เด็กและครูเรียนรู้จากความผิดพลาดไปด้วยกัน
น.ส.มารีสา บินรัตแก้ว โรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา จ.สงขลา โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เด็กและครูเรียนรู้จากความผิดพลาดไปด้วยกัน

ชั้นเรียนที่คุณครูต้องรับผิดชอบ คือ ชั้นประถมปีที่ 4 มีนักเรียนทั้งหมด 39 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเล เด็กชาวเลนั้นมีนิสัยชอบพูดเสียงดัง เป็นอุปนิสัยที่มาจากการถูกธรรมชาติหล่อหลอม บ้านพวกเขาอยู่ในที่ที่มีลมทะเลพัดแรง ต้องพูดตะโกนสื่อสารกันเลยติดเป็นนิสัย อยู่ในห้องก็มักจะเคยชินกับการพูดคุยที่ใช้เสียงดัง และบางครั้งก็ทะเลาะกัน

แต่จุดเริ่มต้นของปัญหา คือ ครูเห็นเด็กๆ เล่นพับกระดาษที่ฉีกมาจากสมุดเรียนที่โรงเรียนแจกให้ ทำให้มีขยะอยู่ในห้องเป็นจำนวนมาก ครูจึงได้พยายามตักเตือนพวกเขาและตั้งคำถามหน้าชั้นเรียน ว่านักเรียนรู้ไหม กว่าจะได้กระดาษแต่ละแผ่นต้องสูญเสียทรัพยากรไปมากมายแค่ไหน ต้องสูญเสียต้นไม้ไปเท่าไหร่  สิ่งที่บอกกระตุ้นให้เด็กเริ่มอยากรู้อยากเห็นและถามว่ากระดาษผลิตยากแค่ไหน

เมื่อพวกเขาเริ่มอยากรู้อยากเห็น ท่าทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะชักชวนให้เขาพยายามช่วยหาคำตอบโดยใช้ “วิธีโครงงานฐานวิจัย” เด็กๆ เริ่มเปิดคลิปวีดีโอวิธีทำกระดาษจาก YouTube และทำให้พวกเขาทราบว่าขั้นตอนในการทำกระดาษมีอะไรบ้าง ทราบว่ากระดาษที่พวกเขาฉีกเล่น ทำมาจากต้นยูคาลิปตัส แล้วเด็กๆ ก็เริ่มคิดกันว่าอยากทำกระดาษเองบ้าง แต่ก็ทราบข้อจำกัดว่าไม่มีต้นยูคาลิปตัสจึงช่วยกันคิดว่าจะทำกระดาษอะไรดีที่ไม่ต้องใช้วัตถุดิบนี้

พวกเขาคุยกันจนตกลงกันว่าจะทำกระดาษสา ครูพยายามสร้างโจทย์และข้อจำกัด โดยบอกกับเด็กๆ ว่ากระดาษสาที่พวกเขาจะทำต้องไม่มีส่วนผสมของกระดาษเพราะพวกเขาไม่ได้เห็นคุณค่าของกระดาษตั้งแต่แรก และห้ามใช้สารเคมีอย่างโซดาไฟเพราะเป็นส่วนผสมที่อันตราย จะต้องไปหาส่วนผสมอื่นที่เหมาะสม 

เงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้นักเรียนพยายามหาวัตถุดิบอื่นจากรอบๆ โรงเรียน เช่น ต้นกล้วย ใบไม้แห้ง ก้านมะละกอ ใบมะละกอ จากนั้นก็นำวัสดุที่หามาได้ทดลองทำกระดาษโดยใช้วิธีที่ศึกษามาจากคลิปใน YouTube แต่กระดาษที่พวกเขาพยายามทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งแรกไม่ออกมาเป็นแผ่น  

ครั้งที่ 2 ก็เช่นกันจนกระทั่งถึงครั้งที่ 3 ก็ยังไม่สำเร็จจึงเริ่มท้อและมาปรึกษากับครูว่า เงื่อนไขที่ครูตั้งขึ้น ทำให้การทดลองทำกระดาษนั้นยากที่จะสำเร็จได้

แล้วครูกับเด็กก็ยอมรับร่วมกันว่าทั้งเงื่อนไขและผลลัพธ์ที่ทำให้การพยายามทำกระดาษสาล้มเหลวเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันแก้ไข และหาทางออก จนได้คำตอบว่าวัสดุใบไม้แห้งที่หาได้จากรอบๆ โรงเรียนจำเป็นที่จะต้องถูกนำไปต้มให้เปื่อย เพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยกระดาษ ในระหว่างกระบวนการนี้ นักเรียนคนหนึ่งได้บอกกับครูว่าได้สังเกตพบว่าเส้นใยที่ทดลองต้มมามีเพียงก้านมะละกอเท่านั้นที่ทำได้เส้นใยที่ใกล้เคียงกับกระดาษสาที่วางขายในท้องตลาดมากที่สุด  เขาเชื่อมั่นว่าก้านมะละกอแตกต่างจากพืชชนิดอื่นเพราะมียางเหนียว ในที่สุดสิ่งที่นักเรียนพยายามช่วยกันแก้ปัญหาก็ประสบความสำเร็จได้กระดาษสาตามที่ตั้งใจ 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ร่วมกันแล้วว่า การทดลองที่ล้มเหลวหลายครั้งติดต่อกันหากหมั่นช่วยกันให้กำลังใจและบอกกันว่า ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ดูอีกครั้ง อุปสรรคนั้นก็อาจจะผ่อนคลายลง และความสำเร็จที่ได้ คือ ผลพวงจากการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติจริงและเรียนรู้ว่าพวกเขาจะต้องมีความมุ่งมั่นและพิสูจน์ว่าสามารถทำได้

แล้วครูก็ถามนักเรียนอีกครั้งว่า คราวนี้ยังอยากจะฉีกกระดาษสมุดเล่นอีกไหม พวกเขาก็ตอบทันทีว่า ไม่แล้วครับ ตอนนี้ทุกคนได้ทราบแล้วว่า กว่าจะได้กระดาษแต่ละแผ่นมานั้นยากมาก พวกเขาจะไม่ฉีกมันโดยไม่รู้คุณค่าอีก คำพูดที่พวกเขาบอก ไม่ใช่เป็นการพูดเพื่อเอาใจคุณครู แต่เป็นคำพูดที่มาจากความเข้าใจเงื่อนไขกระบวนการที่พวกเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง 

กระบวนการที่ใช้สอน

เริ่มจากให้นักเรียนศึกษาวิธีการทำ ครูเป็นผู้วางเงื่อนไขห้ามไม่ให้ใช้วัตถุดิบอะไร ให้นักเรียนนำเสนอไอเดีย จากนั้นก็เริ่มลงมือทำโดยไม่เข้าไปกำกับว่าวิธีไหน คือวิธีที่ถูกวิธีไหนคือวิธีที่ผิดให้พวกเขาเรียนรู้เอง 

ผลลัพธ์ที่ได้คือความล้มเหลวถึง 3 ครั้ง ความล้มเหลวกระตุ้นให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีทำ ครูผู้สอนเองก็เรียนรู้ที่จะต่อรองกับนักเรียนและช่วยให้กำลังใจให้นักเรียนอย่าท้อถอย ช่วยกันลองนำเสนอวิธีการใหม่ๆจนบรรลุผลสำเร็จ

โครงงานฐานวิจัยของนักเรียน คือกระบวนการที่เน้นให้นักเรียน “ตั้งคำถาม” และ มีการ “ทดลอง” เพื่อให้ได้ “คำตอบ” ซึ่งคำตอบที่ได้อาจออกมาเป็นคำตอบหลายชุด และไม่มีคำตอบใด เป็นคำตอบที่ผิด  ในการเรียนโครงงานฐานแต่ละครั้ง จะเริ่มจาก “จินตปัญญา”  ให้นักเรียนได้ถอดบทเรียนว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้ฟัง ได้ดู สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาพยายามหาคำตอบอย่างไร ให้เด็กสามารถบูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ผ่านการทดลองโครงงานที่เขาตั้งใจ การรู้จักสังเกตและตั้งคำถาม แสดงให้เห็นว่าอยากรู้ และมีความสนใจด้านไหน มีศักยภาพด้านใด และกระบวนการทั้งหมด จะกลายเป็นกลไกที่ช่วยให้พวกเขา นำวิธีการที่ได้ ไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆ อีกด้วย

ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก

เมื่อเด็กๆ ทะเลาะกัน ครูเคยใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการลงโทษ แต่ปัญหาการทะเลาะกันก็ไม่เคยลดลง แต่จากประสบการณ์การสอนและกระบวนการทำงานร่วมกัน ครูได้เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาเด็กทะเลาะกันต้องเข้าใจว่าไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการลงโทษได้เพราะ เด็กยิ่งโตขึ้น ก็ยิ่งต้องใช้เหตุผลใช้ความเข้าใจพวกเขามากกว่าการลงโทษ

เด็กยิ่งโตยิ่งไม่ต้องการการบังคับในเรื่องต่างๆ แต่ต้องการการยอมรับในสิ่งที่พวกเขาทำและเรียนรู้ เหมือนที่เขาพยายามบอกกับคุณครูว่าเขาสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ต้องยอมรับว่าเด็กเมื่อโตขึ้นพวกเขาจะพยายามมีความคิดเป็นของตัวเอง ก่อนหน้านี้ครูพยายามบอกว่า ทำแบบนั้นสิ ทำแบบนี้สิ พวกเขาก็จะต่อต้านและบอกกลับมาว่าไม่เขาจะใช้อีกวิธีหนึ่ง ตอนนี้ครูได้เรียนรู้แล้วว่านักเรียนมักจะไม่เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ครูสอน แต่จะเรียนรู้จากสิ่งที่ครูเป็นหรือแสดงออก

ข้อค้นพบของครู

  • ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
  • การแก้ปัญหาเด็กโตยิ่งต้องใช้เหตุ-ผล ใช้ความเข้าใจ (เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา)
  • เด็กยิ่งโตยิ่งไม่ต้องการการบังคับ แต่ต้องการการยอมรับ
  • นักเรียนมีความคิดเป็นของตนเอง ครูไม่สามารถมาบงการความคิดของเขาได้
  • ถ้ารู้สึกโกรธหรือไม่พอใจ คุณครูก็จะให้เด็กๆแสดงความโกรธออกมาได้ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าการโกรธไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่คนโกรธที่ฉลาดคือการรู้เท่าทันและจัดการความโกรธนั้นได้โดยไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่น


เรียบเรียงจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ น.ส.มารีสา บินรัตแก้ว โรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา จ.สงขลา โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น