Internet Lost Education Error!
เราจะร่วมกันสร้าง ‘ความเสมอภาคทางการศึกษา’ ได้อย่างไร ในวันที่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษในประเทศไทย ไม่สามารถเข้าถึง ‘อินเทอร์เน็ต’ เพื่อการเรียนรู้ได้เท่ากัน
.
.
‘อินเทอร์เน็ต’ คือ ปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงความรู้และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นปัจจัยจำเป็นที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ ทั้งจากบทเรียนในช่วงชั้นที่ศึกษา และโอกาสในการเรียนรู้โลกกว้าง
.
เมื่อเด็กบางกลุ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ขณะที่เด็กบางกลุ่ม เน็ตหลุด เน็ตหาย เข้าถึงไม่ได้ ‘การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียม’ จึงอาจหมายถึงความเสมอภาคทางการศึกษาที่ขาดหาย และโอกาสของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอนาคต
.
.
‘นักเรียนยากจนพิเศษ’ กำลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา
ข้อมูลจากการสำรวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคในปี 2564 จัดทำโดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ด้วยวิธีโทรศัพท์ใน 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งหมายถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 1,398.75 บาท จำนวน 1,541 คน และนักเรียนครัวเรือนทั่วไป ซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 11,799.21 บาท จำนวน 861 คน พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษ เผชิญปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่
– การไร้เน็ตบ้าน
66% ของนักเรียนยากจนพิเศษ ใช้เน็ตมือถืออย่างเดียว เนื่องจากการใช้เน็ตบ้านมีค่าติดตั้งเพิ่มเติม บริการไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ไฟฟ้าและเอกสาร ซึ่งบางบ้านไม่มี
– การไร้อุปกรณ์
71% ของนักเรียนยากจนพิเศษใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียนรู้ และไม่ถึง 5% ที่มีแท็บแล็ต/คอมพิวเตอร์ ทำให้นักเรียนยากจนพิเศษส่วนใหญ่ได้รับประสบการณ์เรียนรู้ไม่เต็มที่ บ้างจ้องหน้าจอขนาดเล็ก บ้างทนกับแบตเตอรี่โทรศัพท์ร้อนเร็ว
– การไร้เงินเติมเน็ต
นักเรียนยากจนพิเศษต้องเสียค่าเติมเงินมือถือสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษมีรายได้น้อย 17% ของรายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเป็นค่าเติมเงินมือถือซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าครอบครัวนักเรียนทั่วไปถึงเกือบ 4 เท่าเลยทีเดียว
.
.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างมีบทบาททำให้เด็กทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสมอภาคมากขึ้นได้ #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน ‘อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ที่เสมอภาค’ ดังต่อไปนี้
.
‘หน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม’
– ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย
– ต้องทำให้ทุกคนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้ออินเทอร์เน็ตที่เท่ากัน
– ต้องสร้างมาตรการเชิงรุกไม่ให้ความยากจนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเพื่อการเรียนรู้
.
‘ผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคม’
– จัดทำซิมเพื่อการศึกษา ซิมฟรี หรือ ซิมเน็ตที่มีราคาถูกที่สุดสำหรับนักเรียน
– จัดทำโปรโมชันเครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่หรือส่วนลด เมื่อนำโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องเก่าที่ยังมีคุณภาพไปให้นักเรียนที่ต้องการใช้เรียน
.
‘ผู้ให้บริการเติมเงินอินเทอร์เน็ต’
– ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการเติมเงิน
– ให้ข้อมูลราคาที่ครบถ้วนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับในการเติมเงินแต่ละช่วงราคา และอัตราค่าธรรมเนียมของแต่ละช่วงราคา เป็นต้น
– มีช่องทางการร้องเรียนและให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ สะดวก รวดเร็ว
.
.
ท้ายนี้ กสศ. ชวนเข้าไปสำรวจสัญญาณการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษในประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อการศึกษาที่เสมอภาคต่อไปในอนาคต ผ่าน Data Storytelling ชุด “Internet Lost Education Error! นักเรียนยากจนพิเศษไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ลองตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกครั้ง”
คลิก