ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ : สร้างโอกาสการศึกษาที่มีทางเลือก เปิดเส้นทางชีวิตใหม่เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ : สร้างโอกาสการศึกษาที่มีทางเลือก เปิดเส้นทางชีวิตใหม่เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

“ถ้าเขาไม่ได้รับการโอบอุ้มคุ้มครองจากทั้งครอบครัวและสังคม ก็มีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำได้อีก เป็นวงจรอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ ไม่สามารถหลุดออกไปได้”

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงปัญหาเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

ชวนอ่านแนวทางการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด บทบาทหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะช่วยโอบอุ้มคุ้มครอง รวมถึงบทบาทของ กสศ. ในการมอบโอกาสครั้งที่ 2 ให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่พวกเขาเลือกเอง เพื่อกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง

“การสร้างโอกาสทางการศึกษา เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ช่วยให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคของชีวิตไปได้”

การสร้างโอกาสทางการศึกษาโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม มีความสำคัญอย่างไร

การสร้างโอกาสทางการศึกษา เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กและเยาวชน ไม่เพียงแค่กลุ่มที่ก้าวพลาด แต่รวมถึงเยาวชนกลุ่มต่างๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นประตูของอีกหลายๆ โอกาสที่จะช่วยให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคของชีวิตไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาชีพ รายได้ ครอบครัว แม้กระทั่งลูกหลานต่อไป โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน การศึกษาจะทำให้เขาได้รับโอกาสในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

อะไรคือความท้าทายในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้

ความท้าทายในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อหลักๆ คือ

หนึ่ง จากเดิมเราเคยมีแนวคิดหรือมุมมองว่า เยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้ต้องถูกลงโทษ ซึ่งแนวคิดการลงโทษทำให้โอกาสต่างๆ ที่อยู่ในนั้นถูกจำกัด แต่จริงๆ แล้วเราต้องเปลี่ยนมุมมอง ต้องให้โอกาสที่ 2 กับพวกเขา เปลี่ยนจากการลงโทษเป็นการฟื้นฟู แก้ไข เยียวยา โดยใช้การศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก ที่จะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

สอง ถ้าเราลองดูสถานการณ์เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ มีระดับการศึกษาอยู่แค่ ม.ต้น และ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็มีฐานะยากจนด้วย เด็กกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่หันหลังให้กับการศึกษา คือหลุดออกนอกระบบก่อนที่จะมากระทำผิด

พวกเขารู้สึกว่าการศึกษาไม่มีความหมาย และไม่ตอบโจทย์เขา รวมถึงปัญหาเฉพาะบุคคลด้วย กับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเสี่ยงที่จะไปกระทำผิดด้วย

ความท้าทายคือ จะดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ที่กระทำผิดและยังอยู่ในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกฯ อย่างไรให้เขาเห็นความหมายของการศึกษาและศักยภาพที่เขามีอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ต้องดูแลหรือเข้าใจเขามากๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเห็นความหมายของชีวิต ก็เป็นความท้าทายที่ทั้งครูฝึกที่อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่ในนั้น ต้องมีการปรับวิธีคิดใหม่ว่า ทำยังไงให้เขารอด และสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

กสศ. มีบทบาทอย่างไรในการสร้างโอกาสทางการศึกษา

กสศ. มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราเห็นสถานการณ์ภาพรวมของประเทศว่า เด็กและเยาวชนกำลังเจอความท้าทายอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และผลลัพธ์การเรียนรู้ ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างโรงเรียนที่อยู่ในเมืองกับชนบท รวมถึงการศึกษาในระบบกับนอกระบบ 

เราต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กและเยาวชนกำลังเผชิญปัญหากดทับอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาสังคมต่างๆ เราจะปลดล็อกเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งเราก็พบว่าต้องเข้าใจน้องๆ กลุ่มนี้ให้มาก เขามีปัญหาหลายเฉด หลายมิติ ไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องสังคม สภาพแวดล้อม และครอบครัวด้วย

จากโจทย์ที่พบว่า ปัญหาของเด็กมีหลายเฉดและหลายมิติ ทำให้เราหันมามองที่เด็กกลุ่มหนึ่ง คือเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดและอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเด็กที่กำลังประสบปัญหาขาดโอกาส และอาจจะฮาร์ดคอร์ที่สุดกว่าเด็กกลุ่มอื่น

เราตั้งคำถามว่าปัญหาของเด็กกลุ่มนี้อยู่ตรงไหน แล้วก็พบว่าจริงๆ ถ้าเราให้โอกาสครั้งที่ 2 กับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ เราจำเป็นต้องหารูปแบบการศึกษาแบบใหม่หรือการศึกษาแบบทางเลือกให้กับเขา เพื่อให้เขามีทางออกและสามารถพัฒนาตนเองได้

เพราะฉะนั้นทำยังไงให้เยาวชนกลุ่มนี้ที่มักจะยุติการศึกษาเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บางคนอยู่แค่ ม.1 ครึ่ง ม.2 ครึ่ง แล้วต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฝึกฯ 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรือมากกว่า ทำให้โอกาสในการศึกษาหรือการเรียนรู้ต้องยุติหรือหยุดชะงักไปด้วย เราจึงร่วมมือกับกรมพินิจฯ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนกลุ่มนี้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์กับน้องกลุ่มนี้จริงๆ

ขณะเดียวกัน เราไม่เพียงทำงานกับภาครัฐ 2 หน่วยงาน คือ กสศ. กับกรมพินิจฯ เท่านั้น แต่เรามองว่าการจัดการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต สามารถที่จะดึงเครือข่ายเข้ามาทำงานได้เยอะมาก เพราะว่าการจัดการศึกษาให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องมองจากหลายเลนส์ ทั้งเลนส์การศึกษา เลนส์สังคม เราจึงมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิปัญญากัลป์ และศูนย์การเรียน CYF (มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนที่สามารถให้โอกาสทางการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมให้แก่เด็กเหล่านี้ได้ 

เราคิดว่า ท้ายที่สุดแล้วทางออกด้านการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ต้องเป็นการศึกษาที่ช่วยให้เขาเปิดประตูได้หลายๆ บาน ทั้งทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ และทักษะชีวิต เพื่อให้เขามีทางเลือกที่หลากหลาย

การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายการศึกษาให้ผลลัพธ์อย่างไร

ในภาพรวมของเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และขาดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น พวกเขามีปัญหาที่ซับซ้อน มีหลายระดับ และมีหลายปัจจัย ทำให้เขาเจอแรงกดทับจนไม่สามารถหลุดพ้นได้

การจะแก้ปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนแบบนี้ ไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จำเป็นต้องใช้ความรู้จากสหวิชาชีพเข้ามาช่วยเหลือ เพราะมีทั้งเรื่องจิตวิทยา การศึกษา แนวทางการประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้สหวิชาชีพเข้ามาช่วย ไม่ใช่แค่การศึกษาเพียงศาสตร์เดียว

ที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีทรัพยากรต่างๆ อยู่เยอะ แต่ทำยังไงที่จะบูรณาการทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ไปช่วยเด็กและเยาวชนแต่ละคนที่มีความแตกต่างและความต้องการที่หลากหลาย ถ้าเราสามารถดึงพลังของแต่ละเครือข่ายเข้ามา เกิดเป็นเมนูหลายๆ เมนูให้กับเด็กและเยาวชน ก็จะทำให้การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดผลสำเร็จสูงขึ้น

ที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนกันมาแล้วว่า ถ้าจัดการศึกษาแบบเดียวเหมือนกันหมดทั้งประเทศ หรือ One Size Fit All คือเด็กทุกคนมีทางเลือกแค่เมนูเดียว ทำเหมือนเด็กทุกคนเป็นปลา ทั้งที่เด็กบางคนอาจจะอยากปีนต้นไม้ก็ได้ เพราะเขารู้สึกไม่ใช่ปลา เพราะฉะนั้นพลังเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น

สังคมสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง

ถ้าพูดถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ อาจจะพูดได้ใน 2 มิติ คือสังคมที่อยู่ใกล้ตัวเด็กกับสังคมวงกว้าง

มิติแรก คือสังคมที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด ซึ่งก็คือครอบครัวและชุมชน อันนี้เป็นพลังที่สำคัญมากที่จะช่วยไม่ให้เขากระทำผิดซ้ำ แต่ถ้าเขาไม่ได้รับการโอบอุ้มคุ้มครองจากทั้งครอบครัวและชุมชน ก็มีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำได้อีก และเป็นวงจรอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหลุดออกไปได้

ฉะนั้นสังคมรอบตัวต้องมีความเข้าใจเด็กด้วย สามารถเข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้งการติดตาม การช่วยเหลือ และทำให้เขาหลุดพ้นจากวังวนนี้

ขณะเดียวกัน ในแง่การช่วยเหลือ เราจะช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาต่อเนื่อง ถ้าเขายังต้องการการศึกษาก็ต้องมีระบบการศึกษาต่อเนื่อง เราจะเห็นว่ามีนวัตกรรม Moblie School (โรงเรียนมือถือ) เพราะเด็กบางคนเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานไปด้วย ถ้าเราให้เด็กเรียนบนมือถือ และมีการรับรองสิ่งที่เขาเรียน ทำให้เขาจบการศึกษาได้ ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ส่งเสริมเขาได้

ชุมชนเองก็ต้องยอมรับและเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ ต้องมองว่าการก้าวพลาดคือบทเรียนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะติดตัวเขาไปตลอด ชุมชนเองก็น่าจะให้โอกาส เพราะเขาคือคนของชุมชนอยู่แล้ว ต้องมองเขาเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนชุมชนต่อไปด้วย

มิติที่สอง คือสังคมวงกว้างที่จะต้องมองเห็นว่า การให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้ต้องเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพราะเขาต้องมีการปรับตัวมาก อย่างงานที่เราจัดกันในวันนี้ (โอกาส Open House: สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่) ก็เป็นวาระใหญ่ของสังคมเช่นกัน เราอยากจะชูประเด็นนี้ขึ้นมาว่า การจัดการศึกษาทางเลือกจะเป็นคำตอบให้กับเด็กและเยาวชนหลายคน ไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ หรือผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่เรามองว่ารูปแบบการจัดการศึกษาต้องมองที่ตัวเด็กเป็นรายคน แล้วก็มองเห็นความแตกต่างที่ไม่เหมือนกันของเด็กด้วย เพราะฉะนั้นสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมและเข้าใจว่าการศึกษาจะเปิดประตูไปสู่เรื่องอะไรบ้าง และต้องมีความยืดหยุ่นแบบไหน

คาดหวังต่อการจัดงานครั้งนี้อย่างไรบ้าง

การจัดงาน Open House เป็นวาระหนึ่งที่จะเปิดโอกาสการทำงานที่เราได้ขับเคลื่อนร่วมกับหลายเครือข่าย

ประการที่หนึ่ง เราอยากจุดประกายว่าเด็กและเยาวชนแม้จะก้าวพลาดและกระทำผิด แต่เขาก็เป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศด้วย เวลานี้ประเทศไทยอัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ว่าจะเป็นเยาวชนที่ก้าวพลาด เยาวชนผู้พิการ หรือเยาวชนกลุ่มต่างๆ ล้วนมีความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งสิ้น ฉะนั้นเราก็อยากให้เห็นศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ ถ้าสังคมให้โอกาสกับเขา เขาจะสามารถเป็นคนสำคัญของประเทศนี้ ชุมชนนี้ จังหวัดนี้ได้

ประการที่สอง เรามีหมุดหมายที่ใหญ่ขึ้น โดยพยายามดึงหน่วยงานรัฐต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม อย่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เดิมทีงานที่เราทำก็เป็นแค่จุดเล็กๆ ที่นครพนมแค่จังหวัดเดียว แต่ตอนนี้จากการทำงาน 4 ปี เราเห็นว่าวาระเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้ขยายดอกออกผล และทางกรมพินิจฯ ประกาศเป็นนโยบายที่กระจายไปทุกศูนย์ฝึกฯ ทั่วประเทศว่า ให้มีการจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นทางเลือก โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ และ Moblie School เป็นโมเดล ทำให้เกิดเป็นภาพใหญ่ ไม่ใช่ทำแค่ศูนย์ฝึกฯ แห่งเดียว แต่เรากำลังพูดถึงเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ทั่วประเทศด้วย

ประการที่สาม อีกหนึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่เราพยายามผลักดันก็คือ เรามีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสถานแรกรับหรือสถานศึกษา ภายใต้ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ซึ่งพอเขาได้มาเห็นโมเดลการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นหรือเป็นทางเลือกแบบนี้ เขาก็อยากจะเอาไปใช้ด้วย เพราะฉะนั้นเรามองว่านี่เป็นการขับเคลื่อนทางนโยบายจากงานเล็กๆ ที่เราทำเป็นตัวแบบ แล้วพยายามที่จะขยายผล สร้างการเปลี่ยนแปลงในจุดที่การศึกษาอาจจะยังไปไม่ถึง

สภาพแวดล้อมหรือสังคมแบบไหนที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กก้าวพลาด หรือช่วยให้เด็กที่หลงเดินทางผิดไม่กระทำผิดซ้ำ

สาเหตุหลักๆ ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ที่กระทำผิด ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเป็นหลัก และสถานศึกษาด้วย มองว่าทั้งสองหน่วยเป็นจุดสำคัญ

ในเรื่องของครอบครัว เรามองว่า การไปโทษว่าครอบครัวมีปัญหา ทำให้เด็กต้องมีปัญหาไปด้วย มันก็ไม่ค่อยแฟร์ เพราะความยากจนหรือปัญหาต่างๆ ก็ทำให้ครอบครัวต้องดิ้นรน ไม่สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง ขณะเดียวกัน สถานศึกษาเองก็ต้องจับมือกัน สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีพื้นที่สร้างสรรค์มากๆ 

เราพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงคือ หลังเลิกเรียนมีแต่พื้นที่มืด มีแต่มุมมืด ไม่มีสภาพแวดล้อมด้านสว่างให้เขา เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำให้มีพื้นที่สร้างสรรค์มากกว่านี้

พื้นที่สร้างสรรค์ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงต้องไปสร้างใหม่ แต่หมายถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ อย่างเช่นในหมู่บ้านหนึ่ง เราเห็นสนามบาสอยู่ในโรงเรียน แต่สนามบาสจะปิดเมื่อโรงเรียนปิด ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถทำให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ ถ้าเราขยายเวลาเปิดถึงสักประมาณ 1 ทุ่ม แล้วทำให้เป็นพื้นที่สว่าง ให้เด็กเข้าไปเล่นได้ หรือถ้ามีพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถทำเป็นลานกิจกรรมหรือพื้นที่สร้างสรรค์ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีข้อจำกัดเรื่องการดูแลลูกก็สามารถปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ให้เขาได้ปลดปล่อยพลัง และเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เขาต้องไปเจอปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ 

แต่ปัจจุบันเรามีมุมมืดหรือพื้นที่มืดมากจนเกินไป ถ้าเทียบกับพื้นที่สว่างและพื้นที่สร้างสรรค์ อันนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่จะป้องกันความเสี่ยงได้

เรื่องต่อมาคือ โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นจุดที่เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในนั้นมากที่สุด ดังนั้นโรงเรียนต้องมองถึงมิติเรื่องการดูแลเด็ก มากกว่ามิติวิชาการ ไม่ใช่เน้นเรื่องการสอนวิชาการอย่างเดียว แต่ทำยังไงให้เขาเห็นความหมายชีวิต หรือตื่นเต้นกับการเรียนรู้ 

เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่า ถ้าเด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้ และรู้สึกว่ามีความหมายกับชีวิตเขา ก็จะทำให้เขาอยู่ในโรงเรียนได้ ไม่หลุดออกนอกระบบ การหลุดออกจากระบบทำให้เขาเกิดความเสี่ยงมากมาย ฉะนั้นสถานศึกษาหรือระบบการศึกษาก็ต้องปรับด้วยเหมือนกัน ทำยังไงที่จะเข้าใจเด็กและเยาวชนมากขึ้น

อีกมุมหนึ่ง ปัจจุบันผู้ใหญ่เองก็ต้องเจอในสิ่งที่น้องๆ กำลังเผชิญ คือ มีสิ่งเร้ามากมาย ทั้งออนไลน์ ทั้งนอกรั้วโรงเรียน การสร้างภูมิคุ้มกันหรือการสร้างทักษะชีวิตก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน การให้ทั้งวิชาการ วิชาชีวิต ระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน รวมถึงเรื่องจิตวิทยา เรื่องสุขภาพจิต ให้เขามีตัวช่วยต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้มากทีเดียว

ถ้าเราลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่แรก ทั้งมิติของชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์ กับสถานศึกษา ก็จะช่วยป้องกันเด็กเหล่านี้ได้เยอะทีเดียว

อยากฝากอะไรบ้างถึงหน่วยงานที่สนใจอยากทำงานร่วมกับ กสศ.

จริงๆ ต้องบอกว่า กสศ. เป็นหน่วยงานเล็กนิดเดียว แล้วเรากำลังพูดถึงปัญหาการศึกษาที่มันใหญ่มาก ใหญ่แค่ไหน ก็คือน้องๆ เด็กและเยาวชนที่ขาดทุนทรัพย์และโอกาสจำนวน 4 ล้านคน แต่ขณะนี้ กสศ. ช่วยได้ประมาณ 1 ล้านคน

เพราะฉะนั้นเราต้องการพลังและทรัพยากรมากที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ และไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานเดียว จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สามารถเข้ามามีบทบาทได้หมด ถ้าเรารวมพลังกัน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เคยพูดไว้ว่า “ปัญหาที่ใหญ่และยาก ไม่สามารถทำงานด้วยหน่วยงานเดียวได้” เช่นเดียวกัน เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยได้ ตามศักยภาพที่ทุกคนมี อย่างเช่นที่ผ่านมา กสศ. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนหลายเรื่องมาก เขาให้ทั้งทรัพยากร ให้ทั้งนวัตกรรมในการทำงาน หรือแม้กระทั่งชุมชนท้องถิ่นก็เหมือนกัน คือมองว่าทุกคนมีบทบาทได้ แล้วก็เป็นพลังรวมกัน เพราะท้ายที่สุดความสำเร็จก็คือความสำเร็จร่วมกันของทั้งชุมชนและประเทศชาติที่จะมาทำงานด้วยกัน

ฝากถึงเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดหรืออยู่ในกระบวนการยุติธรรม

สิ่งที่ผ่านมาก็ถือเป็นประสบการณ์หนึ่งของชีวิต มันไม่ใช่สิ่งที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต เราสามารถที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ ถ้าเรามองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงและมุ่งไปหาจุดนั้น ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ 

อยากให้เชื่อมั่นว่า แต่ละคนล้วนมีศักยภาพและมีความสามารถ เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา ถ้าเรารู้และพร้อมจะก้าวออกไป เชื่อว่าสังคมก็พร้อมที่จะยอมรับและให้โอกาสเสมอ แต่ท้ายที่สุดต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน ตัวเราเองต้องเห็นประตูบานนั้นก่อน และอยากให้กำลังใจว่า ทุกปัญหามีทางออก ขอแค่เรามีความพยายามและความมุ่งมั่น


‘โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายการศึกษากว่า 20 องค์กร เพื่อผลักดันวาระทางสังคมและความเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All) เมื่อวันที่ 8-10 กันยายน 2566 ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ