8 สิงหาคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางการศึกษา ร่วมกันจัดประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ ‘การพลิกโฉมการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เพื่อยกย่องส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่นักวิจัยในการสร้างผลงานที่มีคุณค่า และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยทางการศึกษาใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 2.การฟื้นฟูการเรียนรู้หลังสถานการณ์โควิด-19 3.การส่งเสริมการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของโลก 4.การลงทุนด้านการศึกษาของภาครัฐ 5.การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และ 6.การพลิกโฉมการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
คยองซัน คิม (Kyungsun Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมโดยเน้นย้ำเป้าหมายการจัดประชุมครั้งนี้ที่มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้อย่างยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับนักวิจัยหรือนักวิชาการในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการศึกษาให้กับประเทศไทย
ถัดมา ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ขึ้นกล่าวต่อว่า ผลพวงที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง มีข้อมูล มีงานวิชาการที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเยาวชน ครู และสถานศึกษา
“วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เด็กหลายคนต้องออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว เกิดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เกิดปัญหาที่ทำให้ครูและสถานศึกษาตกอยู่ในสภาวะที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนในระบบการศึกษาไทย สิ่งเดียวที่จะทำให้ก้าวพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ได้อย่างยั่งยืน คือการสร้างวัฒนธรรมการใช้งานวิจัยและข้อมูล” ดร.ไกรยส กล่าวถึงความสำคัญในการใช้งานวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตทางการศึกษา
นอกจากนี้ยังกล่าวต่ออีกว่า การสร้างวัฒนธรรมการใช้งานวิจัยจะทำให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางวิชาการที่มีมาตรฐานคุณภาพสูง และสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเยาวชน ผู้ปกครอง ครู และสถานศึกษาทั่วประเทศดีขึ้นได้ รวมถึงอาจนำประสบการณ์นี้แบ่งปันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติได้ในอนาคต โดย ดร.ไกรยส เน้นย้ำว่า “การวิจัยเป็นหนทางสำคัญที่นอกจากจะทำให้ระบบการศึกษาไทยมีความเสมอภาคมากขึ้นแล้ว ยังมีความมั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในโลกข้างหน้า และจะทำให้ทรัพยากรมมนุษย์ที่ทรงคุณค่าอันได้แก่เยาวชนทุกคน สามารถนำความรู้จากระบบการศึกษาไทยไปพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนและเสมอภาคทั่วกัน”
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะเจ้าภาพหลักได้ขึ้นกล่าวต่อโดยได้เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษา เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย และยกย่องส่งเสริมนักวิจัยผู้ที่สร้างผลงานที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และแบบปฏิบัติที่ดีทางการศึกษา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาในอนาคต เพื่อการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานวิจัยจำนวน 231 เรื่อง ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 41 เรื่อง โดยผลงานวิจัยในกลุ่มวิทยานิพนธ์ ผลงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย มูลนิธิ หน่วยงาน และองค์กรทางการศึกษา ได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน 2 เรื่อง งานวิจัยระดับดี จำนวน 1 เรื่อง และงานวิจัยระดับชมเชยจำนวน 1 เรื่อง ส่วนในกลุ่มผลงานวิจัยของครูบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการตัดสินเป็นผลงานวิจัยระดับดีเด่น จำนวน 1 เรื่อง และผลงานวิจัยระดับดี จำนวน 1 เรื่อง
ทั้งนี้ การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไซต์และออนไลน์ มีการจัดกิจกรรมการประชุม การจัดนิทรรศการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ การเสวนาวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งการอภิปรายแลกเปลี่ยนจากผู้ทรงคุณวุฒิ
ก่อนการเริ่มประชุมทางวิชาการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเปิดประชุมอย่างเป็นทางการ โดยย้ำว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีให้กับผู้ที่สนใจทางการศึกษาได้มารับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นและงานวิจัย อย่างไรก็ตาม การศึกษาคือความมั่นคงของชีวิต ครอบครัว และชาติ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างคนที่มีสมรรถนะสูงในอนาคต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ ได้