เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น’ ครั้งที่ 1 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการผลิตและพัฒนาครูเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และขั้นตอนเตรียมการบรรจุและแต่งตั้งครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 โดยมีศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารและครูโรงเรียนปลายทาง สถาบันผลิตและพัฒนาครูที่เข้าร่วมโครงการ ทีมหนุนเสริมโรงเรียนในภูมิภาค คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาคีความร่วมมือ เข้าร่วม
การประชุมครั้งนี้เป็นวาระสำคัญของ ‘โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ซึ่งดำเนินมาแล้ว 4 ปี โดยความร่วมมือ 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) ที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาโครงการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ที่นักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 เข้าสู่กระบวนการฝึกสอนและเตรียมบรรจุเป็นข้าราชการครู ณ โรงเรียนปลายทางในปีการศึกษา 2567
ดร.อนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งที่ สพฐ. ประสบอยู่ในปัจจุบัน ด้วยหลักเกณฑ์วิธีการบางอย่างที่ทำให้ครูบรรจุใหม่อยู่ในพื้นที่ได้ไม่นาน โดยสาเหตุหลักที่พบคือ
1) เกิดจากหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้กับโรงเรียนทุกขนาด ว่าด้วยการคำนวณอัตรากำลังครูโดยใช้จำนวนนักเรียนเป็นฐาน ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารมีครูไม่ครบชั้น หรือไม่เพียงพอกับสัดส่วนการดูแลนักเรียน
2) ครูที่ได้รับการบรรจุในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ประกอบกับความต้องการเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งพื้นที่อื่นมีความพร้อมเรื่องการเดินทางที่สะดวกสบายและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ชีวิตมากกว่า ดังนั้นเมื่อครูกลุ่มนี้ได้รับการบรรจุในพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลา 2 ปีตามเกณฑ์แล้วจึงมักขอย้ายออก ขณะที่การบรรจุแต่งตั้งครูใหม่ไม่สามาถดำเนินการได้ทันที ทำให้ไม่สามารถหาครูทดแทนได้ จนเกิดภาวะขาดแคลนครู ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กขาดความต่อเนื่อง
“ผลสำรวจล่าสุดของ สพฐ. ในวาระการเปิดสอบบรรจุครูเดือนมิถุนายน 2566 พบว่ามีตำแหน่งว่างในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาราว 30,000 อัตรา เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือการเติมครูเข้าไปในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกลายเป็นอุปสรรค โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. จึงก่อเกิดขึ้น โดยมีการพัฒนารูปแบบการผลิตและพัฒนาครูร่วมกับสถาบันต้นแบบและสถานศึกษาปลายทาง เป้าหมายหลักคือการแก้ปัญหาขาดแคลนครูของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการให้โอกาสกับเยาวชนที่มีศักยภาพในพื้นที่ และมีความตั้งใจที่จะกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ให้ได้รับการศึกษาในวิชาชีพครูภายใต้การดูแลของคณะทำงานโครงการ และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุทันทีในโรงเรียนปลายทางที่กำหนดไว้”
ดร.อนันต์ ระบุว่า จุดเด่นที่แตกต่างจากโครงการผลิตครูของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาคือ ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการระยะยาวว่าด้วยการรับนักศึกษาครูเพื่อนำมาผลิตและพัฒนาในระบบปิด จากการลงพื้นที่ค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกเยาวชนผู้มีความสามารถ แต่ขาดแคลนโอกาส แล้วทำงานร่วมกับโรงเรียนปลายทางในภูมิลำเนาของนักศึกษา พร้อมกระบวนการส่งต่อจากโรงเรียนถึงมหาวิทยาลัย และจากมหาวิทยาลัยกลับคืนสู่โรงเรียนปลายทาง กระบวนการนี้จึงไม่ใช่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงไปที่ตัวบุคคล หากยังเป็นการพัฒนาโรงเรียนปลายทางควบคู่กันไปด้วย
“การค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมในพื้นที่ เพื่อผลิตและพัฒนาเป็นครูที่มีคุณภาพ พร้อมกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนาของตนเองนั้น ทาง สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษาได้เตรียมตำแหน่งรองรับไว้แล้ว เพื่อให้ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ที่จะจบการศึกษาในปี 2567 สามารถเข้าไปเติมเต็มในโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ทันที พร้อมกันนี้คณะทำงานยังเดินหน้าเตรียมหารือกับทุกฝ่าย เพื่อจัดกระบวนการรองรับบัณฑิตรุ่นต่อ ๆ ไป เพราะสิ่งสำคัญคือเราต้องวางแผนให้กับบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นในอนาคต ว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีขั้นตอนบรรจุในแต่ละอัตราอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากสถาบันอุดมศึกษาสู่โรงเรียนปลายทาง และให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาได้รับจัดสรรครูตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
“นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกที่จะสำเร็จการศึกษาในปี 2567 คือบัณฑิตครูในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะกับโรงเรียนกันดารห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่สูง หรือโรงเรียนบนเกาะ ดังนั้นการได้รับครูปฐมวัยและประถมศึกษาเข้าไปเติมเต็ม จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอนได้ดีขึ้น สอดคล้องกับหลักเกณฑ์คำนวณอัตรากำลังในสถานศึกษาตาม ว.23 ของ ก.ค.ศ. ว่าในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ต้องมีครูวิชาเอกปฐมวัยและประถมศึกษาเป็นหลัก โดยการผลิตครูเพื่อแก้ปัญหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเป็นการเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนเหล่านี้”
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เชื่อว่าคณะทำงานทุกฝ่าย พร้อมแล้วที่จะเปิดรับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 เข้าสู่สถานศึกษา เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงเรียน 20,000 กว่าแห่งในสังกัด สพฐ. นั้นมีความแตกต่างเชิงพื้นที่ ฉะนั้นสิ่งที่โรงเรียนเหล่านี้ต้องการคือครูที่เป็นคนในพื้นที่ เพื่อความเข้าใจในบริบทของนักเรียน โรงเรียน สภาพแวดล้อม และทรัพยากร ทั้งยังจะช่วยลดอัตราการขอย้ายย้ายออกในระยะยาว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2567 เป็นปีแรกที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกจำนวน 327 คน จะเข้าบรรจุและเริ่มจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 281 แห่ง ครอบคลุม 44 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนครูสูง จะได้รับครู 2 คน เพื่อแก้ปัญหาการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
กสศ. และภาคีทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นว่า ปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่ใช่แค่การเติมครูเข้าไปในโรงเรียน แต่กระบวนการผลิตและพัฒนาครูตลอดช่วง 4 ปี ที่ได้มีการปรับปรุงและนำเอานวัตกรรมที่ กสศ. ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น การจัดการเรียนการสอนโดยภาษาถิ่นหรือการสอนคละชั้น ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาตามบริบทและเงื่อนไขของโรงเรียนในท้องถิ่นต่าง ๆ พร้อมด้วยหน่วยสนับสนุนที่จะเป็นที่ปรึกษาระยะยาว เพื่อให้การทำงานของครูในโรงเรียนปลายทางเกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กสศ. และ 5 หน่วยงานหลัก ทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณ มีกระบวนการผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นละ 300 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี ตลอดโครงการจะมีครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเป็นผลผลิตจากท้องถิ่น ได้รับการป้อนกลับไปยังโรงเรียนปลายทางรวมทั้งสิ้น 1,500 คน
“ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้งหมดในโครงการ 1,500 คน จะปฏิบัติงานในพื้นที่คนละ 6 ปีเป็นอย่างต่ำ โดยมีสถาบันผลิตและพัฒนาครูติดตามดูแลด้วยรูปแบบ service learning หรือช่วยพัฒนาครูไปด้วยกันตลอดเส้นทางในระหว่างการจัดการเรียนการสอน ซึ่ง กสศ. และคณะทำงานทุกฝ่ายมีความตั้งใจว่ากระบวนการนี้จะเป็นต้นแบบเชิงนโยบายให้กับการผลิตครู เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอนาคต
“กสศ. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาตลอด และขอเชิญชวนทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน มาร่วมกันต้อนรับและสนับสนุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2567 ให้มีความพร้อม มีทรัพยากร มีกำลังหนุนเสริม เพื่อสร้างและขยายให้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ขยายผลออกไปได้ไกลกว่าในรั้วโรงเรียน โดยสร้างประโยชน์ไปถึงชุมชน สังคม และให้ผู้คนในวงกว้างได้เห็นความก้าวหน้าในการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล และสุดท้ายคือเพื่อให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 327 คนในรุ่นแรก สามารถเป็นต้นแบบให้กับรุ่นน้อง ๆ อีก 4 รุ่น และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นครูต่อไป”
สำหรับขั้นตอนการบรรจุเพื่อไปเป็นครูในโรงเรียนปลายทาง รองศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จะเข้าบรรจุรอบแรกในเดือนกรกฎาคม 2567 และรอบที่สองในเดือนตุลาคม 2567 นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญร่วมกัน สำหรับคุรุสภาถือเป็นเครือข่ายหนึ่งที่ทำงานร่วมกับ กสศ. พร้อมช่วยสนับสนุนเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาสำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 และรุ่นต่อ ๆ ไป โดยยึดถือในหลักเกณฑ์เดียวกันกับครูทุกคนที่จะเข้ารับการบรรจุ
สำหรับมาตรฐานวิชาชีพครู ปัจจุบันเป็นข้อบังคับฉบับที่ 4 ประกาศใช้เมื่อปี 2562 ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ 1) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพ 2) มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ 3) มาตรฐานการปฏิบัติตน หรือที่เรียกว่า ‘จรรยาบรรณของวิชาชีพ’ ซึ่งก่อนที่นักศึกษาครูจะเรียนจบและออกไปเป็นครู จะต้องผ่านขั้นตอนการสอบตามเกณฑ์กำหนด จึงจะสามารถไปปฏิบัติวิชาชีพครูได้ โดยข้อบังคับฉบับที่ 4 ระบุว่า นักศึกษาครูทุกคนที่จบการศึกษาจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (P License) โดยอัตโนมัติ หมายถึงการมีมาตรฐานความรู้จากการสอบผ่านวิชาครู ซึ่งปัจจุบันมุ่งไปที่การวัดทักษะมากกว่าตัวความรู้ โดยนักศึกษาต้องผ่านแบบทดสอบในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง (situation based) เพราะครูในยุคสมัยใหม่เมื่อเข้าบรรจุแล้วต้องมีความสามารถทำได้และทำเป็น จึงต้องประเมินเชิงสมรรถนะโดยใช้การทดสอบเชิงสถานการณ์
ส่วน ‘ประสบการณ์ทางวิชาชีพ’ จะมาจากการฝึกสอนในโรงเรียน โดยหลักสูตรกำหนดไว้ว่าครูทุกคนต้องมีชั่วโมงฝึกสอนรวมกันอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา ซึ่งในปีการศึกษา 2566 นี้ ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงแล้วตลอดทั้งปี ส่วนมาตรฐานการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตน เป็นเรื่องการจัดการเรียนรู้และการปฏิบัติตนในฐานะครู รวมถึงการมีความสัมพันธ์กับชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งจะมีการประเมิน 3 ครั้งในทุกสิ้นปีการศึกษา ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ถึงชั้นปีที่ 4 โดยคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และส่งข้อมูลไปยังคุรุสภา
“ครูที่จะสอบบรรจุเข้ารับราชการจะต้องมีคุณสมบัติคือ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่มีประวัติเสื่อมเสียในการปฏิบัติตน มีความรู้ความสามารถซึ่งผ่านการทดสอบและบ่มเพาะประสบการณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสำหรับนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มีการประกาศไว้อย่างชัดเจนในหลักสูตรว่า เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุทันที
“อย่างไรก็ตาม สำหรับคำถามที่ว่าครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น หรือครูในโครงการอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันจะมีสิทธิ์มากกว่านิสิตนักศึกษาครูทั่วไปหรือไม่ ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ว่า กว่าที่จะได้รับสิทธิ์เหล่านี้ ครูกลุ่มนี้ต้องผ่านข้อกำหนดว่าด้วยหลักสูตรและการขัดเกลาเพื่อการปฏิบัติงานในบริบทเฉพาะ เพื่อให้ได้คุณสมบัติพิเศษที่เมื่อลงพื้นที่บรรจุแล้วจะปฏิบัติงานในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ทันทีและต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งข้อแม้ของการได้รับการบรรจุทันทีหลังจบการศึกษายังมีเงื่อนไขว่า ไม่สามารถโยกย้ายได้ตามข้อกำหนดโครงการที่ตกลงไว้ตั้งแต่ต้น ฉะนั้นจึงไม่อาจเรียกว่าเป็นสิทธิ์ แต่มองได้ว่าเป็นประโยชน์ของระบบการผลิตและพัฒนาครูแบบปิด โดยใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 4 ปี เพื่อให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นทั้ง 1,500 คน เข้าไปแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะ”