ผู้นำทางความคิดระดับโลกอย่างยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักเขียนหนังสือขายดี 21 บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญที่เด็กและเยาวชนจะได้ใช้ตลอดไปคือความฉลาดทางอารมณ์และความยืดหยุ่นทางจิตใจ จากหลักสูตรสองพันกว่าปีของพระพุทธเจ้า สู่ “ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์” เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้เข้าถึงการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์
เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา กสศ. ชวนอ่านตัวอย่างงานวิจัยเรื่องการเจริญสติ สู่การเดินทางของ Mind Gen กับความพยายามเปลี่ยนแพ็กเกจของศาสนาพุทธให้ร่วมสมัย เพื่อสร้างคำว่า “สติเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้” ให้เบิกบานในหัวใจของเด็กและเยาวชน
กระแสงานวิจัยในเรื่องของการเจริญสติ (Mindfulness Meditation)
พระภูมิศรัณย์ ภูมิปญฺโญ ได้กล่าวถึงกระแสของงานวิจัยในเรื่องของการเจริญสติ (Mindfulness Meditation) ว่า เป็นที่นิยมในประเทศตะวันตก ส่วนหนึ่งมาจากการริเริ่มของท่านทะไลลามะตั้งแต่ยุค 1980s ที่ได้ส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ทางสมองจากมหาวิทยาลัยในตะวันตกทำการวิจัย
โดยใช้พระทิเบตเป็นผู้เข้าทดลองเก็บข้อมูลแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสแกนสมอง (Brain Imaging) ด้วยเครื่อง fMRI ทำให้ผลของการทำสมาธิปรากฏออกมาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์จนมีงานวิจัยในเรื่องนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก มีการใช้กระบวนการ Mindfulness Based Therapy แบบต่างๆ ในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช พบผลในเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาเชิงสุขภาพจิตและกายหลายๆ ด้าน เช่น โรคซึมเศร้า กังวล เครียด นอนไม่หลับ การใช้สารเสพติด ฯลฯ
สำหรับในระดับห้องเรียน มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่มีสติ มีสมาธิดี จะมีความเครียด ความกังวลน้อย ส่งผลให้มีผลการเรียนที่ดี ไม่ค่อยขาดเรียน
ตัวอย่างงานโดยนักวิจัยจาก MIT-Harvard ร่วมกับองค์กรการศึกษาในบอสตันที่ทำการวิเคราะห์ภาพสแกนสมองของนักเรียนชั้น ป.6 ในเมืองบอสตัน 100 คน โดยกลุ่มทดลองใช้การฝึกอานาปานสติ (Breathing Meditation) ในขณะที่กลุ่มควบคุมให้ไปทำกิจกรรมฝึกโค้ดดิ้ง1 ผลการวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่ฝึกสมาธิจะมีความเครียดกังวลน้อยกว่า ภาพสมองส่วนอมิกดาลาที่ควบคุมด้านความกลัว การใช้อารมณ์ ลดการทำงานลง
งานวิจัยอีกชิ้นจาก MIT-Harvard เช่นกัน ได้เก็บข้อมูลเด็กนักเรียนชั้น ป.5- ม.2 ในบอสตันจำนวนสองพันกว่าคน โดยใช้แบบสอบถามวัดสเกลความมีสติ (Mindfulness Attention Awareness Scale)2 พบว่าระดับความมีสติของเด็กมีผลสัมพันธ์กับคะแนนสอบ การเข้าเรียน การมีปัญหาพฤติกรรมในห้องเรียน นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า หากเด็กและเยาวชนได้รับการฝึกสติอย่างต่อเนื่องจะส่งผลในเชิงบวกต่อจิตใจ อารมณ์ การปรับตัวในโรงเรียน โรงเรียนจำนวนมากในประเทศตะวันตกจึงมีการกำหนดให้มีกิจกรรมลักษณะนี้อยู่ในหลักสูตร3
พระภูมิศรัณย์ ภูมิปญฺโญ ในฐานะที่เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าการพัฒนาการเจริญสติ (Mindfulness) ให้กับเด็กและเยาวชน เป็นการลงทุนที่ไม่ได้มีต้นทุนสูง และสามารถได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า อาจจะดีกว่าหรือเทียบเท่าการลงทุนในระดับปฐมวัยที่นักเศรษฐศาสตร์เคยทำวิจัยด้วยซ้ำ เพราะหากเด็กและเยาวชนได้รับการปลูกฝังสติ สมาธิ มีความยับยั้งชั่งใจ มีวิจารณญาณ ย่อมจะสามารถใช้ชีวิตที่ดี สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในทางที่ถูกต้องได้ในระยะยาว
ปัจจุบันพอจะมีงานวิจัยในทางเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงผลตอบแทน (Return to Investment) ของการมีสติอยู่บ้างเช่นกัน แม้จะยังไม่ได้สมบูรณ์มากนัก เช่น วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ MIT ในปี 20234 ซึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ใช้โปรแกรมฝึกสมาธิทางแอปพลิเคชันของบริษัท Headspace โดยทำการเก็บข้อมูลแบบเชิงสุ่ม (RCT) ในกลุ่มเป้าหมายชาวอเมริกัน 2,384 คน
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองที่ได้ฝึกสติวันละ 10 นาที เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ในระยะเวลา 1 เดือน จะลดกลไกการสร้างความเครียดและความกังวล (0.44 SD เทียบกับกลุ่มควบคุม) ลดผลกระทบจากรับข้อมูลเชิงลบที่มีผลต่ออารมณ์ในการตัดสินใจที่สำคัญ และทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น มีรายได้สูงขึ้น (มี Productivity ในการตรวจต้นฉบับเพิ่มขึ้น 1.9%) อนึ่งการทดลองนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน ถ้าหากว่าได้มีการทำอย่างสม่ำเสมอน่าจะยิ่งเห็นผลที่ชัดขึ้นในระยะยาว
พระภูมิศรัณย์เห็นว่าในระยะยาวอยากให้ กสศ. ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องการพัฒนาการเจริญสติ (Mindfulness) ในเด็กและเยาวชนด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนในด้านเงินอุดหนุน
Mind Gen : การเดินทางเพื่อสร้าง Mindful Generation
เมื่อหันมามองในบริบทของเมืองไทย มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Mind Gen ที่เป็นการต่อยอดแนวทางตามหลักพุทธธรรม ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมและสร้างองค์ความรู้สำหรับคนหลากหลายกลุ่มทั้งเด็กและเยาวชน และผู้สนใจทั่วไป
พระบูชา ธัมมปูชโก ผู้อำนวยการโครงการพระธัมเจดีย์ และศูนย์สร้างสรรค์เยาวชนไทยหัวใจใฝ่ธรรม อดีตวิศวกร ปริญญาเอกมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้หันมาทำงานผลักดันด้านการพัฒนาจิตของเด็กและเยาวชน ได้อธิบายคำสอนสำคัญในทางพระพุทธศาสนาว่า “ธาตุรู้เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง” โดยได้ยกตัวอย่างการเจริญสติผ่านการขยับมือ 3 นาทีว่า
“การขยับมือนั้นเมื่อทำด้วยสภาพใจที่ผ่อนคลายและเป็นกลาง จะเป็นการฝึกมีสติอยู่กับฐานกายซึ่งเป็นคำสอนพื้นฐานในพุทธธรรม ถ้าจะอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ก็คือการรับรู้อยู่กับธรรมชาติภายใน คือระบบประสาทรับความรู้สึกของกาย (Body Sensation) ซึ่งตัวที่เชื่อมโยงอยู่ภายในร่างกายทั้งหมด คือตัวอิเล็กตรอนที่วิ่งอยู่ในระบบเส้นประสาท และอิเล็กตรอนนี่แหละที่เป็นอนุภาคมูลฐานสำคัญอันหนึ่งของจักรวาล และเป็นรอยต่อของการรับรู้ที่อยู่ภายในกับวัตถุที่อยู่ภายนอก ซึ่งตะวันตกพยายามอธิบายด้วยควอนตัมฟิสิกส์”
ห้องเรียนเสมอภาคทางอารมณ์
“หลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคือ ‘การบริหารทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการของมนุษย์’ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักความจริง เพราะความโลภของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด ควรจะกลับด้านประโยคเสียใหม่ เป็นบริหารความต้องการของมนุษย์ให้เพียงพอต่อทรัพยากรของโลก
“เมื่อหันมาดูเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ถ้าเราเน้นเพียงความเสมอภาคภายนอกด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว ก็อาจยังไม่สมดุล และอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำควบคู่ไปด้วยกัน แล้วจะทำให้ความเสมอภาคภายนอกนั้นสมดุลได้ ก็คือการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณสมบัติภายในคือการมีสติและความฉลาดทางอารมณ์ และให้เยาวชนในกลุ่มที่มีพลังภายในค่อนข้างเข้มแข็งหรือพัฒนาไปมากกว่า มีโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์และช่วยเหลือเยาวชนที่มีกำลังภายในอ่อนกว่า นั่นคือเปลี่ยนกลุ่มก้อนของเขาจากเด็กด้อยโอกาสเป็นเด็กสร้างโอกาส คือเขาต้องสร้างโอกาสให้ทั้งตนเองและในเครือข่ายของเขาเอง และพวกเราที่เป็นพลังภายนอก ก็ต้องสร้างโอกาสให้เขาด้วยเช่นกัน”
จุดเด่นของ Mind Gen คือ การมีทางเลือกให้กับเยาวชนที่แตกต่าง
“Mind Gen กลุ่มนำกระบวนกร พี่ๆ เป็นผู้นำกระบวนการให้น้องๆ เน้นเรื่องสติและความฉลาดทางอารมณ์ เน้นปริญญาตรีหรือ ม.ปลาย แต่ถ้าไม่ชอบทำกิจกรรม เราก็มี Mind Gen กลุ่มสร้างสื่อ ดังนั้นหากกลุ่มพี่ๆ ผู้นำกิจกรรมคนไหนไม่ถนัดที่จะออกหน้ามานำกระบวนการ ก็ยังสามารถฝึกที่จะทำงานเบื้องหลังได้ ทั้งการสร้างสรรค์สื่อและการสร้างบทเรียนออนไลน์ ตลอดจนการเป็นผู้บริหารจัดการวางแผนงานเบื้องหลังได้เช่นกัน
“กลุ่มผู้เรียนซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นเล็กเอง ก็มีโอกาสเป็นรุ่นพี่ผู้นำกิจกรรมหรือผู้สร้างสื่อหรือผู้บริหารจัดการแผนงานเบื้องหลังได้ โดยทางโครงการมีคู่มือการสร้างแบบฝึกหัดออนไลน์แบบอินเตอร์แอคทีฟประเภทต่างๆ เตรียมไว้สำหรับการฝึกอบรมเยาวชนผู้สนใจด้วย ช่วยให้เยาวชนได้มองเห็นช่องทางพัฒนาตัวเอง”
สติเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้ (Mindfulness for Life Learning)
สุพิชฌาย์ คงเพิ่มวงศ์ ผู้จัดกระบวนการและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนอย่างตื่นรู้แบบผสมผสาน อดีตสาวทำงานด้านการศึกษาเชิงธุรกิจที่ทิ้งเงินเดือนหลักแสนเพื่อหันมาทำงานที่มีความหมายต่อจิตใจ กล่าวว่า
“ในส่วนของกิจกรรมเยาวชนนั้นตั้งต้นจากการประยุกต์คำสอนดั้งเดิมกับประเด็นในโลกยุคใหม่ ทั้งเรื่องสติสัมปชัญญะและการประพฤติตนให้เป็นคนที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้นำโลกในงาน World Economic Forum ปี 2018 ว่าเราจะเตรียมตัวเด็กรุ่นใหม่อย่างไร ควรจะให้เรียนอะไรเพื่ออาชีพการงานในอีก 10-15 ปีข้างหน้า
“ทางโครงการจึงได้สร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้หลักเกี่ยวกับด้านจิตใจและการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์แบบอินเตอร์แอคทีฟที่เน้นใช้ภาษาอังกฤษ โดยนำมาผสมผสานผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเรื่องราว (Story-based Leatning Approach)”
เธอบอกว่ากระบวนการเรียนอย่างตื่นรู้ (Mindful Active Learning) นั้นคือการสอดแทรกการแสดงความคิดเห็นต่อตัวละคร เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏในเรื่องราว ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนเอง และต่อยอดไปสู่การสังเกตเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การฝึกทำความเข้าใจเรื่องเล่าและฝึกถ่ายทอดเรื่องราว นับเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้
“เรามีกลุ่มพี่ๆ ทำหน้าที่เป็นเสมือนคุณครู ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะและความถนัดที่แตกต่างกันไป โดยพี่บางคนอาจถนัดด้านภาษา บางคนถนัดด้านศิลปะ และบางคนถนัดด้านเครื่องมือเทคโนโลยี แต่ทุกคนจะช่วยกันสื่อสารกับผู้เรียน ทั้งเพื่อการทำความเข้าใจเนื้อหาหลัก และการเทียบเคียงกับคำตอบจากประสบการณ์ของผู้เรียนรุ่นเยาว์
“ระหว่างเรียนก็จะมีช่วงที่ให้ทุกคนได้กลับมาคอยรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกถึงการนั่ง การลุกขึ้นยืน การลงมานอนสบายๆ กลับมานั่งหลับตายกแขนขึ้นลงสบายๆ รวมถึงการกลับมาอยู่กับลมหายใจ เพื่อให้ทุกคนฝึกการรู้จักหยุดตัวเองจากกิจกรรมภายนอกเพื่อกลับมาสังเกตตัวเองว่าขณะที่เรียนรู้อยู่นั้นมีความเคร่งเครียด มีความกรำเกร็ง มีความสงสัยเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แล้วค่อยตั้งต้นเรียนต่อไปด้วยกันบนพื้นฐานของความสบายนั้นต่อไป”
1Mindfulness training reduces stress and amygdala reactivity to fearful faces in middle-school children. Behavioral Neuroscience, 133(6), 569–585. https://doi.org/10.1037/bne0000337
2Greater mindfulness is associated with better academic achievement in middle school. Mind, Brain, and Education, 13, 157–166. https://doi.org/10.1111/mbe.12200
3Mindfulness-based interventions in schools-a systematic review and meta-analysis. Front Psychol. 2014 https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25071620/
4Managing Emotions: The Effects of Online Mindfulness Meditation on Mental Health and Economic Behavior โดย Pierre-Luc Vautre และ Advik Shreekumar. Massachusetts Institute of Technology 2023
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mind Gen
• Website : https://mindgen.net/
• Youtube : www.youtube.com/@mindgen
ที่มา : เรียบเรียงบางส่วนจากกิจกรรมเสวนา “แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กและเยาวชน ประสบการณ์จากเครือข่าย Mind Gen” 25 พฤษภาคม ณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)