“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อเราสำรวจสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทยหรือประชากรที่มีอายุ 18 ปีลงมา พบว่ามีตัวเลขฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ตัวเลขของสถานการณ์การฆ่าตัวตายทั้งที่ประสบความสำเร็จและมีแนวโน้มหรือความพยายามก็ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เพราะตัวเลขที่ได้มาจากสาเหตุการเสียชีวิตที่ระบุไว้ในมรณะบัตร ซึ่งเชื่อว่าบางรายไม่ได้ระบุสาเหตุอย่างแท้จริงว่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย บางรายอาจจะระบุว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือสมองกระทบกระเทือน”
นี่คือสถานการณ์ที่สะท้อนโดย นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ถึงด้านที่น่าเป็นห่วงของปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน
“ตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงมาก แต่ต้องยอมรับว่าการรวบรวมข้อมูลด้านนี้ ยังมีอุปสรรคหลายด้านโดยเฉพาะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช จนนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือและประสบปัญหาความไม่ไว้วางใจในการสอบสวนโรคกรณีฆ่าตัวตายเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกอย่างถูกต้อง จนทราบต้นตอของปัญหาที่แท้จริง ทราบข้อมูลที่สามารถนำมาประกอบแผนการดำเนินการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม หรือหาทางเฝ้าระวังก่อนเกิดปัญหา และกระทั่งวางแผนการรักษากรณีที่พบว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือกระทั่งวางแผนการดูแลที่สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างและมีสัดส่วนไม่เท่ากัน เช่นสาเหตุที่มาจากปัญหาด้านความสัมพันธ์มักจะพบในจังหวัดใหญ่ ๆ หรือพื้นที่เขตเมือง”
นายแพทย์จุมภฏ ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปัญหาจิตเวชของเด็ก ก็คือเด็กคนนั้นไม่ได้อยู่ในระบบการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น ทำให้การช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง การจัดทำ Data Catalogue แนวทางและกระบวนการสำหรับดูแลช่วยเหลือนักเรียนซึ่งได้รับความเดือดร้อน หรือประสบปัญหานี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
การจัดเก็บข้อมูลใน Big Data ของ สพฐ. จะช่วยให้ทราบข้อมูลตัวเด็ก และแนวทางการแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งการแก้ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่เข้าไปแก้ปัญหาจะต้องมีความรู้และมีแนวทางในการเข้าไปช่วยเหลือที่ละเอียดอ่อน เช่นไม่สามารถบอกตรง ๆ กับเด็กหรือผู้ปกครองว่ากำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ ต้องใช้วิธีพูดที่แสดงความเป็นห่วง ไม่ใช้คำพูดที่กระทบจิตใจของอีกฝ่าย และชักชวนให้แก้ปัญหาร่วมกัน โดยให้การปรึกษา การบำบัดรักษา ดูแลอย่างใกล้ชิดคลุมทุกมิติปัญหา ซึ่งปัจจุบันระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ School Health Hero ได้ขยายการดูแลครอบคลุมทั่วประเทศแล้วถึง 97 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละอำเภอในประเทศไทย
นายแพทย์จุมภฏ กล่าวว่า School Health HERO ย่อมมาจาก Health And Educational Reintegrating Operation คือระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ เพื่อเฝ้าระวัง เรียนรู้ และรับคำปรึกษาเพื่อดูแลนักเรียนที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม โรงเรียนที่เข้าสู่ระบบนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปเตรียมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต HERO Consultant เพื่อช่วยเหลือครู และให้องค์ความรู้ในรูปแบบ E-Learning ด้านสุขภาพจิตเพื่อสนับสนุนครู ให้เกิดเป็นฐานข้อมูลนักเรียนด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม เพื่อการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนภายใต้โครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนไทยด้วยระบบสุขภาพจิตดิจิทัล ในการลดปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์ในนักเรียนกลุ่มเสี่ยง
ระบบที่ออกแบบขึ้น จะช่วยให้ครูใช้เฝ้าระวัง เรียนรู้ และรับคำปรึกษา เพื่อดูแลนักเรียนที่เสี่ยงต่อปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคม ดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในนักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วด้วยคำถาม 9 ข้อง่าย ๆ ในการคัดกรองเด็ก ได้แก่ ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อน และไม่มีเพื่อน ซึ่งเมื่อเข้าสู่การประเมินแล้วจะทราบผลในทันที
“ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยิ่งพบปัญหาเร็วก็ยิ่งหาทางแก้ปัญหาได้เร็ว เด็กจะเติบโตขึ้นได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งกรณีนี้ต้องบอกกับผู้ปกครองว่าควรให้ความร่วมมือในการดูแลด้านนี้ เพราะเด็กซนจนผิดปกติอาจจะเปลี่ยนเป็นเด็กอันธพาล เด็กอันธพาลอาจจะพัฒนาไปเป็นเด็กที่ต้านสังคม ขาดมุมมองหรือความเข้าใจที่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น เด็กทุกวัย มีจุดเปราะบางที่ต้องใส่ใจ เด็กเล็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นอาจจะพัฒนาไปเป็นเด็กวัยรุ่นที่ถูกชักจูงได้ง่าย การเก็บข้อมูลในวัยเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะข้อมูลที่ได้ จะถูกนำไปออกแบบการดูแลซึ่งพัฒนาให้ทันต่อปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมปัญหา สามารถแก้ปัญหา ช่วยประคับประคองจิตใจให้กับพวกเขาในระยะยาว หรือตลอดชีวิตวัยเรียนได้” นายแพทย์จุมภฏ ทิ้งท้าย