นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประเด็นขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศ นำโดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ., ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ., รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กรรมการบริหาร กสศ., นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการบริหาร กสศ. และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ร่วมคณะเข้าพบ
ดร.ประสาร กล่าวว่า กสศ. ได้แสดงความความยินดีกับนายกรัฐมนตรี พร้อมตั้งใจมารับฟังนโยบายและแนวทางการทำงานขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องจาก กสศ. เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐบาล โดยสิ่งที่กสศ. ผลักดัน มีอยู่ 4 ประเด็นหลัก คือ
เรื่องแรก การใช้ข้อมูลและงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน่วยงานย่อยอยู่มากมาย บางครั้งก็อาจจะยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลการทำงานเข้าด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ กสศ. สามารถที่จะหนุนเสริมการทำงานได้
ในการทำงานที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามหาทางป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยฐานข้อมูลจากการสำรวจติดตามเด็กพบว่าในแต่ละปี จะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยหรือคิดเป็นประมาณ 13% เท่านั้น ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเด็กได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างช่องทางหนุนเสริมแนวทางการดูแลเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ยั่งยืนได้
เรื่องที่ 2 กสศ. พยายามผลักดันการสนับสนุนกระบวนการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) ให้กับครอบครัวที่มีสถานะลำบาก ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงแรงงานด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคนในประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น สนับสนุนให้นักเรียนยากจนด้อยโอกาสเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น จัดการเรียนการสอนและให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนปฏิบัติงานได้ภายใน 1 ปี แนวคิดนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่เมื่อได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เช่น วิทยาลัยพยาบาล ก็สามารถช่วยให้ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพได้
เรื่องที่ 3 กสศ. พยายามสร้างกลไกต้นแบบต่าง ๆ เช่น ‘สวนผึ้งโมเดล’ โดยสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต 1 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ซึ่งต้นแบบการทำงานนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากพื้นที่มีความเข้าใจปัญหาและตระหนักว่าสามารถปฏิรูปทั้งการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกันได้ ก็จะสามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต และป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาได้
เรื่องที่ 4 กสศ. มีมาตรการระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนภารกิจเพิ่มเติม ทั้งจากเงินบริจาค สลากเพื่อความเสมอภาค ตลาดการเงิน ตลาดทุน โดย กสศ. ได้พยายามสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนร่วมลงทุนออกสลากการกุศลลดความเหลื่อมล้ำ ระดมทุนจากตลาดการเงินตลาดทุน ขยายมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการศึกษา เปิดโอกาสประชาชนร่วมลงทุนลดความเหลื่อมล้ำทุกเดือน ผลักดัน พ.ร.บ. กสศ. ให้ ครม. สามารถอนุมัติให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลส่งเงินรายได้ให้ กสศ. และได้เตรียมเสนอโครงการให้กระทรวงการคลังออกสลากการกุศลเช่นเดียวกับที่บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ออก Education Bond ครั้งแรก 100 ล้านบาท ฯลฯ โดย 4 ประเด็น ที่ได้กล่าวมา กสศ. จะพยายามผลักดันการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด
“อย่างไรก็ตาม กสศ. เข้าใจเรื่องข้อจำกัดด้านการคลังของประเทศ โดยในปี 2565 กสศ. มีงบประมาณราว 6,000 ล้านบาท พร้อมข้อมูลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 กสศ. จึงเสนอของบประมาณเพิ่มเติมไปที่ 7,000 กว่าล้านบาท แต่ได้ถูกตัดไป ซึ่งเงินที่ขาดไปราว 1,900 ล้านบาท กสศ. จึงตั้งใจแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรมาเพิ่มและหาช่องทางระดมในทุกทาง เช่นมาตรการด้านเงินบริจาค ” ดร.ประสาร กล่าว
โดยหลังจากฟังประธานกรรมการบริหาร กสศ. รายงานจบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้ติดตามการทำงานของ กสศ. มาหลายปีและเห็นด้วยกับนโยบายที่กล่าวมา แต่มองว่าหลายเรื่องน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ด้วยบทบาทของตนที่เปลี่ยนจากนักธุรกิจมาเป็นรัฐบาล น่าจะสามารถช่วยผลักดันประเด็นต่าง ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังรับปากว่าจะดูแลเรื่องสลากเพื่อความเสมอภาคและการบริจาค ซึ่งความมุ่งมั่นในการดูแลปัญหาการศึกษามีหลายเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาช่วย หากมีมาตรการการบริจาคที่เข้มแข็ง ก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อีกหลายด้าน รวมทั้งการดูแลเรื่องการขยายมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการศึกษา ซึ่งจะทำได้หลังจากแถลงนโยบายของรัฐบาลให้สภาฯ รับทราบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการออกหุ้นกู้โดยองค์กรรัฐบาลหรือองค์กรระดับนานาชาติ จะส่งผลต่อการช่วยเหลือสังคมได้มากกว่าการออกหุ้นกู้ในนามบริษัท และจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือได้มากขึ้น เพราะการทำการกุศลหรือทำงานจิตสาธารณะเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ โดยไม่ต้องหวังจำนวนที่มาก อาจเริ่มทำที่ 100-200 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ และจะนำเรื่องการระดมทุนเพื่อการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยขยายฐานการระดมทรัพยากร เช่นเดียวกับการออกกรีนบอนด์ ไปพูดคุยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ครั้งที่ 78 ช่วงวันที่ 18-26 ก.ย. นี้ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทั่วโลกมองเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาการศึกษาของไทย เพราะการศึกษาไทยที่มีปัญหาหลายด้านที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน
ในส่วนของการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีข้อจำกัด และระเบียบในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ต่างกัน จะมอบหมายให้ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานคณะทำงานด้านนโยบายการศึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ประสานงานดูแล โดย กสศ. สามารถเข้าไปจัดกิจกรรมที่ทำเนียบได้ในวันที่ประชุม ครม. เพื่อดึงความร่วมมือเพิ่มขึ้น พร้อมหารือกับทีมงานเกี่ยวกับการออกสลากการกุศลที่เป็นความรับผิดชอบของ รมว.กระทรวงการคลังว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยจากนี้จะนัดผู้อำนวยการกองสลากและเจ้าหน้าที่การคลังเข้าพบเพื่อหารือในเรื่องนี้ต่อไป นายกรัฐมนตรี กล่าว