หากย้อนกลับไปราว 3-4 ทศวรรษก่อน คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่าการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ล้วนหมุนวนอยู่รอบการพัฒนาทักษะความรู้และกิจกรรมในห้องเรียน และยึดโยงอยู่กับผู้เรียนที่อยู่ในรั้วสถาบันการศึกษา ทว่าเมื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาขยายขอบเขตไปไกลกว่าความรู้และทักษะที่สอนในห้องเรียน เป้าหมายไม่ใช่แค่เติมความรู้ทางวิชาการให้เข้มข้น แต่มุ่งเติมคนให้เต็มด้วยทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังขยายขอบเขตไปถึงประชากรกลุ่มที่นอกเหนือจากวัยเรียนในสถาบันการศึกษาอีกด้วย
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด โจทย์ของการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนและนักเรียนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาในระบบ แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ (foundation skill) รวมไปถึงโจทย์ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่โอบรับประชากรทุกเพศทุกวัยเข้ามาในพื้นที่ของการเรียนรู้
แนวทางที่กำลังได้รับความสนใจเพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ของยุคสมัยคือการเสริมบทบาทให้ ‘ท้องถิ่นและจังหวัด’ เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ เพราะคนที่ทำงานในระดับพื้นที่คือคนที่เข้าใจบริบทในพื้นที่นั้นๆ ได้ดีที่สุด จึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด
แต่โจทย์สำคัญมีอยู่ว่า พื้นที่และจังหวัดจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ได้อย่างไร เมื่อการพัฒนาทักษะเหล่านี้ถูกดำเนินการโดยส่วนกลางเป็นหลักมาโดยตลอด
101 ชวนอ่านสรุปความบางส่วนจากการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติ “ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมทำความเข้าใจการพัฒนาทักษะพื้นฐานทุนมนุษย์ให้มากขึ้น และถอดบทเรียนพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์อย่างครอบคลุมและยั่งยืนโดยมีท้องถิ่นเป็นผู้นำ
มองโจทย์ใหญ่ประชากรวัยแรงงาน – ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
เพื่อฉายให้เห็นภาพทิศทางเวทีเสวนาในวันนี้ชัดขึ้น ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. อธิบายว่า เรากำลังมองโจทย์เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ ของประชากรวัยแรงงาน ที่ตอบโจทย์ ‘จังหวัดและพื้นที่’
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานนอกระบบมากกว่า 20.2 ล้านคน และส่วนใหญ่จบการศึกษาไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ประชากร 67% เป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งฝีมือ ซึ่งยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีปัญหาด้านความคุ้มครองทางสังคม” จึงนำมาสู่โจทย์ใหญ่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในจังหวัดและพื้นที่
ขณะเดียวกัน เมื่อขยับจากกลุ่มประชากรวัยแรงงานมาโฟกัสที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ธันว์ธิดาอ้างอิงถึงงานวิจัยที่ยูนิเซฟ (UNICEF) ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาที่น่ากังวลว่า ไทยมีจำนวนเยาวชนที่ ‘ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม’ หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม NEETs สูงถึง 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของจำนวนเยาวชนทั้งหมด อีกทั้งกลุ่ม NEETs ยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1%
เมื่อเป็นเช่นนี้ ธันว์ธิดาจึงชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะเยาวชนที่อยู่นอกรั้วสถาบันการศึกษาและพร้อมที่จะทำงาน แต่โจทย์สำคัญที่ควรช่วยกันขบคิดคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ได้
“โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นโจทย์ที่ซับซ้อนและไม่สามารถให้หน่วยงานเดียวทำได้ แต่เราต้องดึงภาคส่วนอื่นมาร่วมด้วย โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรจำนวนมากและเอื้อให้เราทำงานร่วมกันได้ รวมถึงหน่วยงานระดับระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก (World Bank)”
“สถานการณ์เกี่ยวกับเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในระดับจังหวัดและพื้นที่เป็นโจทย์ร่วมและมีความซับซ้อน เราต้องช่วยกันหาทางแก้ว่าจะช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ให้ออกจากการตกหลุมทางการศึกษาและทักษะอย่างไร” ธันว์ธิดากล่าวทิ้งท้าย
อ่านบทเรียนการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ผ่านสายตาธนาคารโลก – โคจิ มิยะโมโตะ
“ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานประมาณ 50% ที่ไม่ใช้ทักษะทางดิจิทัลเลย และมีอีกประมาณ 18% ที่ใช้ทักษะดิจิทัลพื้นฐานเท่านั้น”
โคจิ มิยะโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก อ้างอิงถึงผลการสำรวจจากแอมะซอน (Amazon) และแกลลัพ (Gallup) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยทำการสำรวจประเทศต่างๆ 19 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และไทย
“ถ้าเราไปสอบถามคนในตลาดแรงงานว่าพวกเขาทำงานอะไรบ้าง เราจะพบว่ามีคนจำนวนไม่มากที่ต้องใช้ทักษะดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญของทุนมนุษย์ นี่จึงหมายความว่านายจ้างไม่ต้องการทักษะดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เลย”
แต่ในทางกลับกัน ผลสำรวจกลับชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้นายจ้างอาจไม่ต้องการทักษะดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตหรือสร้างนวัตกรรม ทว่าพวกเขากลับเห็นว่าการขาดทักษะดิจิทัลของแรงงานเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการขาดทักษะด้านอื่นๆ อาทิ ทักษะการสื่อสารและการวิเคราะห์-วิพากษ์ ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ทั้งสิ้น
“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์’ เป็นคำที่มีนิยามหลากหลายมาก แต่ถ้าให้สรุป ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์เป็นทักษะพื้นฐานและมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป สามารถพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ จากพื้นฐาน และสามารถถ่ายทอดได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากในการนำไปใช้ในบริบทต่างๆ ของชีวิต”
“ถ้าลงลึกไปอีก ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มีหลายองค์ประกอบ แต่หลักๆ คือทักษะด้านดิจิทัล คือมีความสามารถในการจัดการ เข้าใจ และประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ ทักษะการรู้หนังสือ ซึ่งต้องไม่ใช่แค่อ่านรู้เรื่อง แต่คือการนำเอาข้อมูลที่ได้รับหรือได้อ่านไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะมีหลายแง่มุม หลายมิติ เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ตนเองและ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ รวมไปถึงการสำรวจแง่มุมใหม่ๆ และโลกใบใหม่เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ”
โคจิอธิบายต่อว่า สามทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สำคัญมาก มีผลการศึกษาที่บอกว่าทักษะดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน มีผลต่อการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลผลิตของแรงงานในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา
“อีกแง่มุมหนึ่งที่อาจคิดไม่ถึงคือ ทักษะเหล่านี้ยังมีผลทางสังคม เช่น ด้านสุขภาพ เพราะคนที่รู้หนังสือจะมีความสามารถมากขึ้นในการเข้าใจปัญหาสุขภาพตนเอง และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างถูกต้อง”
ทั้งนี้ โคจิอธิบายเพิ่มว่า ทักษะดังกล่าวยังถือเป็นตัวขับเคลื่อนความเป็นพลเมืองของแต่ละคน ทั้งการลงคะแนนเลือกตั้งหรือการทำงานอาสาสมัคร เมื่อทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มีความสำคัญเช่นนี้ คำถามต่อมาที่สำคัญคือ ทักษะดังกล่าวสามารถได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมให้ดีขึ้นได้ไหม?
คำตอบของโคจิคือ ‘ได้’ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า มีวิธีมากมายที่จะเพิ่มพูนทักษะดังกล่าว ทั้งการศึกษา การฝึกอบรมพื้นฐานในช่วงการเรียนต่างๆ รวมถึงการฝึกฝนในกิจกรรมตามหลักสูตรและนอกหลักสูตร ขณะที่ประชากรวัยแรงงานสามารถฟื้นฟูทักษะดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาตลอดชีวิตและการอบรมต่างๆ ทั้งโครงการอบรมแบบในระบบและนอกระบบ
อีกประเด็นสำคัญคือ เมื่อขยับจุดเน้นลงมาที่ระดับจังหวัดและเมือง ผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาหรือสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดีได้อย่างไร โดยโคจิเสนอแนวทางไว้ ดังนี้
ข้อแรก คือการมีมาตรฐานการเรียนรู้ ข้อที่สอง คือการปรับปรุงหรือนำหลักสูตรใหม่ๆ เข้ามา รวมถึงกิจกรรมนอกหลักสูตรการศึกษา และข้อสุดท้าย คือ การปรับปรุงรวมถึงเสริมสร้างสมรรถนะของครูในการส่งมอบทักษะต่างๆ โดยต้องมีมาตรฐานการเรียนรู้และมาตรฐานของครู
“มาตรฐานที่ว่าเป็นการระบุว่า สิ่งที่นักเรียนควรจะรู้และทำได้คืออะไร ซึ่งต้องมาพร้อมตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัด เป็นการนำทางให้ครูในการบ่มเพาะการเรียนรู้ทักษะต่างๆ สร้างพลังการพัฒนาตลอดเส้นทางการศึกษา”
โคจิเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้คือ ‘ความสม่ำเสมอ’ ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ รวมถึงความเชื่อมโยงและสอดประสานกับการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ด้วย
“อีกหัวใจสำคัญคือคุณครู ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ การพัฒนาศักยภาพของครูเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาการเรียนรู้ในระบบท้องถิ่น แต่ถ้าเราดูผลการสำรวจจากทั่วโลก ครูมักสะท้อนว่าตนเองไม่ค่อยมีโอกาสหรือได้รับการฝึกอบรมความรู้ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์มากเพียงพอ”
โคจิกล่าวสรุปว่า “ฝั่งหนึ่งมีความคาดหวังกับครูมากๆ ขณะที่ฝั่งครูก็มองว่าตนเองไม่มีศักยภาพ ความรู้ และทักษะที่เพียงพอ” ดังนั้น การฝึกทักษะให้ครูจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เช่น มลรัฐโคลัมเบียของสหรัฐฯ ที่ได้นำเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดคุณวุฒิการสอนของครู หรือฟิลิปปินส์ที่ถือว่าความสามารถในการสอนทักษะศตวรรษที่ 21 เป็นมาตรฐานวิชาชีพครู ขณะที่ในสิงคโปร์ได้นำแนวทางการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experimental learning) มาใช้ในการฝึกอบรมครูก่อนเข้ารับตำแหน่ง
ขณะที่อีกหนึ่งองค์ประกอบในการเพิ่มพูนศักยภาพครูในการสอนทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์คือ ‘ทัศนคติและบรรทัดฐาน’ ของครูที่มีต่อการสอน เนื่องจากครูบางคนจะมองว่าภาระงานของตนเองมากเกินไปสำหรับการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ รวมถึงการให้เครื่องมือแนะแนวต่างๆ เพื่อให้ครูสามารถสอนทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ผสมผสานกับหลักสูตรการศึกษาได้
ในตอนท้าย โคจิขมวดประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ทำไมทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ถึงมีความสำคัญในระดับจังหวัดและเมือง
“ฝ่ายปกครองหรือรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ที่สามารถสร้างความแตกต่างในการเสริมพลังให้ครูและนักเรียนในการเรียนรู้ต่างๆ ได้” โคจิกล่าว พร้อมทั้งอธิบายเสริมว่า “ฝ่ายปกครองในท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดในการปรับและใช้ประโยชน์จากโครงการการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของท้องที่ และออกนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของท้องที่ได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น สิงคโปร์ ที่มีประชากรน้อย แต่มีระบบการเรียนรู้และฝึกอบรมที่น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นตัวผลักดันหลักของสิงคโปร์”
โคจิกล่าวทิ้งท้ายว่าประเทศไทยมีเมืองที่อยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ดีในการผลักดันการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่ และยังเป็นแหล่งพัฒนาระบบนิเวศการเรียนได้ นอกจาก ยังมีโครงการนำร่องมากมายที่เน้นในระดับพื้นที่และจังหวัด แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะใช้เพิ่มพูนประโยชน์ในงานด้านการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ได้
ถอดบทเรียน 4 จังหวัด – รากฐานการพัฒนาพื้นฐานทักษะทุนมนุษย์ สู่การพัฒนาประเทศไทย
1. พัฒนา ‘ลำปาง’ ด้วยการประสานกันจากทุกภาคส่วน
ในฐานะของคนที่คร่ำหวอดในวงการการศึกษา วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า การมุ่งพัฒนาการศึกษาควรเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ล้วนแต่เป็นทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ วิยดายังฉายภาพให้เห็นว่า แนวโน้มการจัดการศึกษาในช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 และพิจารณาความต้องการแรงงานร่วมด้วย ปัจจุบันการศึกษาในระบบมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี อีกทั้งยังมีการกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของโคจิในเรื่องการจัดมาตรฐานการเรียนรู้
“แต่ละระดับมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น ระดับปฐมวัยจะเน้นเรื่องพัฒนาการสมวัย แต่ยังไม่เน้นเรื่องการอ่านหรือการเขียน ส่วนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาจะเน้นเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดูได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีจังหวัดนวัตกรรมนำร่อง และมีแนวโน้มขยายการดำเนินการเรื่องนี้ออกไปทั่วประเทศ”
อย่างไรก็ดี วิยดาชี้ให้เห็นความท้าทายในระดับอุดมศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ กล่าวคือต้องมีการประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการ จัดทำหลักสูตรที่บูรณาการการทำงานกับการเรียนการสอน (work-integrated learning) โดยอาจส่งผู้เรียนออกไปฝึกประสบการณ์กับผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาส่วนอื่นๆ
เมื่อขยับภาพลงมาที่จังหวัดลำปาง วิยดาชี้ให้เห็นว่า ลำปางมีภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันเป็นสมัชชาการศึกษานครลำปางซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน ทั้งภาคราชการและผู้เกษียณอายุราชการ หรือหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำโครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางในฐานะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ประสานทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันโดยใช้ข้อมูลสารสนเทศของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยคือบุคลากรด้านการศึกษาเป็นศิษย์เก่าของเรา และเราจะรู้จักคนในแวดวงการศึกษาในจังหวัดทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเราขอความอนุเคราะห์ในนามมหาวิทยาลัยออกไป ทุกคนก็พร้อมที่จะมาร่วมมือกันหมด”
อีกหนึ่งจุดเด่นคือการใช้ฐานข้อมูล ปัจจุบันฐานข้อมูลหลักที่เก็บรวบรวมข้อมูลเด็กและเยาวชนอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดลำปาง วิยดาเน้นย้ำว่า การทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ต้องไม่ใช่การเพิ่มภาระงาน แต่เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เสมือนเป็นหนึ่งโซ่เชื่อมต่อข้อมูลที่กำลังกระจัดกระจายอยู่
“ตอนนี้ เรามีโครงการระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education Management Information System: ABE) ที่ กสศ. เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งช่วยให้เราเชื่อมโยงฐานข้อมูลโดยยึดของศึกษาธิการจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งเพิ่มส่วนอื่นๆ เข้าไป แต่เราต้องหาตัวชี้วัดที่จะช่วยคัดกรองและเก็บรวบรวมข้อมูลในตัวระบบฐานข้อมูล ซึ่งอันนี้น่าจะได้ประโยชน์และทำให้ทุกหน่วยงานสามารถใช้ฐานข้อมูลนี้ได้ด้วย” วิยดาทิ้งท้าย
2. ขับเคลื่อน ‘ปัตตานี’ ด้วยวิถีที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัด
ขยับมาที่จังหวัดใหญ่ในภาคใต้อย่างปัตตานี เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ชี้ให้เห็นว่าปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนอยู่มาก ทั้งต้นทุนทางสังคม ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือทางปัญญา แต่ยังไม่มีใครนำต้นทุนเหล่านี้มาบริหารจัดการให้เกิดมูลค่าและรายได้ต่อจังหวัด
“ประเด็นที่น่าขบคิดคือ เรามีคนที่จบออกมาว่างงานจำนวนค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมเรายังไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้มาช่วยจัดการทรัพยากรในจังหวัดได้ ยังไม่นับว่ามีเยาวชนที่ต้องออกนอกระบบโดยต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านต่างๆ เช่น ความยากจน อีกด้วย”
เศรษฐ์กล่าวว่า อบจ. ปัตตานี ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนไม่มีงานทำและต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน จึงเป็นที่มาของการวางแผนการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา จัดระบบให้เด็กจบออกมามีงานทำ
“เราต้องไปดูทรัพยากรต้นทุนของจังหวัดว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้รับการจัดการ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป เราต้องค้นหาตัวตน ต้นทุน และทักษะความสามารถของเด็ก โดยร่วมมือกับผู้ปกครองและส่งไม้ต่อให้ผู้จัดการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น ดูว่าเขามีจุดเด่นตรงไหนและสนับสนุนในเรื่องนั้น”
ในฐานะของคนที่คลุกคลีกับพื้นที่ เศรษฐ์ชี้ให้เห็นปัญหาคลาสสิก ‘อยากให้ลูกรับราชการ’ ที่ผู้ปกครองจำนวนมากต้องการให้บุตรหลานของตนรับราชการ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานีที่มีตัวชี้วัดด้านคุณภาพการศึกษาที่อยู่ในเกรดต่ำมาก จึงเป็นหน้าที่ของคนทำงานในการเปลี่ยนวิธีคิด
“เราเห็นแล้วว่าเด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน หรือแม้แต่เข้าระบบไม่ได้ตั้งแต่แรกเพราะความยากจน เราจึงต้องพยายามแก้ปัญหาโดยดูว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาที่ตรงไหน และหานวัตกรรมรวมถึงวิธีการในการช่วยเหลือและดึงเขาเข้าสู่ระบบ ขณะที่กลุ่มเด็กจบออกมาแล้วเราก็หาแผนงานสร้างรายได้ให้กับเขา”
ทราบกันดีว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะด้านข้อมูลที่เป็นลักษณะ ‘เบี้ยหัวแตก’ ต่างหน่วยงานต่างถือข้อมูลของตนเองและไม่ได้เชื่อมโยงเป็นข้อมูลเดียวกัน เศรษฐ์จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหาเจ้าภาพแก้ปัญหาเรื่องนี้
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่คือ เรื่องศาสนา ซึ่งทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีระบบการศึกษาที่แตกต่างจากที่อื่น กล่าวคือมีทั้งการศึกษาในระบบสามัญและการศึกษาเกี่ยวกับศาสนา มีโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนามากพอๆ กับโรงเรียนรัฐ เพราะฉะนั้น เด็กจะต้องเรียนหลักสูตรทั้งด้านศาสนาและสามัญ การที่จะเน้นหลักสูตรสามัญเพียงอย่างเดียวจะกระทบความเชื่อและความศรัทธาเรื่องศาสนาของผู้ปกครอง และนำไปสู่ข้อจำกัดด้านคุณภาพการศึกษา
“เราเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้มีการเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านวิชาการออกมาในรูปแบบแผนงานโครงการเพื่อเพิ่มทักษะด้านวิชาการให้เด็กเข้าถึงวิชาความรู้ และสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครองกับเด็กได้”
ในระดับพื้นที่ มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับเด็กยากจน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของทุกภาคีเครือข่าย และในแต่ละปีจะมีการบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าว เศรษฐ์ขยายความว่ากองทุนนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะศาสนา “เรามีพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มากถึง 85% และหลักการของศาสนาอิสลามคือจำเป็นต้องบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและเพื่อการศึกษา แต่กองทุนนี้ยังเป็นการบริจาคช่วยเหลือแบบปีต่อปี จึงไม่ได้ยั่งยืนขนาดนั้น” เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานได้อย่างยั่งยืน เศรษฐ์เน้นย้ำว่าต้องมีกองทุนเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ประชาชนมีความมั่นคงขึ้นมาได้ด้วย
ขยับขึ้นมาในระดับจังหวัด เศรษฐ์กล่าวว่า จังหวัดมีภารกิจหน้าที่ครอบคลุมเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำลังจัดทำศูนย์ข้อมูลภาพรวมของจังหวัด โดยใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนมาอยู่กับทาง อบจ. ซึ่ง อบจ. จะพยายามรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลกลางและขับเคลื่อนแก้ปัญหาในทุกมิติ
“ถ้าบอกว่าปัญหาคือเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นความยากจน หรือเด็กบางคนต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านจนเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้ก็มี ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่เราได้รับมาจากในพื้นที่ และเราใช้งบประมาณแก้ปัญหาตรงนี้”
“หน่วยงานใดที่เจอปัญหาแต่ขับเคลื่อนไม่ได้ เราจะนำมาปัญหามากำหนดในแผนงานและดำเนินการตามกระบวนการต่อไป รวมถึงบริหารจัดการข้อมูลกลางเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาต่างๆ ต่อไป” เศรษฐ์กล่าวสรุป
3. ร่วมพัฒนา ‘สภาวะแวดล้อมขอนแก่น’ ด้วยพลังภาคีเครือข่าย
“ขอนแก่นถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ ในแง่ของแผนงานกิจกรรมและแนวทางเพื่อผลิตต้นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพ ขอนแก่นถือว่ามีความพร้อมทุกอย่าง แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่จบจากขอนแก่นกลับทำงานในขอนแก่นน้อยมาก”
เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า จังหวัดขอนแก่น กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายบทบาทของมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าว่ามูลนิธิฯ ถือเป็นภาคประชาสังคมที่มาประสานเรื่อง ABE ในระดับจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ภาคส่วนต่างๆ เกิดความร่วมมือกัน จนนำไปสู่ความร่วมมือกับ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที)
“บทเรียนหนึ่งที่เราได้ในการทำงานด้านการพัฒนาคือ ถ้าเรารอภาครัฐจะมีข้อจำกัดในการตัดสินใจและติดกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ ความร่วมมือกับบริษัทเอกชน (เคเคทีที) ที่จดทะเบียนเป็นกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) จึงจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วย”
เจริญลักษณ์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน เราไม่สามารถสร้างแรงงานเพื่อรองรับเศรษฐกิจแบบเก่าได้อีกต่อไป มูลนิธิฯ และเคเคทีที จึงเน้นให้ความสำคัญกับทักษะด้านดิจิทัล ผลักดันแนวคิดขอนแก่นสมาร์ทซิตี้เป็นแนวทางการพัฒนาจังหวัดในอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวอย่างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแพลตฟอร์ม KGO (Knowledge Governance Token) เป็นดิจิทัลโทเคนของชาวขอนแก่น และได้มีการเชื่อมโยงไปที่กรุงเทพฯ และระยองแล้ว
“ผมว่าขอนแก่นมีต้นทุนที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ‘สภาวะแวดล้อมขอนแก่น’ ที่ผมคิดว่าเอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่ในเชิงทักษะดิจิทัล ผมเห็นภาคเอกชนขยับมาทำแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมดิจิทัลต่างๆ มากมาย ดังนั้น ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก”
เมื่อขยับไปพูดถึงอีกหนึ่งทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่สำคัญอย่าง ‘ทักษะทางอารมณ์และสังคม’ เจริญลักษณ์มองว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการเรื่องนี้ในเชิงรุก แต่ยังเป็นการทำงานแบบแก้ปัญหาอยู่ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่น่าจะกลับมาทบทวนว่าระบบ ABE จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้อย่างไร
เจริญลักษณ์กล่าวสรุปว่า “ผมประเมินว่าทักษะดิจิทัลคือทิศทางของเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเศรษฐกิจแบบเก่าที่ลงทุนในอุตสาหกรรมถึงทางตันไปแล้ว ตอนนี้ภาคเอกชนก็พูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) กันอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าขอนแก่นเรามีศักยภาพ ความพร้อม โดยเฉพาะแผนสมาร์ทซิตี้ที่เราจะขับเคลื่อนต่อ”
4. แนวทาง ‘3 ร่วม’ สู่การพัฒนาระยอง
หากจังหวัดใหญ่อย่างขอนแก่น รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานต้องเจอกับปัญหาแรงงานไหลออกจากจังหวัดเยอะ จังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Economic Corridor Development: EEC) ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่แรงงานจากภาคอีสานหลั่งไหลเข้ามาทำงานอย่างไม่ขาดสาย
“เราต้องเข้าใจว่านี่คือลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในพื้นที่ เพราะเดิม ระยองมีพื้นฐานทั้งภาคการเกษตร การทำประมง ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานของจังหวัด ก่อนจะโดนทุนอุตสาหกรรมเข้ามาโดยการกำหนดทิศทางจากส่วนกลาง สิ่งสำคัญคือเราต้องประสานให้ทุกภาคส่วนอยู่ด้วยกันให้ได้ต่อไป”
ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก สมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดระยอง สมศักดิ์ฉายภาพให้เห็นว่า การที่ระยองอยู่ในโครงการ EEC ทำให้ระยองถูกกำหนดหมุดหมายให้เป็นเมืองทันสมัยและน่าอยู่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งหมายความว่าระยองต้องเอาชนะสิงคโปร์ให้ได้ แต่ด้วยต้นทุนของระยองในปัจจุบัน สมศักดิ์มองว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายมาก
“แต่ระยองโชคดีที่มีการสนับสนุน” สมศักดิ์กล่าว พร้อมทั้งอธิบายเรื่องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด ซึ่งเริ่มจากการสอบถามผู้ประกอบการในจังหวัดว่า ต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับใด
“ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีวุฒิระดับ ปวช. หรือ ปวส. มากกว่า 70% แต่พอมาสำรวจว่าแล้วคนระยองอยากส่งลูกเรียนระดับไหน เกินครึ่งอยากให้ลูกจบปริญญาตรี ยังไม่นับว่านโยบายที่เกี่ยวกับ EEC พูดถึงการพัฒนาที่หลากหลาย แต่กลับพูดถึงการพัฒนาคนน้อยมาก”
ความคาดหวังที่สวนทางกับตลาดแรงงานเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาการจบมาแล้วว่างงาน ทำให้คนระยองลุกขึ้นมาตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าว มองว่าระยองต้องมีนโยบายที่เป็นของตนเอง นำไปสู่ ‘3 ร่วม’ คือ มีความเชื่อร่วม มีแผนร่วม และการกระทำร่วม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จ
ประการแรก ‘เชื่อร่วม’ สมศักดิ์มองว่าเป็นการหาภาคีเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของระยอง มุ่งจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยให้สอดคล้องกับบริบทที่คนระยองเป็น คือมีความสมดุล เท่าทัน เท่าเทียม และทั่วถึง สมศักดิ์กล่าวเสริมว่า “เราอยากเป็นทั้งต้นแบบการพัฒนากำลังคนที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งตอบโจทย์ภาครัฐที่ทำให้ระยองเป็นเมืองน่าอยู่ และเราจะตอบโจทย์ดังกล่าวด้วยการศึกษา” สมศักดิ์อ้างถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่สร้างคนด้วยการศึกษา ดังนั้น ระยองต้องทำให้คนระยองเชื่อว่าการศึกษาสามารถทำให้เมืองทันสมัยและน่าอยู่ได้
ประการที่สอง ‘แผนร่วม’ เป็นการเคลื่อนแผนให้สอดคล้องกับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนแต่ละช่วงวัยที่ผสมกลมกลืนกันในเมืองระยอง
“ระดับปฐมวัย เราเริ่มทำโครงการศูนย์เด็กเล็กที่รับตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงสองขวบครึ่ง เพราะศูนย์ทั่วไปรับตั้งแต่สองขวบครึ่ง โดยมี อบจ.ระยองเป็นผู้นำร่อง สำหรับวัยเรียน ระยองได้เข้าร่วมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งเปลี่ยนการจัดการศึกษา ถือเป็นพลังแรงบวกที่มาช่วยเราจัดการเรียนการสอน”
“วัยทำงาน ระยองมีทั้งคนระยองดั้งเดิมและคนจากที่อื่นที่เข้ามาทำงาน ดังนั้น ถ้าระยองไม่อยากเข้าสู่อุตสาหกรรม ระยองต้องเตรียมตัวรับแรงงานอพยพที่เข้ามาในพื้นที่ แต่เราก็เจอปัญหาอีกว่าแรงงานที่อพยพเข้ามายังขาดทักษะอยู่ ดังนั้น การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ต้องมุ่งไปที่การพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้ว ฟื้นฟูทักษะเดิม และเสริมสร้างทักษะใหม่”
ประการสุดท้าย ‘การกระทำร่วม’ สมศักดิ์เชื่อว่า มีคนอยากทำเรื่องการศึกษาอยู่จำนวนมาก แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำงานของตัวเองและยังหาไม่เจอ จึงต้องมีศูนย์รวมที่เป็นศูนย์ยุทธศาสตร์จังหวัดและมีตัวกลางระดับจังหวัดและการเรียนรู้ที่ระยองกำลังดำเนินการ
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ การจัดตั้งสถาบันเพื่อการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย (Rayong Intensive Learning Academy: RILA) เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และทำให้ระยองเป็นเมืองน่าอยู่และจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย
“เราค้นพบอย่างหนึ่งว่า ระยองยังเน้นเรื่องความรู้ ซึ่งไม่ได้ไปกับความต้องการของจังหวัดขนาดนั้น เราขอเรื่องทัศนคติและทักษะที่ดี เด็กคิดวิเคราะห์เป็น มีความรับผิดชอบ และทำงานเป็นทีมได้ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะปูพื้นฐานอย่างไร เพราะแม้พื้นที่นวัตกรรมจะทำหลักสูตรการศึกษาเองได้ แต่ในพื้นที่ยังมีบริบทที่หลากหลายอยู่เลย เราเลยคิดว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือ การที่ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 มีทั้งทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัลและทักษะทางอารมณ์-สังคม”
สำหรับสมศักดิ์ เรื่องนี้เชื่อมโยงกับการปูพื้นฐานของเด็กคนหนึ่งอย่างมาก และสอดคล้องกับที่โคจินำเสนอในตอนต้นว่า หัวใจสำคัญในการสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่ที่คุณครูและกิจกรรมหลังเลิกเรียนมากกว่า
“ถ้าเราทำงานในระดับประเทศอาจจะต้องใช้งบเป็นสิบล้าน แต่ในพื้นที่อาจจะใช้งบหลักหลายแสน จะเห็นว่ามันย่อยสเกลลงไปได้เยอะและช่วยเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่เข้าหากันได้ ผมว่าถ้าเราทำแบบนี้จะทำให้เราได้ผลสำเร็จในแง่การจัดการเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน ได้ทักษะอย่างที่เราต้องการ” สมศักดิ์กล่าวปิดท้าย
ก้าวแรกเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ สู่ก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาประเทศไทย
ในตอนท้าย นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวสรุปโดยเน้นย้ำความสำคัญของ 3 ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ อันได้แก่ ทักษะด้านการรู้หนังสือ ด้านดิจิทัลสกิล และด้านอารมณ์สังคม รวมไปถึงทักษะอื่นๆ อย่างการใฝ่เรียนใฝ่รู้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานในปัจจุบัน
“เราจะเห็นว่าในองค์กรหนึ่งๆ มีพนักงานที่จบปริญญามาเหมือนกัน แต่บางคนทำงานเก่ง บางคนทำงานไม่ได้เลย เพราะทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่นอกเหนือไปจากความรู้ด้วย ถ้าคุณไม่มีทักษะเหล่านี้ พอโลกหมุนไปเรื่อยๆ ความรู้ที่ได้มาจากตอนเรียนก็จะไปไม่รอดในที่สุด แต่ทักษะเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดได้เรื่อยๆ และเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในอนาคตด้วย”
ศุภกรชี้ว่าโจทย์สำคัญในตอนนี้ไม่ได้อยู่กับวัยเรียนในสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ขยับมาอยู่กับกลุ่มประชากรวัยแรงงานด้วย เพราะการพัฒนาประชากรวัยแรงงานถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้
“โจทย์สำคัญอยู่ตรงนี้ ในเมื่อเรานำประชากรวัยแรงงานกลับเข้าสู่โรงเรียนไม่ได้ เราก็ต้องหาโอกาสให้คนทำงานอยู่มีโอกาสเรียนรู้โดยไม่ต้องกลับเข้าสู่รั้วสถาบันการศึกษา หรือสร้างระบบนิเวศให้คนอยากเรียนสามารถเรียนรู้ได้แม้ยังทำงานอยู่”
ศุภกรยกตัวอย่างแพลตฟอร์ม SkillsFuture จากสิงคโปร์ ที่เปิดโอกาสให้คนแต่ละกลุ่มเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่กลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาและเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนที่ทำงานใหม่ๆ และสอนวิธีการปรับตัวในการทำงาน กลุ่มที่ทำงานมาแล้วประมาณ 10-20 ปีที่จำเป็นพัฒนาความรู้ทักษะของตนเอง กลุ่มผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถือว่าช่วยสร้างกำลังแรงงานให้สิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี
“ถ้าเรารอส่วนกลางมาจัดการปัญหานี้ก็คงเห็นผลช้า เลยอยากเชิญชวนจังหวัดมาร่วมเป็นเจ้าภาพดูแลคนในจังหวัดเอง ยิ่งถ้าเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือส่วนจังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ก็จะยิ่งช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพ และเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขด้วย นี่เป็นทั้งรางวัล ความก้าวหน้า และความรับผิดชอบซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจะได้รับ”
ทั้งนี้ ศุภกรเน้นย้ำว่า สิ่งที่ทำต้องไม่ใช่การสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ แต่ต้องวางแผนและให้หน่วยงานที่ยังต่างคนต่างทำงานมาแบ่งปันข้อมูล รวมถึงมีแผน มีความเชื่อ และมีเป้าหมายร่วมกัน และทั้งหมดต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของจังหวัดด้วย
ขณะที่ในตอนท้าย พัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ฉายภาพให้เห็นการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะมีการทำงานต่อเนื่องเป็นเอกสารทางวิชาการ และการทำงานกับทีมธนาคารโลกที่จะค้นหาเด็กยากจนที่อยากเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา ทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม และทักษะการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าวต่อไป