ต้องใช้ ‘ทุนหลากมิติ’ ไม่ใช่เพียงตัวเงิน เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน
โดย : อิษฏ์ ปักกันต์ธร นักวิชาการ สำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ.

ต้องใช้ ‘ทุนหลากมิติ’ ไม่ใช่เพียงตัวเงิน เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

บทความนี้พยายามขยายมุมมองของ ‘ทุน’ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญเมื่อกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มักจะถูกเชื่อมโยงไปสู่การมอบ ‘ทุนทรัพย์’ แต่ถึงกระนั้นก็พบว่าการยุติวงจรความเหลื่อมล้ำมิใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนทุนทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากความขาดแคลนในมิติอื่น ๆ อีกด้วย 

‘ทุนการศึกษา’ เป็นคำตอบแรก แต่ ‘ทุน’ อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทุนทรัพย์ กลับไม่ถูกหยิบยกหรือนำมาเชื่อมโยง เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากนัก ทั้งที่มีผลต่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในระยะยาว 

มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่จำต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะต้องดูแลพ่อแม่ คนในครอบครัวที่มีความพิการ  เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง ที่ไม่สามารถพาตนเองไปเข้าเรียนได้ เพียงเพราะการเดินทางที่ใช้เวลานานจนไม่คุ้มกับการไปเรียนหนังสือ แม้จะไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ในการเดินทางมากก็ตาม เหตุผลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา 

ประเด็นการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพหรือทางเลือกของการเรียนที่หลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนทุกที่มีทั้งความพร้อมและไม่พร้อม และยังต้องเบียดเสียดกันเข้าสู่สนามของการเรียนรู้ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม ‘เชื่อว่ามีคุณภาพ’ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ทุนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในทุกข้อจำกัดและทุกเงื่อนไขที่เกิดขึ้น

ประเภทของทุน

ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักคิดชาวฝรั่งเศสจากครอบครัวชาวนา  ได้กล่าวถึงทุนในมิติหลากหลายที่ฝังอยู่ในส่วนต่างๆ ของสังคม  ประเภทของทุนต่างๆ มีดังนี้

  1. ทุนทรัพย์   หรือตัวเงิน
  2. ทุนที่หมายถึงทรัพย์สินที่สามารถก่อให้เกิดทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้น  อาจจะเป็นเงิน เครื่องจักร เครื่องมือ สถานที่ 
  3. ทุนทางวัฒนธรรม  สิ่งที่บุคคลได้รับการหล่อหลอมจากสังคมที่เอื้อให้นำไปสู่การสร้างมูลค่าได้ 
  4. ทุนทางสัญลักษณ์  คุณสมบัติบางอย่างที่ต้องได้รับการยอมรับหรือตีความโดยสมาชิกในสังคมที่มีชุดการรับรู้และการประเมินค่าชุดเดียวกัน ทุนทางสัญลักษณ์จึงจะก่อให้เกิดมูลค่าขึ้นมา เช่น ความมี ‘บารมี’ ในสังคม เป็นต้น 
  5. ทุนทางสังคม เครือข่ายทางสังคมที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นมูลค่าและผลประโยชน์ได้

ในขณะเดียวกัน ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้กล่าวถึง ‘ทุนทางสังคม’ ที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองไว้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือการกล่าวถึงแนวคิดบางส่วนของอองรี เลอแฟบร์ (Henri Lefebvre) นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาสายมาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศสว่า ทุนจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีศูนย์กลางของการทำงาน ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็น ‘Space’ ที่ไม่ได้หมายถึง ‘พื้นที่’ เพียงลำพัง หากแต่หมายถึง ‘พื้นที่ของความสัมพันธ์ทางสังคม’ ซึ่งคล้ายกับที่บูร์ดิเยอกล่าวถึงว่าการเกิดขึ้นและปฏิสัมพันธ์ของทุนในแต่ละมิตินั้นล้วนเกิดบน ‘Field หรือ สนาม’ 

พื้นที่และสนามที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนตีความถึงการใช้ทุนทางสังคมในการขับเคลื่อนหรืออุดช่องว่างของปัญหาต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีขอบเขตเชิงพื้นที่ ความสัมพันธ์ของผู้คนและทุนในพื้นที่เคลื่อนตัวไปพร้อม ๆ กัน 

เมื่อมองย้อนกลับมายังประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ กสศ. กำลังดำเนินการอยู่ จะพบว่าความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันไปตามจุดมุ่งหมายของทุนในการสนับสนุน เช่น ทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พื้นที่หรือสนามจะอยู่ในระดับของชุมชน ตำบล เป็นต้น ส่วนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ นั้นเป็นการทำงานกับพื้นที่ในระดับจังหวัด ซึ่งมีขอบเขตการทำงานที่ครอบคลุมกว้างขวาง

การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education)

ความพยายามในการพัฒนากลไกที่ประกอบไปด้วยผู้คนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สะท้อนภาพของการ ‘สร้างปฏิสัมพันธ์’ ของผู้คนที่มี ‘ทุน’ หลากหลายมิติบนพื้นที่ 

นอกจากความพยายามค้นหาทุนที่เป็นตัวเงิน  ก็มีภาพปรากฏของการใช้ทุนทางสังคมอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น การพึ่งพาเครือข่ายทางสังคมในการค้นหา มองเห็น และช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ทำให้สามารถค้นพบกลุ่มเป้าหมายที่พบได้ยากในพื้นที่ทางสังคมแบบปกติ การมีอาสาสมัครวัยเกษียณที่ใช้ทุนความรู้และทุนเครือข่ายที่ตนเองมี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็กที่ต้องการการเรียนรู้แบบพิเศษในจังหวัดพะเยา การออกแบบระบบการช่วยเหลือครอบครัวที่มีคนพิการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนในครอบครัวสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง การใช้ทุนทางสัญลักษณ์ของผู้ที่ได้รับความเคารพจากผู้คนในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การระดมทุนช่วยเหลือเด็กและเยาวชน เป็นต้น 

ภาพการปฏิบัติการในระดับพื้นที่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนตัวและการใช้ ‘ทุนทางสังคม’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่การทำให้เห็น ‘ทุน’ ในพื้นที่ เท่าที่จะถูกคลี่ขยายออกมาได้จากกระบวนการต่างๆ เช่น การดำเนินการผ่านกระบวนการทำ Resource Mapping (แผนที่ทางทรัพยากร) หรือ Social Mapping (แผนที่ทางสังคม) 

ท้ายที่สุดแล้ว การวิเคราะห์ให้เห็นทุนต่าง ๆ ที่ปฏิสัมพันธ์กับกลไกและเครือข่ายการทำงาน อาจะทำให้เห็น ‘ปัจจัยหนุนเสริม’ สำคัญที่สามารถอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับพื้นที่ และสามารถทำให้เห็นถึงส่วนที่ ‘ขาดจริงๆ’ ของพื้นที่ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุนที่เป็นเงินและงบประมาณเสมอไป) อันจะนำไปสู่การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันของเครือข่าย เพื่อกำหนดทิศทางการจัดการปัญหาอย่างรอบด้านในอนาคต 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้การขับเคลื่อนงาน ได้สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวที่มี ‘ชีวิต’ ที่เกิดจากการใช้ทุนที่มีของแต่ละเครือข่ายเพื่อสร้าง ‘ทรัพยากรบุคคล’ ให้กลับมาเป็นทุนสำคัญของการพัฒนาพื้นที่อย่างมีคุณภาพ และพลังดังกล่าวจะนำไปสู่การยกระดับการ ‘พึ่งพาตนเอง’ เพื่อพัฒนาพื้นที่และกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเองได้อย่างสมบูรณ์