“ถ้าถามว่า โรงเรียนเราขาดอะไรบ้าง เยอะค่ะ หรือจะบอกว่าขาดแคลนทุกอย่างเลยก็ได้”
ที่โรงเรียนซองกาเรีย ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี สถานที่จัดกิจกรรม ‘ถนนครูเดิน’ ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิกระจกเงา จัดขึ้นเพื่อเป็น ‘ตลาดสื่อการศึกษา’ ช่วยจัดหาอุปกรณ์การเรียนและสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดกาญจนบุรี เราพบครูท่านหนึ่งที่เดินทางมาไกลกว่า 80 กิโลเมตร บนเส้นทางที่ลาดชัน คดเคี้ยว และอันตรายในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ เพื่อเสาะหาอุปกรณ์การเรียนและสื่อการสอนให้กับเด็ก ๆ จำนวน 135 คน ด้วยงบส่วนตัวทั้งค่าเดินทางและทุนจัดซื้อสิ่งของ
ครูแนะนำตัวว่าชื่อ ‘ครูอุ้ม’ ลัดดาวัลย์ ทวีทา จากโรงเรียนบ้านจันเดย์ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึง ป.6 โดยในโรงเรียนมีครูและเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 10 คน และทุกเทอม ครูไม่กี่คนในโรงเรียนต้องใช้วิธีรวบรวมเงินกันเพื่อนำไปซื้อสื่อการสอนใหม่ ๆ โดยหวังว่าเด็กจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกสักนิดที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทัดเทียมกับเด็กวัยเดียวกันในพื้นที่อื่น ๆ
“งบที่โรงเรียนได้รับนั้นไม่เคยพอ เพราะจำนวนเด็กเราน้อย งบรายหัวที่ได้รับมาก็น้อยตามไปด้วย โรงเรียนจำเป็นต้องเอาไปใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ใช้ซ่อมแซมอาคารเรียนต่าง ๆ แค่นั้นก็ไม่เหลือแล้วสำหรับเอามาใช้จัดการเรียนการสอน พวกเราที่เป็นครูเลยคุยกันว่า เด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัย ต้องได้รับการกระตุ้นการเรียนรู้อย่างมาก เพื่อพัฒนาการที่สมวัยและปูพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการต่อยอดในช่วงชั้นอื่น ๆ ดังนั้นเด็กควรมีสื่อดี ๆ และหลากหลาย แต่พอไม่มีงบสนับสนุนเข้ามา ความพยายามที่ทำได้ตอนนี้ จึงเป็นการช่วยกันเองไปก่อน”
ครูอุ้มฉายภาพในพื้นที่ให้เห็นว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ของเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านจันเดย์ประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยาง ทำสวนทำไร่ โดยตัวโรงเรียนตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน เด็กนักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งจึงต้องจ้างรถรับส่ง ตกราวคนละ 300-400 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยเลยสำหรับครอบครัวที่มีรายได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ได้มีรายรับทุกวัน
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนครู ครูอุ้มเองเล่าว่าตนเป็นคนในพื้นที่ เป็นครูอัตราจ้างมาก่อน แล้วสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนบ้านจันเดย์ซึ่งห่างจากบ้านเพียง 20 กิโลเมตร จึงไม่มีความคิดที่จะย้ายไปไหน แต่สำหรับครูที่มาจากพื้นที่อื่น ก็เข้าใจได้ว่าการมาอยู่ในโรงเรียนห่างไกลและไม่ใช่ภูมิลำเนาบ้านเกิด ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้หลายคนเมื่อทำงานครบวาระหนึ่งแล้วก็ตัดสินใจย้ายออกไป
“พื้นที่เราเดินทางค่อนข้างลำบาก ภารกิจเยี่ยมบ้านเด็กทุกเทอมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าถนนลูกรังขึ้นเขากันไป บ้านเด็กหลายคนต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อขึ้นไปถึงแล้วกลับลงมา มันก็ไม่ง่ายที่เราจะรั้งเด็กไว้ให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ตลอดรอดฝั่ง เด็กที่จบ ป.6 แล้ว บางส่วนก็ไม่ได้เรียนต่อ คิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
“ที่จริงแล้วโรงเรียนระดับมัธยมในพื้นที่ก็มีอยู่ แต่ด้วยฐานะทางบ้านเขายากจนมาก การเรียนจึงเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยและไม่มีเป้าหมายระยะใกล้ให้มองเห็น เขาจึงตัดสินใจออกไปตามเส้นทางอาชีพ ไปทำงานเหมือนพ่อแม่ แล้วถ่ายทอดความจนให้รุ่นลูกต่อไป เวลาเราได้คุยกับเด็ก จึงพยายามมากที่จะบอกเขาว่า ถ้ามีโอกาสอย่าทิ้งการเรียน จะเป็น กศน. ก็ได้ อย่างน้อยให้มีวุฒิการศึกษาติดตัวที่สูงกว่าแค่ชั้นประถม แล้วชีวิตจะมีโอกาสมากขึ้น
“ส่วนปัญหาขาดแคลนครู เรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรงบประมาณและการดูแลสวัสดิการด้วย ครูที่มีอยู่จำนวนไม่มาก ทุกคนต้องทำหน้าที่มากกว่าการสอน อย่างเราเองต้องไปทำงานธุรการ ดูเรื่องเบิกจ่าย เรื่องการเงิน ซึ่งเราจบครูปฐมวัย ไม่ได้ถนัดเรื่องบัญชี งานก็ยิ่งยุ่งยาก การทำเรื่องเบิกจ่ายหลายอย่างก็ล่าช้ามาก กว่าจะได้เงินมาบางทีมันก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้แล้ว
“อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นคือ งบที่ได้มามีแต่งบสร้าง ไม่มีการซ่อมบำรุงดูแล หลายอย่างจึงพังเสียหายไปเรื่อย ๆ ตามเวลา แล้วมันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตครูโดยตรง อย่างโรงเรียนเรามีบ้านพักครูสร้างด้วยไม้ 3 หลัง นานเข้าก็เริ่มผุพัง ครูที่มาบรรจุใหม่เขาก็ต้องอยู่กันอย่างนั้น ทีนี้พอบางหลังอยู่ไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธี 1 หลัง อยู่กัน 3 คน แต่มีห้องน้ำห้องเดียว มันเลยไม่เป็นสัดส่วน เป็นคุณภาพชีวิตที่เรามองว่าบั่นทอนกำลังใจคนทำงานมาก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูที่ไม่ใช่คนพื้นที่อยู่ได้ไม่นานก็ขอย้าย ดังนั้นนอกจากเรื่องงบประมาณแล้ว ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาการดูแลสวัสดิการครูที่ดีกว่าเดิม เราจะไม่มีทางรั้งครูดี ๆ เก่ง ๆ ไว้ให้อยู่กับโรงเรียนไปนาน ๆ ได้เลย” ครูอุ้มกล่าว
เรื่องราวจากครูอุ้ม หนึ่งในตัวแทนครูโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล สะท้อนให้เห็นปัญหารอบด้าน ชวนให้หันกลับมามองและตระหนักร่วมกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่ครูและโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้จะได้รับความสำคัญ มองเห็นปัญหา และผลักดันสู่วาระการ ‘ปฏิรูปงบแก้เหลื่อมล้ำ’ เพื่อโอกาสทางการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตของคุณครู และเพื่อจะช่วยเปิดกว้างให้เส้นทางชีวิตของเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้มีทางเลือกมากขึ้น