จัดการเรียนรู้เชิงรุกอย่างไร? ‘เมื่อโรงเรียนยิ่งใหญ่ นักเรียนยิ่งเยอะ’

จัดการเรียนรู้เชิงรุกอย่างไร? ‘เมื่อโรงเรียนยิ่งใหญ่ นักเรียนยิ่งเยอะ’

นานนับทศวรรษที่การจัดการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ได้ออกเดินทางเพื่อลงหลักปักฐานครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยังมีคำถามที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ ของการพัฒนาตนเองของผู้เรียน และของการนำการเรียนรู้แบบ Active Learning มาทำให้เกิดประโยชน์ได้เต็มศักยภาพที่สุดหรือไม่?

กสศ. ชวนครูเครือข่ายและคณะทำงาน โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่21สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ มาร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้และข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ ทั้งขนาดโรงเรียน ภูมิศาสตร์สถานที่ตั้ง จนถึงความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากร ว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนรู้ การจัดการ และการเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์อย่างไร

นอกจากนี้ในมุมมองเชิงโครงสร้าง ภาคนโยบายจะสามารถสนับสนุนและออกแบบระบบที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างไร ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเชิงบริบทต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่ได้ผล เป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เรียนรู้ในวันนี้ เติบโตขึ้นเป็นประชากรแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ

EP.3 ของ Series ‘จากครูสู่นักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ จะพาไปดู ‘โรงเรียนขนาดใหญ่’ ที่มีทั้งความพร้อมทั้งจำนวนบุคลากรและงบประมาณ อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไปที่ผลลัพธ์ ก็ยังมีเรื่องของปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาครูนักจัดการเรียนรู้ คือเรื่อง ‘ตัวบุคคล’ ที่ต้องเข้าใจในหลักการ กระบวนการ และมีความความชำนาญในการจัดการเรียนรู้ สามารถออกแบบวิธีการสอน สร้างเครื่องมือ รวมถึงต้องคำนึงถึงค่าความต่างของจำนวนนักเรียนที่จะส่งผลต่อการสังเกตผู้เรียนเป็นรายคน เพราะเมื่อขนาดโรงเรียนใหญ่ขึ้น นักเรียนก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นตามกัน

‘ครูอภิไธย ทองใบ’ โรงเรียนอนุบาลมหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม ตัวแทนครูจากโรงเรียนขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่มีนักเรียนมากกว่า 2,700 คน เล่าว่า เมื่อมีเด็กนักเรียนต่อห้องราว 40 คน การจะทำให้ทุกคนติดตามการเรียนรู้ทันกันทั้งหมดเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่มุ่งไปยังตัวบุคคลซึ่งต้องอาศัยความใกล้ชิด และใช้ทักษะความเข้าใจของครูที่ต้องแม่นหลักการเป็นอย่างดี

ดังนั้นการพัฒนาครูให้เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ในโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานช่วยถ่ายทอดข้อมูลและหลักการเชิงลึกลึก ทำงานร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ส่วนครูเองก็ต้องผ่านการการอบรมและเก็บชั่วโมงการสอนมากขึ้น จนสามารถละลายความคุ้นชินเดิมและก่อร่างทัศนคติใหม่ขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีครูส่วนหนึ่งที่ยังกังวลกับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ

ด้าน ‘ครูวิวัฒน์ สุภพิทักษ์กุล’ โรงเรียนนครนายกวิทยาคม อำเภอเมืองนครนายก เผยประสบการณ์ครูโรงเรียนขนาดใหญ่ประจำภาคกลางว่า การนำเอาสาระวิชาที่ยากและซับซ้อนมาดัดแปลงเป็น ‘บอร์ดเกม’ ไม่เพียงช่วยผู้เรียนให้ทำความเข้าใจบทเรียนได้ในเวลาที่สั้นลง และพาความสนใจของเด็กให้ต่อยอดไปยังบทเรียนอื่น ๆ ได้เท่านั้น หากการ ‘เรียนผ่านการเล่น’ ยังแฝงไว้ด้วยบรรยากาศสนุกสานานและมีชีวิตชีวาในชั้นเรียน และส่งผลบวกโดยตรงต่อการ ‘มีส่วนร่วม’ ของนักเรียนทั้งห้อง ที่มีจำนวนค่อนข้างมาก

“การถอดสาระวิชามาออกแบบเป็นเกม เด็กไม่ได้แค่ความรู้ แต่มันมีความสุขความสนุกในการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย แล้วสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ยิ่งขึ้น เพราะเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่เรียนเกี่ยวข้องกับตัวเขาอย่างไร หรือเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร”

‘ครูวิวัฒน์’ ฝากข้อเสนอว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องของเวลา ที่ครูต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และผลิตสื่อการสอน แนวทางที่จะช่วยครูให้พร้อมพัฒนาเป็นนักจัดการเรียนรู้ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น คือ ควรมี Call Center หรือสายด่วนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ผลิตสื่อสำเร็จรูปที่พร้อมให้ครูดาวน์โหลดใช้ได้ทันที นอกจากนี้ทุกโรงเรียนควรมี ‘ครูแกนนำ’ ผู้ทำให้เห็น เปลี่ยนแปลงให้ดู เพื่อพาทุกคนไปให้ถึงรูปธรรมของความสำเร็จ เมื่อนั้นเชื่อว่าครูทุกท่านก็จะพร้อมเปิดใจ

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม