เริ่มต้นได้ ไปต่อจนถึง ‘อุดมศึกษา’

เริ่มต้นได้ ไปต่อจนถึง ‘อุดมศึกษา’

สอบได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เมื่อไร้หลักประกันโอกาส เด็กจึงเดินออกจากระบบการศึกษา

21,922 คน คือจำนวนเด็กยากจน – ยากจนพิเศษ ในระบบการคัดกรองนักเรียนยากจนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่สอบติดมหาวิทยาลัย
.
เพื่อบรรลุภารกิจส่งช้างเผือกถึงปริญญาตรี ‘การสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษา’ จึงเป็นคำตอบ
.
บทบาทของ กสศ. ในระยะ 5 ปีของการก่อตั้ง ได้ร่วมมือทำงานกับหลายหน่วยงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษา อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อจัดเก็บ เชื่อมโยง และส่งต่อฐานข้อมูลความยากจนของนักเรียน ให้ได้รับการสนับสนุนการศึกษาที่ต่อเนื่อง
.
นอกจากจะเชื่อมเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ให้ขาดกลางทาง ‘การสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษา’ ยังเป็นการลงทุนในศักยภาพมนุษย์ ผลลัพธ์คือวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากขึ้น สร้างผลตอบแทนกลับสู่ประเทศด้วยการเข้าสู่ระบบฐานภาษี และก้าวเข้าสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงในอนาคต
.
.
#โดยการปักหมุดสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษา อนุบาล-ปริญญาตรี มีระบบดังนี้
.
:: ช่วงแรกเกิด – เตรียมอนุบาล ✨
กสศ. เตรียมความพร้อมนักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านงานวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีความพร้อม เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้รับการเติมเต็มตั้งแต่เริ่มต้น
.
:: ช่วงอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้น ✨
กสศ. และหน่วยจัดการศึกษาต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน จัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ
.
:: ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย – ปวช. ✨
กสศ. ยังคงติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคล ด้วยการส่งต่อข้อมูลเข้าระบบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และส่งต่อข้อมูลความยากจนให้หน่วยจัดการศึกษาต้นสังกัดพิจารณาการสนับสนุนเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ มีความพยายามส่งต่อข้อมูลนักเรียนให้ได้รับการสนับสนุนจาก กยศ. การระดมความร่วมมือกับภาคเอกชน มูลนิธิ ภาคประชาสังคม และประชาชน ผลักดันให้นักเรียนยังคงอยู่ในเส้นทางการศึกษาตามความถนัดและความสนใจ
.
:: ช่วงอุดมศึกษา – ปวส. ✨
กสศ. ติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคลด้วยความต่อเนื่อง มีการเชื่อมโยงข้อมูลการสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อส่งต่อข้อมูลให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนทุนให้สามารถเรียนต่อได้จนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่า นอกจากนี้ กสศ. ได้มีทุนสร้างโอกาสด้วยเช่นกัน คือ ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ และ ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น
.
:: ช่วงวัยแรงงาน ✨
กสศ. มีการติดตามเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา เชื่อมโยงข้อมูลกับสถานประกอบการให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมทุกช่วงวัย
.
🌈 อ่านรายงานฉบับพิเศษ ‘ภารกิจส่งช้างเผือกให้ถึงดวงดาว’ หลักประกันโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับถึงอุดมศึกษา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ที่ : https://shorturl.asia/NZUhu

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม