ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากๆ ไม่เพียงหน้าที่ด้านการบริหารจัดการ ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทางวิชาการและผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพัฒนาคุณภาพห้องเรียนและสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งแต่ละท่านอาจมีวิธีการบริหารที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าหมุดหมายปลายทางเดียวกันคือ การพัฒนาศักยภาพนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่มี VASK (V = values – ค่านิยม, A = attitude – เจตคติ, S = skills -ทักษะ, K = knowledge -ความรู้) ที่จะพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งจะต้องมีทีมงานที่เข้มแข็งอย่างครู และเครือข่ายที่ร่วมด้วยช่วยกันหนุนเสริม แต่อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนสำคัญ แน่นอนว่าต้องมาจากวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการฯ
ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 “กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ดร.สุเทพ แปลงทับ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนกูย กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาโรงเรียน ยกระดับห้องเรียนว่า สิ่งแรกที่ต้องปรับคือ การปรับ Mindset ไม่มองความรู้เป็นสิ่งหยุดนิ่ง มีการเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ในด้านการศึกษาเสมอ โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก
“แม้ว่าเราจะมีครูที่เก่งๆ อยู่ในโรงเรียน แต่ถ้าผอ.ไม่เห็นความสำคัญหรือไม่เอาด้วย ก็ไปต่อยาก สิ่งแรกเลยก็คือ ผอ.จะต้องปรับตัวในเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น active learning, PLC หรือ DE ก็ตาม ถ้าผอ.ไม่เก็ต ไม่ทำความเข้าใจ ก็จะทำตามวัฒนธรรมคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีอะไรที่จะต้องตระหนัก สร้างความเข้าใจกับคณะครู ทำอย่างไรก็ได้ให้มีความรู้เท่าทันกระแสของวงการศึกษา สังคมการศึกษาที่เกิดขึ้น”
นอกจากเรื่ององค์ความรู้ที่ผู้อำนวยการจะต้องเติมเต็มแล้ว ดร.สุเทพ มองว่าอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง
“ผอ.อาจมองว่าตัวเองต้องขยับขยายไปสู่โรงเรียนใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่อยากให้มองตรงนั้น อยากจะให้มองว่า อยู่โรงเรียนขนาดเล็ก 40-60 คน ก็เพื่อพัฒนาการศึกษา อยากให้มองในมุมคุณค่าของการทำงาน คุณภาพของงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อผอ.มองเห็นก็จะปรับตัวจะไม่อ้างเหตุอื่นใดเลยว่า โรงเรียนเราเล็ก เราทำไม่ได้
นอกจากผอ.จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองแล้ว ทีมงานก็สำคัญนะครับ เช่น ถ้าเราอยากให้คุณครูเขาส่งผลงานเข้าประกวด แต่เราไม่สร้างแรงบันดาลใจ หรือกระตือรือร้น หรือหาจุดโฟกัสให้ ก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องให้ใจนำ ให้พลังกับครูซึ่งเป็นทีมงานของโรงเรียน”
ที่สำคัญในการทำงานร่วมกันต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับตารางการทำงานเดิมของโรงเรียน มีการเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ ซึ่งการที่มีภาคีเครือข่ายเข้ามาหนุนเสริมช่วยให้มีแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนที่หลากหลายขึ้น
“การที่มีกสศ.เข้ามามาสนับสนุน มันทำให้เราไม่ติดอยู่ในอ่าง คือมีองค์คณะหนึ่งมาช่วยชี้แนะเปิดทาง อย่างเช่น PLC หรือแม้กระทั่งกิจกรรมอื่นๆ มันเหมือนกับว่าหลังจากที่เราจบมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ได้โดดเดี่ยว จะมีคนคอยเป็นห่วงเรา คอยชี้แนะ ตรงนี้อยากให้ทุกท่านเปิดใจในการที่จะร่วมกิจกรรมกับทางกสศ. แล้วก็อย่ามองเป็นภาระนะครับ เพราะสิ่งที่ได้รับนี้ เป็นสิ่งที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์กับหน่วยงาน ให้มองตรงจุดนี้แล้วเราก็จะก้าวไปด้วยกัน”
โอกาสนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้แสดงทัศนะต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) หรือ TSQP ว่านอกจากครูจะมีบทบาทสำคัญแล้ว ผอ.ต้องเห็นคุณค่าในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย
“ในพื้นที่สุรินทร์ทรัพยากรมีเยอะ แต่ขาดการคุยกัน ขาดการจัดการ ครูไม่รู้ เพราะว่าครูมาจากถิ่นอื่นก็มี กสศ.คิดว่าเราน่าจะหนุนในเรื่องนี้ แล้วก็เรื่อง Attitude (เจตคติ) ไล่ตั้งแต่ผอ.โรงเรียนมาเลย ความเชื่อว่าทำได้ มีแรงบันดาลใจ แล้วส่งต่อให้เพื่อนครู มันจะไหลไปถึงตัวครู ตัวเด็ก และไปถึงผู้ปกครอง”
“การที่เราพยายามจะวัดว่า เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะเด็กนะ แต่ครูด้วย สิ่งที่ครูทำได้เห็นคุณค่า รวมถึง ผอ.เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำหรือเปล่า” ที่มา : เรียบเรียงจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 “กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย”