การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ.

การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ

การรวมตัวของเครือข่ายในวันนี้ เป็นการเปลี่ยนจาก project เป็น movement จากโครงการไปเป็นขบวนการ เปลี่ยนเจ้าของจาก กสศ. เป็นตัวท่านทุกคน และเครือข่ายของท่าน เราหวังว่าประเทศไทย ระบบการศึกษาไทย จะได้รับประโยชนนี้อย่างยั่งยืน จากตัว P (Project) ไปเป็น ตัว M (Movement) จากการเปลี่ยนเจ้าของ ในครั้งนี้

คุณค่าของสิ่งที่เราร่วมกันทำมาสามปี และร่วมกันทำอีกต่อไปยาวนานไม่มีวันจบ แต่ไม่เหมือนเดิม เราจะยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเป้าหมายการศึกษา คือตอบโจทย์ชีวิต และเป้าหมายของกสศ. ซึ่งประเทศไทย ต้องการอย่างยิ่ง คือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงความเหลื่อมล้ำในทุกด้านๆ ของสังคม เศรษฐกิจ ชีวิต คนที่เคยไปประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย จะเห็นว่าเป็นคนละสังคมกับบ้านเรา บ้านเรา เป็นสังคมที่ค่อนข้างเลียนแบบอเมริกัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำสูงมาก

การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คืออะไร ทำอย่างไรให้บรรลุ ?

การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ต้องเป็นการศึกษาที่ช่วยให้คนปรับเปลี่ยนตัวเองในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงคนได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  คำว่า การศึกษาน่าจะเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ ในสมัยใหม่ VUCA World หรือโลกที่ผันผวน สลับซับซ้อน ไม่แน่นอน คำว่า การศึกษาที่ความหมายแข็งตัว ยึดโยงตัวระบบ โดยเฉพาะระบบราชการ น่าจะปรับเข้าหาคำว่าการเรียนรู้ ซึ่งมีนัยยะเน้นที่ตัวผู้เรียนรู้ในทุกวัย มากกว่า ที่สำคัญต้องเรียนรู้ทุกด้าน  การศึกษาไทยและในประเทศต่างๆส่วนใหญ่ในโลก ก็ยังเน้นอยู่ที่ การเรียนวิชาหรือความรู้ แถมทักษะเข้าไปด้วย แต่ไม่เอาใจใส่เรื่อง V (Value) กับ  A (Attitude)  หรือ ค่านิยมและเจตคติ

ความคิดที่ว่า ค่านิยมของเด็กไม่ใช่หน้าที่ของระบบการศึกษา  นี่เป็นข้อจำกัด ถ้าให้ได้เป้าหมายที่เราต้องการต้องครบ VASK (V = values – ค่านิยม, A = attitude – เจตคติ, S = skills -ทักษะ, K = knowledge -ความรู้) ซึ่ง OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศที่พัฒนาแล้วกำหนดว่าเป้าหมายการศึกษาถึงปี 2030 เพื่อ Well-Being ของทุกคน ผ่านการพัฒนา VASK

ต้องหนุนการเรียนรู้ที่ไม่อยู่แค่ระดับตื้น (Superficial) ต้องเคลื่อนไปสู่ระดับลึกและเคลื่อนต่อไปสู่ระดับเชื่อมโยง เอาไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่นๆที่นักเรียนยังไม่เคยเจอ ซึ่งในความหมายใหม่ คือการพัฒนา Future Skill (ทักษะแห่งอนาคต) / Future Competency หรือ Transferable Skills ไม่ใช่เรียนแค่รู้ (Declarative Learning) ต้องไปสู่ ทำได้ ปฏิบัตได้ อย่างเป็นอัตโนมัติ (Procedural Learning )เป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้บรรลุ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning)เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในยุคใหม่

การศึกษาต้องไม่ใช่การศึกษาที่โฟกัสที่สถาบันการศึกษาแต่ต้องโฟกัสตัวผู้เรียน พลเมืองไทย ทุกอายุ ตั้งแต่ ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หมายถึง รับผิดชอบคุณภาพพลเมือง ไม่ใช่คุณภาพสถาบันการศึกษาไม่สำคัญ แต่ต้องมองเลยไปถึงตัวผู้เรียน

การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต สิ่งที่สำคัญคือ ชีวิตคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน แต่เท่าเทียมกันได้ การศึกษาที่มีรูปแบบเดียวตายตัว มีมาตรฐานเดียวตายตัว ไม่สนองโจทย์ของชีวิต เพราะคนเราเกิดมาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ตอบโจทย์ชีวิตที่เลี้ยงตัว และครอบครัว หลุดจากบ่วงปัญหาความยากจนได้ ในขณะเดียวกัน ทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชน โลกได้ด้วย ที่สำคัญไม่ตกเป็นเหยื่อ ของอบายมุข และทางเสื่อมทั้งหลาย

ตัวช่วยคือ V Value ค่านิยม กระบวนการจัดการเรียนรู้ หรือจัดการศึกษา การช่วยเด็กพัฒนาตัว V และ A ต้องบูรณาการในทุกชั่วโมงของการเรียน บูรณาการอยู่ในการออกแบบ Learning Ecosystem ระบบนิเวศการเรียนรู้ ไม่เฉพาะโรงเรียน แต่รวมถึง บ้าน ชุมชน และในไอที สื่อสังคมด้วย

ตอบโจทย์ ชีวิต สังคม ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 
เผชิญ Wicked Problem ตัวปัญหาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ชีวิตคนเรายุคนี้ ทุกคนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีส่วนอาจจะเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องมีคุณสมบัติของการเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง Change Agent การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนบรรลุสิ่งนี้ ตอบโจทย์ชีวิต ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต โลกที่ VUCA, BANI, Wicked มันเปลี่ยนตลอดเวลา เอาแน่เอานอนไม่ได้ การเรียนรู้ในทุกย่างก้าวของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญมาก Learning Skills เป็นเป้าหมายสำคัญ และ Learning Skills ที่สำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน คือเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning)

การที่คนเราจะมีชีวิตที่ดีได้ ในท่ามกลางโลกดังกล่าว คนเราต้องสามารถคุมอารมณ์บวกของตัวไว้ให้จงได้ ในการมองโลกแง่ดี มีความหวัง มีพลัง มี passion และมีคุณธรรม จริยธรรม เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งหมดที่เราต้องการ

เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ เราอยากให้โรงเรียน ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกล รับใช้คนยากลำบาก หรือยากจนแค่ไหน มีคุณภาพใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน สามารถทำได้ในหลายประเทศ

เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว เราเชิญศาสตราจารย์ท่านหนึ่งมาจากฟินแลนด์มาที่สถาบันอาศรมศิลป์ กระทรวงศึกษาธิการเอ่ยเรื่อง ปัญหาประเทศไทยคือ โรงเรียนประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ไม่พร้อม ต้องหาทางแก้ปัญหา  และขอความเห็นท่าน ท่านมองหน้าแล้วทำหน้าประหลาดๆ ท่านบอกว่า สภาพปัญหานี้เป็นสภาพที่ฟินแลนด์ ฟินแลนด์ก็เป็นแบบนี้ แต่ของเขาโรงเรียนห่างไกลอย่างไร การันตีคุณภาพมาตรฐาน เท่าเทียมกับโรงเรียนในเมือง มีการจัดการเชิงระบบ เพื่อให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียม ใกล้เคียงกัน อาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ใกล้เคียงกัน อันนี้ให้เห็นว่าวิธีมองเรื่องคุณภาพเท่าเทียม บ้านเรากับฟินแลนด์มองคนละแบบ

ที่สำคัญคือ นักเรียนทุกคนเรียนแล้วบรรลุ Learning Outcome ขั้นต่ำ เราจะเห็นว่า เวลามีรายงานผลการศึกษา ทดสอบต่างๆทีไร จะเห็นว่า เด็กของเราไม่ถึงครึ่งบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ เป็นแบบนี้เป็นสิบปี แล้วความรับผิดรับชอบ อยู่ที่ไหน

ในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำถ้าเราไม่ระวัง โรงเรียนจะเป็นแหล่งของความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียน ยกย่องแต่เด็กฉลาดทางวิชาการ ไม่ยกย่องเด็กที่ฉลาดทางด้านกีฬา ทางด้านศิลปะ ทางด้านที่ไม่ใช่วิชาการ ซึ่งมีอีกหลาย intelligence เมื่อเป็นอย่างนี้ เด็กที่ไม่ได้รับยกย่อง ก็ถูกกดความรู้สึก ความมั่นใจในตัวตนจะหายไป แทนที่เขาจะพัฒนาได้ดี เขาเข้าใจว่าตนเองอ่อนแอ ทั้งที่เป็นคนแข็งแรง แต่แข็งแรงคนละด้าน แต่บังเอิญว่าระบบยกย่องเฉพาะคนเรียนหนังสือเก่ง อันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในโรงเรียนเอง ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมความเหลื่อมล้ำในสังคม ครอบครัว วัฒนธรรม

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนและสถานศึกษาต้องใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ต้องเข้าใจ หลากหลายมิติ บริบทที่จำเพาะ และเปิดโอกาสให้โรงเรียนดำเนินการตามบริบทของตน นี่คือประเด็นของการไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แล้วทำอย่างไร?

  • จัดการศึกษาโดยมุ่งสร้างLearning Outcome เป็นเป้าหมายหลัก สิ่งที่อยากจะย้ำ  ไม่ใช่แค่ Learning Outcome ของนักเรียน แต่ต้อง Learning Outcome ของครูด้วย และรวมทั้ง Learning Outcome  ของระบบการศึกษา ทั้งระดับmicro (โรงเรียน), meso(พื้นที่การศึกษาและจังหวัด), macro (ประเทศ)
  • มุ่งสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้  เราต้องเรียนรู้ไม่ใช่แค่ระดับบุคคล ต้องเป็นระดับที่ใหญ่กว่าบุคคลด้วย   เวลาจัดการเรียนรู้หรือจัดการศึกษา  ต้องเข้าใจว่า เราต้องช่วยกันทำให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัว มุ่งสร้างการเปลี่ยนขาด (transformation)  ในส่วนต่างๆ ของระบบการศึกษา   มุ่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง  
  • ที่สำคัญคือ การศึกษาต้องมุ่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่บ้านเมือง  ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือทุกคน ในสังคมไทย เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน ในต่างบริบท ต่างบทบาท  ทั้งนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และพลเมืองทุกคน เป็นผู้นำการเปลี่ยน (agentic citizen, agentic teachers) เป็นผู้ที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาต่างๆ ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศ กล้าคิดกล้าลอง กล้าหมุนวงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์
  • หนุนให้ครู นักการศึกษา เป็นนักเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ ทำให้ดียิ่งตลอดเวลา หมุนวงจรการเรียนรู้ไปสู่การพัฒนา การทำงานของครูและโรงเรียน ส่วนใหญ่ 80% หมุนโดยวงจรการเรียนรู้ของตัวเอง คนอื่นมาช่วย ส่วนกลางมาช่วย แต่ส่วนใหญ่ต้องเป็นผลงานของตัวเอง หรือร่วมกัน โดยพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย (Purpose) เป้าหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ ลึกซึ้งมาก เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายที่เลยจากผลประโยชน์ตัวเอง ขณะเดียวกัน ต้องมีเป้าหมายที่เล็กลงมา สามารถบรรลุได้อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้  (OKR, KRA, KPI) ช่วยกำหนดหางเสือ พฤติกรรมได้อย่างดี เป็นการพัฒนาต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด  
  • หัวใจสำคัญอีกอันหนึ่งคือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการเรียนรู้ ต้องเปลี่ยน Mindset การเรียนรู้ จากถ่ายทอดความรู้ แต่สร้างความรู้ใส่ตัว
    – จาก (รับ) ถ่ายทอดความรู้ (Passive Leaning) เป็น สร้างความรู้ใส่ตัว (สัดส่วน 20 : 80) (Active Learning) การเรียนรู้เชิงลึก
    – ครูต้องเปลี่ยนบทบาท จากครูสอน ครูรู้ ผู้บอก เป็น ครูเป็นนักออกแบบ นักตั้งคำถาม และนักสังเกตลูกศิษย์ เรียนไปถึงไหน คนไหนเป็นอย่างไร ตรงนี้สำคัญมาก ลูกศิษย์ 20 คน 20 แบบ บางคนเบื่อเรียนง่าย ต้องหาวิธีกระตุ้นให้ได้ทำในสิ่งที่สนุกด้วย   (สัดส่วน 20 : 80)
    – จากครูรับคำสั่ง เป็น ครูร่วมกันคิด และริเริ่ม (สัดส่วน 20 : 80)
    – จากเรียนจากครู/โรงเรียน เท่านั้น เป็น เรียนรู้จาก “พื้นที่ 2/3” ด้วยการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่า นักเรียนไม่ได้เรียนรู้แค่ที่โรงเรียน หรือดำเนินการโดยโรงเรียนเท่านั้น เด็กยังมีพื้นที่ 2 ใน 3 หรือ 16 ชั่วโมง ที่ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน แต่นักเรียนเรียนรู้ด้วย ต้องเอาใจ่ใสช่วยกันดูแลจัดการด้วย
    – ต้องไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้วิชาหรือมีทักษะเท่านั้น แต่ต้องเอาใจใส่เรื่อง V และ A ด้วย
    – เปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยการเรียนรู้ สัดส่วน 20:80
    จากเรียนเพื่อรู้ (declarative learning) เป็น เรียนเพื่อทำได้ (procedural learning)
    จากเรียนในห้องเรียน สู่ เรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) 
    จากเรียนทฤษฎีของคนอื่น สู่ การตั้งทฤษฎีด้วยตนเอง (conceptualization ด้วยการสะท้อนคิดจากประสบการณ์) 

เพื่อบรรลุเป้าหมาย ห้องเรียนหรือการจัดการเรียนรู้ของครูต้องทำให้เกิดห้องเรียนพลังสูง หรือกระบวนการเรียนรู้พลังสูง High Functioning Classroom

การศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ คือการศึกษาที่หนุนพลังความเป็นมนุษย์ การศึกษาที่ผิดพลาดลดทอนมิติความเป็นมนุษย์  ทำให้พลเมืองอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ทำให้ประเทศของเราไม่เข้มแข็ง อันนี้สำคัญมาก และลึกซึ้งตีความได้เยอะ ผมมีความเชื่อว่า มิติความป็นมนุษย์ยิ่งใหญ่ มีพลังสูงมาก สิ่งที่เรียกว่าการศึกษา การเรียนรู้ เป็นการช่วยให้แต่ละคน ดึงเอามิติความเป็นมนุษย์ พลังความเป็นมนุษย์ออกมา โดยร่วมกับเพื่อน ร่วมกันครู พ่อแม่ คนรอบตัว ที่เรียกว่าเป็น Social Learning เป็นเรื่องใหญ่มาก สามารถจะมีการคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากมาย การศึกษาตอบโจทย์ชีวิตลดความเหลื่อมล้ำ ต้องยึดหยุ่น มีความหลากหลาย ไม่ใช่มีรูปแบบตายตัว และหนุนการเป็นผู้ก่อการ เป็นการศึกษาตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ไม่ใช่แค่ที่คนเข้าไปอยู่ใน โรงเรียนหรือสถาบันเท่านั้น และเป็นการศึกษา ที่ทุกคนหมุนวงจรการเรียนรู้ของตัวเองเพื่อฝึกให้ตัวเอง เป็น Learning Person และทำให้ เป็น Learning Society อย่างต่อเนื่องตลอดไป  


เรียบเรียงจากการกล่าวเปิดวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น