“รูปแบบกิจกรรมและกระบวนการที่ทีมหนุนเสริมเข้าไปชวนคณะทำงาน ABE แต่ละจังหวัดทำงานร่วมกันอาจมี Concept เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์จากกการบูรณาการข้อมูลของแต่ละจังหวัดนั้นขึ้นอยู่กับบริบทสถานการณ์ และจุดเน้นการทำงานของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจังหวัดลำปางได้ผลลัพธ์ในเชิงโมเดลการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเด็กปฐมวัย”
ผลลัพธ์จากกการบูรณาการข้อมูลของคณะทำงาน ABE จังหวัดลำปาง ได้ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็น “จุดเน้นสำคัญที่จังหวัดสามารถนำไปใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาระบบนิเวศการส่งเสริมคุณภาพการดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ซึ่งมี 5 ประเด็น ได้แก่
1. เด็กปฐมวัย ควรมุ่งเน้นพัฒนาการ 4 ด้าน คือ พัฒนาการทางกาย พัฒนาการทางใจ พัฒนาการทางการเรียนรู้ สติปัญญา และ พัฒนาการทางสังคม
2. ผู้ปกครอง ควรมุ่งเน้นการพัฒนา 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การให้ความรู้ในการจัดการหรือทักษะการคิด (Executive Functions หรือ EF) และสร้างเจตคติที่ดีในการเลี้ยงดูลูก รวมทั้งควรมีการส่งเสริมทักษะชีวิต อาชีพ การเงิน และสังคม
3. ครู ควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะในด้านการส่งเสริมพัฒนาการ การถ่ายทอดความรู้ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย
4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ควรมุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานการดูแลเด็กปฐมวัย
5. การให้เงินช่วยเหลือทางตรง ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน ทั้งรูปแบบเงินช่วยเหลือ หรือ ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย
โดยพบช่องว่างในการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง 3 ประเด็น คือ กลไกบูรณาการคณะทำงาน การจัดสรรงบประมาณที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และการสร้างระบบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการขับเคลื่อนงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากคณะทำงาน ABE จังหวัดลำปางสามารถลดหรือปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ และมุ่งเน้นการทำงานตามจุดเน้นสำคัญ 5 ประเด็น ก็จะสามารถพัฒนาเป็นโมเดลการพัฒนาระบบนิเวศการส่งเสริมคุณภาพการดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดลำปางได้