กสศ. ชวนครูเครือข่ายและคณะทำงานโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ มาร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้และข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ ทั้งขนาดโรงเรียน ภูมิศาสตร์สถานที่ตั้ง จนถึงความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนรู้ การจัดการ และการเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์อย่างไร
นอกจากนี้ในมุมมองเชิงโครงสร้าง ภาคนโยบายจะสามารถสนับสนุนและออกแบบระบบที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างไร ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเชิงบริบทต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่ได้ผลเป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เรียนรู้ในวันนี้ เติบโตขึ้นเป็นประชากรแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม นานนับทศวรรษที่การจัดการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ได้ออกเดินทางเพื่อลงหลักปักฐานครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยังมีคำถามที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ ของการพัฒนาตนเองของผู้เรียน และของการนำการเรียนรู้แบบ Active Learning มาทำให้เกิดประโยชน์ได้เต็มศักยภาพที่สุดหรือไม่?..
กสศ. ได้จัดทำซีรีส์ จากครูสู่ ‘นักจัดการเรียนรู้’ ในศตวรรษที่ 21 โดย EP.1 จะว่าด้วยเรื่อง การ ‘เปลี่ยนครูให้เป็นนักจัดการเรียนรู้’ เพื่อพาผู้เรียนไปสู่ ‘การศึกษาตอบโจทย์ชีวิต’ บนรากฐานความคิดที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ กสศ. กล่าวว่า ‘ชีวิตคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน แต่เท่าเทียมกันได้’
ขณะที่การศึกษาที่มีรูปแบบเดียว หรือมีมาตรฐานเดียวตายตัว ไม่อาจสนองโจทย์ของชีวิต ไม่รองรับกับสถานการณ์ของแต่ละคน และบริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกัน การจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาจึงต้องเริ่มต้นที่ทำให้ครูเป็นนักจัดการเรียนรู้ที่พร้อมพาผู้เรียนซึ่งไม่ว่าจะมีความสนใจ มีความถนัด หรือมีทักษะอันแตกต่างหลากหลายอย่างไรก็ตาม ให้ไปถึงเป้าหมายปลายทางของการศึกษา คือสามารถนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะตน ไปใช้ดูแลตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
โดยใจความสำคัญของ ‘การจัดการศึกษา’ ในวันนี้ เรามี ‘ครู’ ในระบบที่จำนวนมากกว่าครึ่งล้วนเป็น ‘ผล’ จาก ‘วิธีผลิตครู’ ในศตวรรษก่อน (ศตวรรษที่ 20) ดังนั้นการออกแบบจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ครูจึงต้องมีความตื่นตัว และปรับตัวเพื่อเปลี่ยนบทบาทจาก ‘ผู้ให้ความรู้’ ในวิธีการสอนแบบเดิม มาเป็น Change Agent หรือเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ ที่มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างบทเรียนด้วยวิธีการ ‘อำนวย’ ให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ด้วยตัวเอง ด้วยทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง เพื่อใช้ชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างรู้เท่าทัน
ซึ่งแนวคิดนี้ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ ที่ครูต้องเป็นผู้แนะนำและออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนเข้าถึงสาระวิชาและทักษะชีวิตไปได้พร้อมกัน