เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นจุดแข็ง โจทย์ ‘นักจัดการเรียนรู้’ โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล

เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นจุดแข็ง โจทย์ ‘นักจัดการเรียนรู้’ โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล

ปิดท้าย Series ‘จากครูสู่นักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ ที่ EP.5 กับ ‘ครูทวีศักดิ์ ธิมา’ โรงเรียนแม่ตะละวิทยา อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตัวแทนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 139 คน กับบุคลากรเพียง 16 คน แต่สามารถออกแบบวิธีจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งให้ผู้เรียน ‘เข้าใจเนื้อหาวิชาจากภายใน’ จนเกิดความสนใจใคร่รู้ด้วยตนเอง และสะท้อนต่อไปถึงการปลุกเร้าตัวตนภายในให้พยายามเรียนรู้และฝึกฝน

คุณครูทวีศักดิ์บอกว่า ได้นำเอาเทคนิค Game Based Learning หรือ ‘เกมเป็นฐาน’ มาช่วยขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อสร้างการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking) สร้างความรู้จากการปฏิบัติ (Practical Knowledge) สร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformation) สร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning Process) และ สร้างความรู้ที่คงทนผ่านการทำซ้ำ (Mental models) โดยได้พัฒนาบอร์ดเกมกลุ่มสาระวิชาภาษาอังกฤษ และนำมาใช้กับนักเรียนชั้น ป.3 ซึ่งทำให้นักเรียนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และไม่เคยสนใจภาษาอังกฤษมาก่อน สามารถทำความเข้าใจและซึมซับพื้นฐานคำศัพท์ จนออกเสียงภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น จำศัพท์ได้มากขึ้น ทั้งยังวัดผลได้ด้วยการที่นักเรียนมีคะแนนสอบวิชาภาษาอังกฤษสูงขึ้นยกชั้น

“การใช้เกมเป็นเครื่องมือพาเด็กไปถึงความรู้ที่เราอยากให้เขาได้รับ ทำให้ทุกคนกระตือรือร้นสนใจจากภายใน ไม่ได้เกิดจากคำสั่ง พอทำต่อเนื่อง เห็นชัดเลยว่าบรรยากาศห้องเรียนเปลี่ยน ไม่ใช่แค่ภาพของความสนุกสนาน แต่เด็กมีสมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักวางแผน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมาจากการลงมือปฏิบัติ จนเกิดการบันทึกความจำที่ติดตัวไปเองโดยอัตโนมัติ”

กับเรื่องข้อจำกัดของการเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและความห่างไกลของพื้นที่ ‘ครูทวีศักดิ์’ กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วเชื่อว่าครูทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นนักจัดการเรียนรู้ และพานักเรียนไปสู่บทเรียนที่เหมาะสมกับยุคสมัยได้ ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายด้วย เพียงต้องเข้าใจว่า หัวใจของการเรียนรู้เชิงรุกไม่จำเป็นต้องคิดซับซ้อน ไม่ต้องพึ่งพิงนวัตกรรมหรือสื่อที่หวือหวาเสมอไป แต่จะต้องเป็นนักสังเกตและดัดแปลง เพื่อนำทรัพยากรที่มีมาเป็นจุดแข็งในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ เช่นโรงเรียนบนดอยหรือโรงเรียนที่อยู่ลึกในป่าเขา เรามีข้อจำกัดคือเรื่องไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ดังนั้นการใช้สื่ออนาล็อกหรือสื่อออฟไลน์อาจตอบโจทย์กว่า

“เพราะสื่อที่เหมือนไม่มีอะไรเช่นการ์ดไม่กี่ใบ ถ้าเราออกแบบให้มีคุณภาพ แล้วครูรู้วิธีใช้ ผมว่ามันช่วยพัฒนาการเรียนรู้ได้ไม่แพ้สื่อดิจิทัลเลย ที่สำคัญคือเด็กทุกคนเข้าถึงได้ จึงอยากให้มีการสนับสนุนเรื่องการออกแบบสื่อการเรียนที่เหมาะสมตามบริบท แล้วกระจายให้ทั่วถึง มีแหล่งข้อมูลที่รวบรวมรูปแบบนวัตกรรมการสอนที่น่าสนใจ หลากหลาย และครูทุกคนต้องเข้าถึงได้สะดวก”

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม