UNESCO ระดมตัวแทนจากองค์กรพันธมิตรกว่า 70 องค์กร และกว่า 40 ประเทศสมาชิก เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งที่ 3 ของกลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาระดับโลก หรือ Global Education Coalition พร้อมริเริ่มความร่วมมือครั้งใหม่ สร้างการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อการศึกษา
งานประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในโอกาสนี้มีการเปิดตัวรายงานประจำปีของกลุ่มพันธมิตร ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านการศึกษาร่วมกัน (Coalition – Transforming education together: Global Education Coalition in action) โดยเน้นย้ำว่าสมาชิกจะร่วมมือกันสนับสนุนความพยายามของประเทศต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDG 4) เพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง และพันธสัญญาที่จัดทำขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนผ่านการศึกษา (Transforming Education Summit)
ในช่วงการเปิดประชุม สเตฟาเนีย จีอานนินี (Stefania Giannini) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาของ UNESCO ได้กล่าวขอบคุณสมาชิกกว่า 200 คนที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
“อีก 5 ปีข้างหน้า การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของชาติให้เป็นดิจิทัลจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง … ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรก้าวไปข้างหน้า การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีสีเขียวจะเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่ง” จีอานนินี กล่าว
ในการประชุมตลอดทั้งวัน สมาชิกได้หารือเกี่ยวกับอนาคตของการรวมกลุ่ม แนวทางการรับมือในภาวะวิกฤต และวิธีการที่กลุ่มจะเอาชนะความท้าทายร่วมกัน เพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน
เฟอร์มิน เอโดว์อาร์ด มาโตโก (Firmin Edouard Matoko) ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไป Priority Africa and External Relations ของ UNESCO เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบรรลุเป้าหมายระดับโลกด้านการศึกษา เพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
“สถานการณ์เรียกร้องให้เราจับมือกันให้แน่น เพื่อสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เราต้องรวมพลังเพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเรียนรู้ ลดช่องว่างที่มีอยู่ และเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาในรูปแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนทุกคน” มาโตโก กล่าว
ด้าน เจน ลอว์รีย์ (Jane Lawrie) หัวหน้าฝ่ายกิจการองค์กรระดับโลกของ KPMG แนะนำว่าสมาชิกควรร่วมมือกันและมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ โดยตั้งเป้าการลงทุนในโปรแกรมที่เกิดประโยชน์สูงสุด
“ฉันคิดว่าทุกคนในห้องนี้มีทักษะที่ไม่เหมือนใคร และต้องใช้ทักษะเหล่านั้นเพื่อบรรลุผลลัพธ์ร่วมกัน นั่นคือจุดที่ฉันคิดว่าเราสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนหนุ่มสาวได้” ลอว์รีย์ กล่าว
ในขณะเดียวกัน เบนจามิน มาร์โตว์ (Benjamin Marteau) ซีอีโอของ Pix แนะนำว่าการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในทุกประเทศให้มากขึ้นจะนำไปสู่การริเริ่มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และกลุ่มพันธมิตรสามารถสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การศึกษามีความหวังยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่ง อันเดรียส ชไลเชอร์ (Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้กล่าวชื่นชมกลุ่มพันธมิตรที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมสาธารณะ และการทำงานกับภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณประโยชน์
“นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคมในด้านการศึกษา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐ ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรด้านการศึกษาสามารถขับเคลื่อนสิ่งนั้นได้ … คำถามสำหรับผมก็คือ เราจะข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการจัดการวิกฤตไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตได้อย่างไร” ชไลเชอร์ กล่าว
ในส่วนของการเปิดตัวความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อการศึกษา (Digital Transformation Collaborative) นับเป็นความร่วมมือครั้งใหม่ ประกอบด้วย 30 องค์กรพันธมิตร พร้อมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของกลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาระดับโลกในปี 2023 และปีต่อ ๆ ไป
บอร์ฮีน ชาครูน (Borhene Chakroun) ผู้อำนวยการกองนโยบายและระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับภาคการศึกษาของ UNESCO กล่าวว่า “ความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อการศึกษา จะสามารถขับเคลื่อนไปสู่ความเสมอภาคและความยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของประเทศสมาชิก” และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย ‘กุญแจ 5 ดอก’ คือ การประสานงานและความเป็นผู้นำ ต้นทุนและความยั่งยืน การเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถและวัฒนธรรม และเนื้อหาและหลักสูตร
“เราเชื่อมั่นในทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามารวมตัวกันและแบ่งปันทรัพยากรด้วยวิธีที่ชาญฉลาด ย่อมมีศักยภาพที่จะขยายไปสู่ระดับนโยบาย แผนงาน และโครงการที่ยั่งยืน สู่การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเพื่อการศึกษาระดับประเทศในที่สุด” ชาครูน กล่าว
วิลเลียม ฟลอเรนซ์ (William Florance) หัวหน้าโครงการฝ่ายรัฐสัมพันธ์ (Government Relations) ของบริษัท Google หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการศึกษา เสนอว่าเงินทุนเพื่อการศึกษาควรมาจากแหล่งที่หลากหลาย ไม่เพียงแค่งบประมาณแผ่นดินเท่านั้น และประเทศต่าง ๆ ก็ต้องการการสนับสนุนในการลงทุนทางเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด
“บ่อยครั้งที่เราเห็นการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็นต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของระบบการศึกษา แต่ความร่วมมือใหม่นี้จะช่วยสนับสนุนกระทรวงต่างๆ เพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา” ฟลอเรนซ์ กล่าว
ด้าน ไดนา โกบาชาย (Dina Ghobashy) ผู้จัดการอาวุโสด้าน Digital Transformation Leadership ของ Microsoft ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มพันธมิตร แนะให้ประเทศสมาชิกมองว่าความร่วมมือในครั้งนี้เปรียบเหมือน ‘ห้องปฏิบัติการนวัตกรรม’ ที่สามารถระดมการวิจัยและช่วยกันออกแบบแนวทางที่ตอบโจทย์ของแต่ละประเทศได้
“เราล้วนมีส่วนร่วมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เพื่อขยายแนวปฏิบัติที่ดีให้แก่รัฐบาล และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด นี่คือสิ่งที่สำคัญมากสำหรับความร่วมมือ เพราะความสำเร็จของประเทศก็คือความสำเร็จของเรา และเรามีเป้าหมายเดียวกัน” โกบาชาย กล่าว