เมื่อ “การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก” เป็นงานฝาก ไม่ใช่งานหลัก…มันอยู่ที่เราจะเปลี่ยนไหม

เมื่อ “การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก” เป็นงานฝาก ไม่ใช่งานหลัก…มันอยู่ที่เราจะเปลี่ยนไหม

ถอดทัศนะ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับบทวิเคราะห์อุปสรรคในเชิงกฎหมายและการปฏิบัติงานในแวดวงการศึกษาไทย พร้อมข้อเสนอโยบายเรื่องการศึกษาทางเลือกและการศึกษาตลอดชีวิตที่รัฐบาลใหม่ต้องเงี่ยหูฟัง

ตลอดการสนทนา ประโยคที่สะดุดมากที่สุดคือ “เมื่อการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก เป็นงานฝาก ไม่ใช่งานหลัก…มันอยู่ที่เราจะเปลี่ยนไหม”

ขอเชิญอ่านเพื่อวิเคราะห์ร่วมกันว่า “เรา” หมายถึงใคร และเราจะเปลี่ยนได้แค่ไหนกัน

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต
คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต คือ การศึกษาที่ตอบโจทย์ความสนใจหรือความถนัด ทำให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถใช้ความสนใจเพื่อพัฒนาตัวเองในเชิงต่อยอดอาชีพได้  ส่วนอีกมิติก็น่าจะเป็นการทำให้คนมีความสมบูรณ์ เช่น มีร่างกายแข็งแรง จิตใจที่ดีงาม ผมอยากเห็นภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตคนคนหนึ่ง ที่เป็นคนมีความสุข คือ เก่ง ดี มีสุข โดยใช้วิธีการทางบวกแล้วค้นพบตัวเอง เอาสิ่งที่ตนเองสนใจไปทำอาชีพได้ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ในทางที่ดี

ภาพรวมของหน่วยจัดการการเรียนรู้ในปัจจุบัน

จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยไหน โรงเรียน ศูนย์การเรียน โฮมสกูล เราสามารถจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียนได้ ผมว่าโรงเรียนก็ควรมีความยืดหยุ่น คือ โรงเรียนมีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับคนคนหนึ่งหรือเป็นกลุ่มก็ได้ เพราะช่วงวัยเด็กถือเป็นเวลาของการลองผิดลองถูกในชีวิต ครูสามารถทำให้เด็กเห็นอะไรบางอย่างในตัวเขาได้ ผมเลยคาดหวังว่าโรงเรียนจะร่วมมือกับเด็กเพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเขาได้ กระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทดลองเรื่องพวกนี้

เรารู้ว่ากระทรวง ฯ มีมาตรฐานการศึกษา แต่ถ้ารัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติบอกว่า ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย อันนี้ถือว่าน่าลอง อยากเชียร์ให้โรงเรียนต่างๆ ออกแบบการเรียนรู้ของเด็กโดยยึดความแตกต่างหลากหลายเป็นที่ตั้ง

ผมโตมาจากสายการศึกษาผู้ใหญ่ พอนึกถึงผู้ใหญ่เรามักคิดว่าผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้  สามารถกำหนดเป้าหมาย เครื่องมือ วิธีการ แหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเอง  ผมเชื่อว่าเด็กก็มีความสามารถที่จะทำงานกับครูเพื่อออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง  โรงเรียนเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าเปิดโอกาสให้เขาได้จัดการศึกษาที่หลากหลาย อาจจะต้องดึงคอนเซ็ปต์ของพวกการศึกษาทางเลือกมาใช้บ้าง 

หน่วยจัดการเรียนรู้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การเรียน โฮมสกูล ก็ทำไปได้เลย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน และหากอยากให้ตอบโจทย์การศึกษาตลอดชีวิต ศูนย์การเรียนแบบภูมิปัญญา ภาครัฐเอง เอกชน NGO ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้เช่นกัน เป็นแหล่งให้นักเรียนได้ไปหาสิ่งที่เขาอยากรู้ ไปหาคนที่เขารู้จริงๆ เพราะครูอาจจะไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ก็ต้องพาไปหาคนที่รู้ ซึ่งอาจจะไม่ได้สังกัดโรงเรียนแต่สังกัดเอกชน เด็กนักเรียนก็มีโอกาสทำงานร่วมกับครู มีโอกาสไปเจอสิ่งที่เขาชอบจริงๆ

ถึงเวลาปลดล็อกระบบหรือยัง?
การศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก
ไทยมีกฎหมายรองรับ แต่ระบบไม่เอื้อให้เด็กมีโอกาส

ไทยมีกฎหมายรองรับเรื่องการศึกษาทางเลือก คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งพูดชัดเจนเรื่องสถานศึกษาว่า ไม่ได้หมายถึงแค่โรงเรียน  แต่นับรวมถึงศูนย์การเรียนของสถาบันสังคม ที่จัดโดย บุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชน  องค์กรพัฒนาเอกชน โฮมสกูลด้วย กฎหมายเอื้อเรื่องนี้พอสมควร แต่พอลงมือทำจริง ตัวระบบกลับไม่เอื้อต่อเด็ก  ค่อนข้างมีปัญหาว่าเรายึดติดกับระบบโรงเรียนเยอะ  โดยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้การศึกษาในระบบค่อนข้างมีอิทธิพลสูงหากเทียบกับการศึกษารูปแบบอื่น ทั้งที่ในสมัยอดีตโบราณ เด็กยังมีโอกาสเรียนรู้อาชีพจากพ่อแม่ เรียนรู้ภาษาการอ่านเขียนจากวัด เป็นต้น 

แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีแรงกระแทกจากอีกด้านเผยให้เห็นว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในระบบอย่างเดียว กระนั้นการศึกษาในระบบก็ยังมีอิทธิพลสูงอยู่ดี ทั้งในเรื่องอุดมคติ ค่านิยม และวิธีการทำงานของภาครัฐ ทำให้การศึกษาอิงกับในระบบค่อนข้างเยอะ 

ปัจจุบันไทยมีกฎหมายรับรองการศึกษาแบบในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัย แต่กลไกระบบการทำงานก็ยังไม่เอื้อให้ทั้งสามแบบไปด้วยกันได้อย่างลื่นไหล หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.​ 2566 ที่เน้นการส่งเสริมคุณวุฒิ หรือเน้นการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็ยังไม่เชื่อมโยงกัน เช่น เวลาพูดถึงการเทียบโอน ส่วนใหญ่จะเห็นการเทียบโอนระหว่างหน่วยงานมากกว่า เช่น เทียบโอนจากโรงเรียนหนึ่งไปยังอีกโรงเรียน หรือถ้าโอนระหว่างสถาบันอุดมศึกษาก็เทียบโอนเป็นหน่วยกิต ซึ่งมีการกำหนดว่าได้กี่เปอร์เซนต์ของวิชาทั้งหมดในหลักสูตร  แต่ถ้าเทียบจากการศึกษาแบบอัธยาศัยไปนอกระบบ หรือการศึกษาแบบนอกระบบย้ายไปโรงเรียน ถึงจะมีกฎหมายรับรองแต่ขาดกลไกชัดเจนที่จะทำให้ระบบเอื้อกันต่ออย่างราบรื่น

กฎหมายที่ก้าวหน้าเดินช้า เพราะอุปสรรคอยู่ที่ภาคปฏิบัติ

แม้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไม่ได้พูดถึงการศึกษาทางเลือกโดยตรง แต่ก็มองเห็นภาพของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในมาตรา 12 ก็เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีบทบาทในการจัดการศึกษา ซึ่งอาจจะกำหนดไว้เป็นขั้นพื้นฐาน จากนั้นก็มีกฎกระทรวงที่พูดถึงการจัดการศึกษาแบบโฮมสกูล การจัดการศึกษาผ่านศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชน มูลนิธิ สถานประกอบการ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ว่าทำได้ เราได้เห็นภาพการเติบโตของหน่วยงานจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งถือว่าน่าดีใจที่กฎหมายบ้านเรามีความก้าวหน้า แต่ในเชิงปฏิบัติต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่

ปัญหาในเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้น เช่น กฎกระทรวงระบุุว่าผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในศูนย์การเรียนสามารถเข้ามาเรียนได้ อนุญาตให้ทุกคนเข้าร่วมเรียนรู้ได้ แต่พอดำเนินการไปสักพัก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลับออกหลักเกณฑ์ว่า เน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส ซึ่งอย่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นการละเมิดสิทธิของคนอยากเรียนที่ศูนย์การเรียนได้ไหม เรื่องนี้จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวจากฝั่งของคนทำงานด้านการศึกษาทางเลือก เข้าไปคุยกับทางกระทรวงศึกษาธิการด้วยเช่นกัน เพื่อดูว่าสิ่งที่ออกมามันขัดแย้งกับกฎกระทรวง หรือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หรือรัฐธรรมนูญ หรืออนุสัญญาสิทธิเด็ก หรือไม่

ผมคิดว่าเราอาจจะต้องทบทวนว่าการที่ภาครัฐออกระเบียบมาใหม่นั้นไปขัดต่อตัวกฎหมายต่างๆ หรือเปล่า ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูขัดนะ ผลต่อจากนั้นคือมีการเคลื่อนไหวผ่านกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้เกิดการมานั่งคุยระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลที่ว่าทำไมการยืนยันเรื่องสิทธิการจัดศูนย์การเรียนทางเลือกเหล่านี้ถึงสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ เพราะหากศูนย์การเรียนได้รับอนุญาตจากเขตการศึกษาแล้ว เขาก็ถือเป็นสถานศึกษา ซึ่งจะส่งผลให้เขาได้รับงบประมาณอุดหนุน  การอนุญาตตรงนี้พบว่ายังมีปัญหาอยู่ ส่งผลให้สถานศึกษาไม่ได้รับการจัดสรรงบหรือโดนสั่งระงับ 

ที่ผ่านมาก็พบว่ามีความพยายามออกหลักเกณฑ์เพื่อปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง ที่ สพฐ.กับคนทำการศึกษาทางเลือกหารือและจัดทำด้วยกัน แล้วก็เปิดโอกาสให้ผู้จัดการศึกษาทางเลือก เช่น โฮมสกูล ศูนย์การเรียน โรงเรียนที่มีความเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนกีฬา ได้นำตรงนี้ไปใช้ในการปรับหลักสูตรแกนกลาง  ความพยายามตรงนี้มีอยู่ แต่ปัญหาในเชิงปฏิบัติอาจเกิดจากเมื่อลงมือทำงานแล้วหน่วยงานรัฐไม่ได้ศึกษาเอกสารพวกนี้ให้เข้าใจ ส่วนหนึ่งเพราะราชการมีการเวียนคนทำงาน ซึ่งอาจทำให้ความเข้าใจที่มีต่อการศึกษาทางเลือกและหลักการที่คุยกันไว้คลาดเคลื่อน

เมื่อความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน ทางออกคือต้องพูดคุย

ถ้ามองในเชิงพัฒนาการ พบว่าในแต่ละช่วงเวลาก็มีความพยายามในการทำความเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานรัฐกับกลุ่มการศึกษาทางเลือก เช่น ยุคหลังจากมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คนที่ทำงานการศึกษาทางเลือกก็ได้เข้าไปทำงานกับสภาการศึกษาเพื่อไปทำกฎกระทรวงเหล่านี้ออกมา หลังจากนั้นก็มีการเวิร์กชอปทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนทำการศึกษาทางเลือกกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในเขตพื้นที่ และ สพฐ. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง เราจะพบความพยายามในการจัดทำกระบวนการเหล่านี้มาโดยตลอด 

แต่ช่วงหลังมานี้ที่เกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน ผมคิดว่าเกิดจากคนทำงานภาครัฐมีการเปลี่ยนตัวบ่อยทำให้ต้องเริ่มใหม่ตลอด ผู้อำนวยการเขตก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ตลอดไป ต้องเปลี่ยนคน คนมาใหม่ก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ใหม่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ก็เหมือนกัน มีการโยกย้าย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

ผมมองว่าถ้าเข้าใจเรื่องการทำงานร่วมกัน หลายฝ่ายน่าจะช่วยกันได้ เช่น การพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้จัดและทีมที่ปรึกษาต่างๆ ในการปรับจูนให้ตรงกัน ตั้งแต่ตอนจดทะเบียน  ออกหลักสูตร และตอนประเมิน ซึ่งในส่วนของการประเมินนี้ ช่วงหลังๆ อาจดูมีปัญหาเยอะหน่อย ส่วนหนึ่งเกิดจาก สพฐ.มีหน้าที่ประเมิน และอาจรวบอำนาจการประเมินไปเลย คือเน้นประเมินผ่าน 8 กลุ่มสาระวิชา ในขณะที่ศูนย์การเรียนหรือพ่อแม่โฮมสกูลสอนอีกอย่าง ประเมินอีกอย่าง 

สพฐ.ต้องมองว่าการประเมินมีตั้ง 13 แบบ ไม่ต้องสอบอย่างเดียว สามารถใช้การพูดคุยสัมภาษณ์ หรือใช้การมีส่วนร่วมโดยนักวิชาการหรือเขตพื้นที่ ประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้ ไม่ใช่ประเมินเพื่อตัดสินอย่างเดียว

ข้อเสนอโยบาย
เรื่องการศึกษาทางเลือกและการศึกษาตลอดชีวิต

1. รัฐต้องทำให้เจตนารมณ์ในตัวบทกฎหมายเป็นจริง  หากกฎหมายไหนมีปัญหาต้องร่วมหารือเพื่อแก้ไข

รัฐต้องลดการจัดและเพิ่มการสนับสนุน เราต้องทำให้เจตนารมณ์ในตัวบทกฎหมายเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ควรตอบโจทย์ความแตกต่างหลากหลาย 

ถามว่าสนับสนุนอะไรบ้าง คือรัฐอาจต้องไปแก้บางอย่างในตัวกฎหมาย เช่น คำว่า  “อาจจะให้สิทธิประโยชน์หรือไม่” แต่จริงๆ แล้วถึงจะเป็นศูนย์การเรียนแบบคนรวยหรือศูนย์การเรียนของเด็กยากจนก็ต้องมีความเท่าเทียม ไม่ต่างจากโรงเรียน ที่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนร่ำรวยหรือยากจนก็ได้เงินสนับสนุนเท่ากัน โดยคิดเป็นรายหัว หลักความเท่าเทียมนี้ต้องมี 

ดังนั้นการปรับกฎกระทรวงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็น คำว่า “อาจจะพิจารณาสิทธิประโยชน์” ที่ระบุไว้ควรตัดคำว่า “อาจจะ” ออก เพราะคำนี้ทำให้ทุกอย่างขึ้นกับดุลยพินิจของหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาเงินสนับสนุนอาจจะไปกองอยู่กับศูนย์การเรียนรู้แบบสถานประกอบการ แต่ศูนย์เรียนรู้ประเภทบุคคล หรือ NGO ที่ต้องทำงานเพื่อหาเงินดูแลเด็กกลับไม่ได้รับเงินสนับสนุน

ภาครัฐควรต้องทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมหารือกับหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของการศึกษาทางเลือก ต้องแก้กฎหมาย หากตรงไหนไม่เอื้ออำนวย ต้องนำกลุ่มทำงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน ไม่ใช่ไปแอบแก้กันเอง ทั้งนี้ตัวกฎหมายปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่ แล้วด้วยระบบราชการ บางครั้งก็อาจมีกรณีที่ สพฐ.ส่งมติไปยังเขตพื้นที่ แล้วเขตพื้นที่ต้องยึดตามมติที่ทาง สพฐ.กำหนดไว้ ซึ่งอาจทำให้คนทำงานในพื้นที่ลำบากใจ  เพราะใจหนึ่งก็อยากทำงานกับกลุ่มการศึกษาทางเลือกดีๆ แต่เบื้องบนส่งนโยบายที่ไม่เอื้ออำนวยมา ทำให้การทำงานร่วมกันมันยากขึ้น

2. ตั้งกองทุนสนับสนุนเพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

เนื่องจากสภาพแวดล้อมของการศึกษาทางเลือกนั้น เขาไม่ได้สอนแค่ในสถานศึกษา ทุกพื้นที่รอบตัวถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ดังนั้นควรทำอย่างไรให้บ้านเรามีกองทุนสนับสนุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก โดยกองทุนนี้ควรใช้สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ให้เขาทำงานต่อได้ เช่น สนับสนุนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ ให้เขามีกิจกรรม ออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์เด็กในชุมชน ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนลักษณะอย่างนี้ยังไม่มี ผมยังไม่รู้ว่าจะเรียกตรงนี้ว่าอะไร แต่ผมอยากเสนอให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงบประมาณบางอย่างได้ เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ 

แม้ทุกวันนี้จะมีเงินอุดหนุนการศึกษารายหัวของเด็ก แต่เงินอุดหนุนนี้ก็ไม่เพียงพอ เราต้องเพิ่มโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งเงินอุดหนุนในการพัฒนาตนเองนี้ อาจขยายไปอุดหนุนผู้ใหญ่ในสังคมด้วยก็ได้ เพราะผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็ควรได้รับเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาตนเองเหมือนกัน 

หากประเทศไทยจะส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราก็ต้องพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาตนเอง ซึ่งควรจะมีงบสมทบให้ประชาชนพัฒนาตนเอง และไม่ใช่อุดหนุนงบแค่สาธารณูปโภคหรือการก่อสร้าง แต่แนวคิดบางอย่างก็ควรทำให้เกิดขึ้นจริง เช่น Education Card ที่ กสศ.เคยเสนอก็น่าจะนำมาหารือกันต่อ

3. สนับสนุนเงินรายหัวเพื่อให้ประชาชนได้พัฒนาตนเองตลอดชีวิต

สังคมไทยพูดเรื่องพัฒนาศักยภาพบุคคล ทั้ง Upskill และ Reskill กันเยอะมาก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่คำว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ยังเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ทุกคนน่าจะได้รับโอกาสพัฒนาตนเอง  ผู้ใหญ่ก็อยากได้เงินรายหัวเพื่อใช้ในการพัฒนาตนเอง

ผมทำงานที่จุฬาฯ เขาจะมีเงินสนับสนุนการพัฒนาตนเองให้ประมาณ 40,000 – 60,000 บาท ซึ่งยอดนี้ไม่ได้ใช้ภายปีเดียว แต่ให้ใช้หลายปี เวลาจะไปประชุมต่างๆ ก็ใช้เงินสนับสนุนนี้ได้ แต่ถามว่าพอไหมกับการทำงานทั้งชีวิต ไม่น่าจะพอแน่ๆ ดังนั้นเราก็ต้องการเงินจากภาครัฐมาสนับสนุนตรงนี้เช่นกัน 

ผมทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมอาจเข้าถึงโอกาสได้มากกว่าคนอื่น แต่คนทั่วไปจะทำอย่างไร เขาก็ควรได้รับโอกาสนี้ด้วย แม้เราจะมองว่าทุกวันนี้มีแหล่งเรียนรู้เยอะแยะในออนไลน์ เช่น ยูทูบ แต่ข้อมูลที่อยู่ในยูทูบก็ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมด เราควรได้มีโอกาสเรียนรู้กับคนที่รู้จริงหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ

4. ปรับเปลี่ยนการทำงานให้ลื่นไหล และมองไกลกว่าแค่การเน้นลู่ทางเดียว

ปัจจุบันการผลักดันเรื่องการศึกษาทางเลือกต้องขออนุญาตผ่าน สพฐ.เป็นหลัก ดังนั้นหากอยากให้การขับเคลื่อนไหลลื่นกว่าเดิม ก็ต้องปรับการทำงานของ สพฐ. แต่ถ้าทำได้ยาก อาจต้องเปลี่ยนการศึกษาทางเลือกไปอยู่สังกัดอื่นแทน เช่น ไปอยู่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ต้องพูดตามตรงว่า ทุกวันนี้ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าฝ่ายไหนของ สพฐ.ที่ดูแล งานหลักของ สพฐ.จะเป็นโรงเรียน ถ้าจะแบ่งเบาภาระก็คงต้องจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ

เมื่อการศึกษาที่ทุกคนมีทางเลือก เป็นงานฝาก ไม่ใช่งานหลัก…มันอยู่ที่เราจะเปลี่ยนไหม ตอนนี้สัดส่วนของคนที่จัดการศึกษาทางเลือกในไทยยังดูไม่เยอะ แต่มันขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทิศทางสังคมมองว่าการศึกษาแบบนี้มันตอบโจทย์ รัฐก็ต้องช่วยหนุนลู่ทางนี้ให้ขยายวงกว้างขึ้น อาจต้องมีหน่วยงานมาดูแลตรงนี้เพื่อตอบโจทย์เด็กและผู้ใหญ่ที่มีความหลากหลาย โรงเรียนอาจไม่ใช่คำตอบเดียวอีกแล้ว

นี่ยังไม่นับว่าเรายังไม่ได้พูดถึงศูนย์เรียนรู้แบบภูมิปัญญาที่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศได้ตลอดชีวิต คือศูนย์เหล่านี้ก็พอค้ำตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่รัฐต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะให้ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีสำหรับคนทุกวัย ซึ่งกองทุนที่ผมพูดข้างต้นนั่นแหละที่จะช่วยเสริมให้ศูนย์ภูมิปัญญาสามารถพัฒนาตนเองได้

5. ข้อเสนอแนะต่อการเทียบโอน: คลังเครดิตคือคำตอบ

ส่วนสุดท้ายคือ ทำให้ตัวระบบการเทียบโอนเป็นจริงให้ได้ ในระดับอุดมศึกษาตอนนี้ถือว่าโอเค สถาบันจะมีการกำหนดว่าสามารถเทียบโอนได้กี่เปอร์เซ็นต์ของรายวิชาในหลักสูตร อย่างเช่นที่จุฬาฯ มีคลังเครดิต คนที่ลงเรียนคอร์สสั้นๆ ก็สามารถเก็บหน่วยกิตได้ และถ้าวิชานี้เชื่อมต่อกับหลักสูตร เขาก็สามารถเทียบโอนเข้าหลักสูตรที่เขาจะเข้าเรียนได้เลย 

การมีคลังเครดิตทำให้เราเห็นการเชื่อมต่อกันได้ แต่ที่ยังต้องทำงานกันเพิ่ม คือ การเทียบโอนประสบการณ์ หรือ Life Long Learning ตอนนี้ของไทยยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้แบบต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่เขามีหน่วยงานกลางทำ Life Long Learning ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ลงมาดูแลเรื่องการเทียบโอนประสบการณ์เลย

หากให้อธิบายเรื่องการเทียบโอนประสบการณ์ก็คือ ลองนึกภาพคนที่เป็นช่างมา 30 ปี แต่ไม่ได้จบการศึกษาในระบบ อยู่ๆ วันหนึ่งเขาอยากได้วุฒิ เลยต้องเทียบโอน ซึ่งคำถามคือ เขาจะเทียบโอนกับที่ไหนได้บ้าง เทียบกับ กศน. ได้ไหม หรือเทียบกับอาชีวะได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือน่าจะเทียบได้ โดยการเอาประสบการณ์มาเชื่อมคุณวุฒิ เอาการศึกษาตามอัธยาศัยของเขามาเชื่อมกับการศึกษาในหรือนอกระบบก็ได้