตที่เน้นการฝึกอาชีพตามความสามารถที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน เราต้องเลือกก่อนว่าจะทำงานกับเด็กกลุ่มไหน แล้วค่อยเอาวิธีการและนวัตกรรมเข้ามา

“เราต้องย้อนกลับไปจัดโครงสร้างความคิดเขาใหม่ ซึ่งเราอาจเอาเทคโนโลยีมาใช้ตรงนี้ได้ คือทำยังไงให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น เขาเรียนรู้ผ่านภาพได้ดีไหม โดยมีคนฝึกสอนงาน (job coach) หรือเป็น AI ที่ไม่ใช่แค่แชทบอท เพราะเด็กบางคนอ่านไม่ได้ อันนี้เป็นไอเดียหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะพัฒนาได้

“กรณีการฝึกสอนงานจะใช้ได้เฉพาะกับเด็กที่สื่อสารรู้เรื่อง สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างดี แต่ถ้าเป็นเด็กที่ระดับความสามารถต่ำลงมา เราต้องหาแนวทางอื่น โดยปรับนวัตกรรมที่เน้นไปยังผู้ปกครองหรือครู เพื่อให้พวกเขาทำงานกับเด็กอีกทอดหนึ่ง”

แก้ปัญหาให้ตรงความต้องการและเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

“เวลาที่เราทำความเข้าใจบริบทหรือกลุ่มเป้าหมายที่เราไปเก็บข้อมูล เราอาจมองว่าตรงนั้นเป็นปัญหา แต่ในทางกลับกัน กลุ่มเป้าหมายนั้นเขามองว่าเป็นปัญหาไหม ถ้าเขามองว่าเป็นปัญหา แล้วมุมมองของเขาต่อสิ่งที่เขาเผชิญหน้านั้นเป็นยังไงบ้าง”

นี่คือใจความสำคัญของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จากแง่มุมของ ธัญสรา นวตระการ Head of Talent Management ของ Edsy ซึ่งทำหน้าที่สรรหาครูสอนภาษาอังกฤษและจัดอบรมต่างๆ เพื่อรักษาประสิทธิภาพของห้องเรียน โดยมีประสบการณ์ 2 ปี จากโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง Teach For Thailand ที่ได้คลุกคลีกับนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทำให้มีประสบการณ์และความสนใจใกล้เคียงกับปัญหาทั้ง 3 พื้นที่ คือ พะเยา สุรินทร์ และปัตตานี

ธัญสรา นวตระการ Head of Talent Management ของ Edsy

หากเจาะลึกมากว่านั้น จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ที่ธัญสราสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาเด็กตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร จนกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

“วิชาสุขศึกษาในโรงเรียนสอนตื้นมาก เราสอนแค่ว่าส่วนนี้ของร่างกายคืออะไร อวัยวะต่างๆ ทำงานอย่างไร แต่นักเรียนยังขาดความเข้าใจ ขาดคนให้ความรู้เรื่องการดูแลตัวเองด้านเพศศึกษา จนเกิดปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องมีคนเข้าไปดูแลมากขึ้น

“นอกจากการป้องกันหรือแก้ปัญหาแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับมาดูว่า เด็กยังขาดอะไรอีกหรือเปล่า แต่ในเบื้องต้นเราต้องให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น เริ่มจากให้ความรู้เขาก่อน เพื่อให้เขาเห็นปัญหาและแก้ปัญหาโดยเริ่มจากตัวเขาเอง”

มากไปกว่าการทำงานร่วมกับนักเรียนแล้ว อีกความคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร

“นวัตกรที่ทำงานในพื้นที่ต้องพัฒนาทักษะรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร การจัดการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ (active learning) การรับฟังโดยปราศจากการตัดสิน (hold judgement) และการเห็นอกเห็นใจ (empathy) เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาว่าเด็กต้องการอะไร และเราจะช่วยเหลือยังไงได้บ้าง ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับความต้องการและเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ไม่ใช่แค่เหมาะกับนวัตกรหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

นวัตกรสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบได้

“ถ้าเราสร้างนวัตกรแต่ละจังหวัด ให้เป็นนวัตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบได้ สามารถมองเห็นปัญหาในภาพรวมและเข้าไปแก้ไขได้ ก็จะเกิดความยั่งยืน เพราะเขารักพื้นที่และจะไม่หนีไปไหน”

นพพร อินสว่าง ผู้ก่อตั้งโครงการ Dynamic School Thailand ซึ่งทำงานด้านการศึกษามากว่า 16 ปี และยังคงสนใจเก็บข้อมูลจากหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาอาชีพในจังหวัดสุรินทร์และปัตตานี

นพพร อินสว่าง ผู้ก่อตั้งโครงการ Dynamic School Thailand

จากการรับรู้ข้อมูลและปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เขามีประเด็นสำคัญที่อยากสื่อสารและร่วมแลกเปลี่ยนกับเหล่านวัตรกรคนอื่นๆ นั่นคือ การสร้างนวัตกรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

“เมื่อ กสศ. มีเครือข่ายของพื้นที่อยู่แล้ว เราก็สามารถสร้างนวัตกรทางการศึกษาไปประจำในแต่ละพื้นที่ โดยมีการเปิดรับสมัครนวัตกรและกำหนดเกณฑ์สมรรถนะให้เข้าร่วมการอบรม เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานในพื้นที่ได้ เช่น ช่วยพัฒนากระบวนการสอนของครู เป็นวิทยากรคอยแก้ปัญหาต่างๆ ในพื้นที่

“ต้นแบบเช่นนี้จะยั่งยืน เพราะ กสศ. ไม่เพียงสร้างพื้นที่ให้สตาร์ตอัปมาเจอกันที่นี่ แต่มีสตาร์ตอัปที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จริง ทำให้เรามีพนักงานประจำอยู่ในพื้นที่ และสามารถคิดโครงการตามโจทย์แต่ละปีได้”

ข้อเสนอดังกล่าวมาจากประสบการณ์ทำงานของนพพร เมื่อเขาไปลงพื้นที่ทำโครงการต่างๆ จนทุกอย่างเริ่มลงตัว แต่มักพบปัญหาในภายหลังว่า เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนเกษียณ ทำให้โครงการที่ทำมาทั้งหมดจบลง โจทย์สำคัญจึงเป็นการสร้างนวัตกรทางการศึกษาประจำจังหวัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง

“ถ้ามีนวัตกรทางการศึกษาอยู่ประจำจังหวัด เขาอาจจะไม่เคยทำงานด้านนี้ แต่เราไปทำงานให้เขาดูก่อน แล้วเขาสามารถทำต่อได้ ต่อยอดได้ ถึงวันหนึ่งที่ ผอ. ย้ายก็ไม่เป็นไร เพราะนวัตกรรู้แนวทางการทำงานอยู่แล้ว”

หลังจากการระดมความคิดร่วมกับเหล่านวัตกร เกิดโจทย์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับนพพร นั่นคือ เรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“เราเคยทำโครงการช่วยเด็กนอกระบบ แต่เราช่วยได้ไม่เยอะ จนวันหนึ่งรู้สึกว่าทำไมเราเอากระบวนการไปช่วยเขาไม่ได้ แล้วก็พบว่าเราขาดการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ขาดการฟังโดยทำความเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารจริง (active listening) คือเราอาจจะฟังเขา แต่เราไม่ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด

“เมื่อก่อนเรามุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ได้คุยกับพ่อแม่ ครู หรือกลุ่มที่อยู่รอบตัวเขา วันนี้เราเลยอยากแก้ไขสิ่งที่เราทำได้ไม่สมบูรณ์ในสมัยก่อนที่เป็นครู ถ้าเราทำเครื่องมือตัวหนึ่ง เก็บข้อมูลตรงนี้ให้ครบ และเห็นปัญหาจริง เราอาจจะช่วยเด็กได้มากขึ้น อัตราที่เขาจะไปต่อได้หรืออยู่รอดในระบบการศึกษาอาจจะมากขึ้น อันนี้คือความท้าทายเราที่อยากจะลองทำ”

มากกว่าโจทย์ปัญหา คือการเปิดมุมมองและเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

“ปัญหาคือไม่ใช่แค่มีการศึกษาที่ดีแล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย นอกจากเด็กต้องได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ สถาบัน และปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง

“เราควรทำความเข้าใจว่าปัญหาที่มีอยู่คืออะไรกันแน่ คนที่เกี่ยวข้องมีใครบ้างจึงจะแก้ปมปัญหาที่ใหญ่มากตรงนั้นได้ ไม่ใช่การเอาวิธีแก้ไขปัญหาเข้าไปเลย มันก็แก้ไม่ได้หรอก”

ณัฐภพ หลักดี ผู้พัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัป Edsy

ณัฐภพ หลักดี ผู้พัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัป Edsy ที่พยายามผลักดันให้นักเรียนไทยทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ โดยแสวงหาโอกาสการสนับสนุนจากภาครัฐ หนึ่งในนั้นคือ กสศ. ที่เปิดรับภาคเอกชนเข้ามาร่วมคิด ร่วมลงมือทำกับโจทย์จริง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่คลี่ให้เห็นกระบวนการทำงาน

“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้น ถ้าคนที่อยู่กับปัญหา เขาอยากจะแก้ปัญหา เพราะปัญหาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าเรามองหานวัตกรรมการศึกษาที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องไม่ใช่วิธีการที่ตายตัว แต่ต้องทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และสามารถปรับวิธีการให้เข้ากับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“สิ่งที่ได้จาก กสศ. คือ การเปิดมุมมองให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ กสศ. ดูแล มีปัญหาเหล่านี้อยู่จริงๆ มีคนที่กำลังประสบกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อาจเพราะปัจจัยแวดล้อม หรือโอกาสที่ไม่เท่ากัน การมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นกว้างขึ้น ได้ฉุกคิดว่าเราสามารถช่วยหรือสนับสนุนคนที่มีปัญหาตรงนี้ได้ด้วย”

การพูดคุยกับเหล่านวัตกรในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการระดมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา ก่อนที่เหล่านวัตกรจะนำเสนอนวัตกรรมของตัวเองต่อ Equity Lab กสศ. และ Disrupt Technology Venture อีกครั้ง เพื่อคัดเลือกนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จำนวน 3 ทีม และได้รับทุนสนับสนุนในการพัฒนานวัตกรรม 100,000 บาทต่อทีม ซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ดังนี้

  1. Solution/Product ต้นแบบ (prototype) ของนวัตกรรมมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย
  2. Target เข้าใจและออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้ใช้งานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  3. Impact สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม รวมถึงมีตัวชี้วัดนวัตกรรมในด้านผลกระทบทางสังคมอย่างชัดเจน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
  4. Sustainable นวัตกรรมมีความยั่งยืน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้