วาลีรัตน์ บริบูรณ์ หรือ ครูแหม่ม สอนดนตรีภายในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานีในสังกัดสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ใช้เสียงดนตรีเยียวยาเยาวชนที่เคยก้าวพลาดให้กลับไปค้นหาคุณค่า เห็นความสามารถ ค้นพบศักยภาพอีกด้านหนึ่งของตัวเอง เพื่อพาความคิดออกจากวังวนไปสู่ชีวิตใหม่ ทัศนคติใหม่ และหาเส้นทางใหม่ ๆ เดินต่อไปได้
ครูแหม่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้อย่างจริงจังว่าเริ่มมาจากปัญหาที่ตนเองประสบจากบทบาทของแม่ที่ต้องดูแลลูกที่ไม่ชอบเรียนหนังสือสักเท่าไร
“เพราะลูกที่เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบได้แต่คะแนนระดับบ๊วยและรองบ๊วยเท่านั้น ทำให้ต้องมาคิดว่าจะหากิจกรรมอะไรหรือความถนัดด้านไหนมาช่วยเขาดี โดยให้ตัวเขาเป็นคนเลือกเอง ลูกก็เลือกที่จะเรียนดนตรี เลือกเข้าเป็นสมาชิกวงโยธวาทิต และเลือกตำแหน่งเป่าทรัมเป็ต และใช้ความสามารถในการเป่าทรัมเป็ตเป็นโควต้าเข้าเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนดังของจังหวัดได้ ลูกเรียนชั้นมัธยมต้นชั้น ม .1 โดยยังไม่พบปัญหาเรื่องความเกเร
แต่พอเริ่มเข้าเรียนชั้น ม.3 ครูที่คุมวงโยธวาทิตก็มาบอกว่า ลูกแอบหนีการซ้อมดนตรี และสุดท้ายก็มีผลการเรียนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีปัญหานี้ก็คือเขาเป็นเด็กติดเกม เมื่อเห็นปัญหานี้จึงตัดสินใจให้ลูกออกจากโรงเรียนเก่า มาเรียนโรงเรียนใกล้กับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี เพื่อจะได้ดูแลเขาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น”
การตัดสินใจให้ลูกมาเรียนใกล้สถานที่ทำงาน กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ครูแหม่มได้มีโอกาส ใช้ดนตรีเพื่อดูแลเด็กๆ อย่างจริงจัง
“โชคดีที่ปีนั้น อธิบดีกรมพินิจฯ มีนโยบาย ให้เด็กในสถานพินิจและคุมครองเด็กและเยาวชน สามารถเดินไปเรียนรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงได้ ทำให้มีโอกาสได้ดูแลเด็ก ๆ ที่รับผิดชอบสอนดนตรี ไปพร้อมๆ กับดูแลลูกตัวเอง และได้นำเสนอให้ใช้ดนตรีเป็นกิจกรรมเสริม การเปิดโอกาสให้ทั้งสองโรงเรียน สามารถมีกิจกรรมร่วมกันได้ กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกใช้ความสามารถทางดนตรีช่วยดูแลเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มาจากศูนย์ฝึกฯ การเล่นดนตรีร่วมกัน ทำให้พวกเขาเป็นเพื่อนกันในที่สุด การทำกิจกรรมด้านดนตรีร่วมกันช่วยให้ลูกของเราพ้นจากวังวนของเด็กติดเกมได้ และกลายเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีช่องยูทูปเป็นของตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งปณิธานว่า จะดูแลเด็ก ๆ ในศูนย์ฝึกฯ อย่างสุดความสามารถ ช่วยเหลือในสิ่งที่พวกเขาขาดหายไปจากชีวิต ตามความถนัดที่ตัวเองมี คือสอนให้เขาเล่นดนตรี ตลอดช่วงชีวิตการทำงานได้สอนให้เด็กอ่านโน้ตดนตรี เล่นเพลงง่าย ๆ ร่วมกันได้ ดูแลเครื่องดนตรี กิจกรรมด้านดนตรีที่เริ่มขึ้นในวันนั้นช่วยให้เด็ก ๆ หลายคนเห็นคุณค่าในตนเอง กลายเป็นคนที่คิดอย่างมีเหตุผล และการจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น
การฝึกดนตรี ทำให้พวกเขารู้ว่าการเล่นเพลงแต่ละเพลงร่วมกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องใช้ความพยายามหลายด้าน เด็กๆ ที่มาเรียนกับเราตลอด 6 เดือนแห่งการเรียนรู้ จะทราบดีว่าดนตรีให้อะไรเขาบ้าง ใครที่อยากเดินสายดนตรีหรือนำดนตรีไปต่อยอดการทำงานเป็นมืออาชีพ พ้นไปจากเราแล้ว ก็ต้องนำสิ่งที่เรียนไปสานต่อเอา จนถึงปัจจุบันมีเด็กเรียนดนตรีกับเราไปแล้วมากกว่า 1,000 คน และเชื่อว่าสิ่งที่สอนจะช่วยจุดประกายให้กับชีวิตพวกเขา หรือกระทั่งทำให้กลายนักดนตรีมืออาชีพที่ออกไปเลี้ยงชีพได้ในอนาคต” ครูวาลีรัตน์ เล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความยินดี
ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566 กสศ. ขอส่งอ้อมกอดไปยังนักขับเคลื่อนชีวิตใหม่ให้เด็กเยาวชนที่เคยก้าวพลาดทุกท่าน และขอขอบคุณเรื่องราวจากครูแหม่ม วาลีรัตน์ บริบูรณ์ ที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวในฐานะแม่มายังผู้อ่านทุกท่านในบทความนี้