กสศ. ชวนครูเครือข่ายและคณะทำงาน ‘โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ’ มาร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้และข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ ทั้งขนาดโรงเรียน ภูมิศาสตร์สถานที่ตั้ง จนถึงความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากร ว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบการเรียนรู้ การจัดการ และการเข้าถึงสื่อและอุปกรณ์อย่างไร นอกจากนี้ในมุมมองเชิงโครงสร้าง ภาคนโยบายจะสามารถสนับสนุนและออกแบบระบบที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างไร ในท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายเชิงบริบทต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ที่ได้ผล เป็นรูปธรรม และทำให้ผู้เรียนรู้ในวันนี้ เติบโตขึ้นเป็นประชากรแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม นานนับทศวรรษที่การจัดการเรียนรู้แบบ ‘Active Learning’ ได้ออกเดินทางเพื่อลงหลักปักฐานครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศไทย ยังมีคำถามที่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความแตกต่างของผลลัพธ์การเรียนรู้ของการพัฒนาตนเองของผู้เรียน และของการนำการเรียนรู้แบบ Active Learning มาทำให้เกิดประโยชน์ได้เต็มศักยภาพที่สุดหรือไม่?
ต่อกันที่ EP4 ของ Series ‘จากครูสู่นักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ ที่จะชวนไปสำรวจโรงเรียนขนาดกลางในพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล โดย ‘ครูพัสนันท์ เดชมณี’ จากโรงเรียนตะกุกใต้ศึกษา อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งบอกว่า ด้วยที่ตั้งโรงเรียนที่ห่างจากตัวอำเภอ 14 กิโลเมตร กับจำนวนนักเรียนราว 260 คน ที่โรงเรียนจึงเป็นภาพแทนของคำจำกัดความถึงโรงเรียน ‘ขนาดกลาง’ ได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของ ‘ขนาด’ และ ‘ระยะทาง’
‘ครูพัสนันท์’ กล่าวว่า โรงเรียนที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่ ไม่ไกลและไม่ใกล้อย่างนี้ ปัญหาหนึ่งที่ประสบคือความเหลื่อมล้ำแตกต่างเรื่องการเข้าถึงเครื่องมือ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่บางบ้านมีพร้อม แต่กับอีกหลายบ้านก็ไม่มีเลย จึงมีเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ตามมาว่า ครูจะจัดการเรียนรู้อย่างไร? เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะจำเป็น และนำไปต่อยอดในระดับสูงได้
…การจัดการเรียนรู้แบบ ‘ถอดปลั๊ก’ จึงถูกนำมาใช้ โดย Unplugged Coding หรือ ‘Concept Coding’ คือการจำลองภาพการเขียน Coding โดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นการถอดแบบเครื่องมือบนหน้าจอมาวางไว้บนเกมกระดาน หรือ ‘บอร์ดเกม’ ให้เด็ก ๆ จับต้องทำความเข้าใจ และเขียนคำสั่งแบบออฟไลน์ได้เสมือนมีจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า
ด้วยการเรียนเขียน Codding แบบถอดปลั๊ก จึงทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าที่โรงเรียน หรือที่บ้านซึ่งไม่มีทั้งคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต แล้วที่เป็นผลพลอยได้มากกว่านั้น คือเมื่อถึงวันที่เด็กเปลี่ยนผ่านระดับชั้นไปต่อยังโรงเรียนที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่าก็ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ แต่จะสามารถสานต่อบทเรียนและใช้เครื่องมือได้ทันทีเพราะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว
“การถอดอุปกรณ์ในคอมมาให้เด็กเห็น รู้จัก จับต้อง เข้าใจการทำงาน เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่ขาดความพร้อมทางทรัพยากร เราเห็นผลว่าพอเด็กได้เรียนแล้วไปจับคอมพิวเตอร์จริง ๆ เขาไม่ตื่นเต้นแล้วเรียนต่อได้เลย เพราะเขาเข้าใจวิธีการทั้งหมดแล้ว”
นอกจาก Unplugged Coding ‘ครูพัสนันท์’ ยังนำวิธี PBL: Problem-based Learning หรือการจัดการเรียนรู้โดย ‘ใช้ปัญหาเป็นฐาน’ มาใช้ โดยสร้างบทเรียนจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ใกล้ตัว และมีความหมายกับตัวนักเรียน มาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งช่วยพัฒนาความคิด วิเคราะห์ การสื่อสาร ค้นคว้า และลงมือทำ เป็นการเสริมสร้างและพัฒนา ‘บุคลิกของนักเรียนรู้’ ให้ผู้เรียนค้นพบความสนใจและความถนัดของตนเอง และให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจซึ่งคุณครูบอกว่า..
“PBL จะช่วยเลือนเส้นแบ่งวาทกรรมเรื่อง ‘เด็กหน้าห้อง’ หรือ ‘เด็กหลังห้อง’ ออกไป เพราะเมื่อนักเรียนเข้าใจบทบาทหน้าที่ และตระหนักได้ถึง ‘แผนการ’ และ ‘เป้าหมาย’ ของตนเองแล้ว ครูเองก็จะสามารถประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้รายคน โดยไม่ต้องทาบวัดกับมาตรฐานแกนกลาง หรือเกิดการเปรียบเทียบกับเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ”