ห้องเรียนตามใจ หรือ Fabrication Lab แม้จะใช้ชื่อว่าห้องเรียน แต่แท้จริงแล้วนี่คือพื้นที่เรียนรู้ที่ใช้มุมโปรดของนักเรียนในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ของโรงเรียนบ้านสามยอด จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนพัฒนาตัวเอง (TSQP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ประโยชน์ของห้องเรียนนี้คือเป็นพื้นที่ที่คุณครูใช้บูรณาการร่วมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนในการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง และเป็นพื้นที่ของนักเรียนในเวลาพักหรือหลังเลิกเรียน ให้ได้ปลดปล่อยจินตนาการ และแสดงความสามารถของตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด นักเรียนสามารถหยิบใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องไปจัดซื้อจัดหาด้วยตัวเอง
“เรามองว่าห้องเรียนนี้จะตอบสนองกับการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ก็เลยเกิดสถานีการเรียนรู้ต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นมุมงานช่าง มุมศิลปะ มุมเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมุม Music Station ที่อยู่ตรงโรงอาหาร ที่เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถของตัวเอง” ครูมณีรัตน์ จิตนิยม ครูคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนบ้านสามยอด กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสร้างห้องเรียนตามใจ
ขณะที่ ผอ.สมรัก ใจตรง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสามยอด ซึ่งมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนการเรียนแบบเก่าๆ ที่เป็นแบบ Action Learning โดยมีครูเป็นศูนย์กลาง ให้เป็นการเรียนแบบ Active Learning มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ อธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียนบ้านสามยอดเป็นโรงเรียนนำร่องที่ ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลัก โดยการประเมินลักษณะการจัดกิจกรรมของที่นี่จะประเมินจากชิ้นงาน จากการกระทําตามสถานการณ์ของเด็ก ซึ่งใช้ 6 สมรรถนะหลัก คือ การคิดขั้นสูง การจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังทํางานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน
เพราะทางโรงเรียนเชื่อว่า การเรียนรู้ฐานสมรรถนะนั้น เป็นผลรวมของทักษะและความรู้ และต้องการเน้นผลลัพธ์จากการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง มากกว่าการสอบแบบปรนัย จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสถานีการเรียนรู้ในโรงเรียนขึ้นมา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ได้ทำสิ่งต่างๆ ตามความสนใจของตนเอง และให้ความรู้เป็นเครื่องมือติดตัว สามารถนำไปต่อยอดอาชีพได้ในอนาคต
ปลดปล่อยจินตนาการผ่านการลงมือทำ อิงฐานสมรรถนะ
จุดประสงค์ของ ‘ห้องเรียนตามใจ’ คือต้องการให้นักเรียนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นักเรียนเป็นผู้คิด ผู้สร้าง ผู้ต่อยอดขึ้นมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยจัดเป็นสถานีการเรียนรู้ตามมุมต่างๆ ผ่านการออกแบบเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
เช่น มุม Technician Station พื้นที่สำหรับทำงานฝีมือและงานช่างจะมีเครื่องมือ อุปกรณ์งานช่าง รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ให้นักเรียนได้ประดิษฐ์ชิ้นงาน หรือ มุม Music Station ที่มีเวทีสำหรับให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมติ ซึ่งจะมีชุดต่างๆ เช่น ชุดนักดับเพลิง ชุดเจ้าหญิง ชุดทหาร รวมถึงมีเครื่องประดับ ฉาก ไมค์ กล้อง และลำโพง เตรียมไว้ให้ โดยนักเรียนสามารถถ่ายวิดีโอและตัดต่อด้วยตัวเอง และมุมศิลปะ ที่จัดเตรียมสี พู่กัน กระดาษ และผ้าใบ ให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงาน เป็นต้น
“ห้องเรียนตามใจจะถูกใช้อยู่ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน คือช่วงพักเที่ยงกับตอนเย็นหลังเลิกเรียน เราเปิดพื้นที่ให้เด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาสแสดงตัวตน ได้แสดงความคิดหรืออะไรที่อยากทําในห้องนั้น เพื่อเล่น แสดง หรือวาดภาพ ตามความถนัดของตัวเอง แต่ในเวลาเรียนก็จะใช้แสดงความสามารถตามโจทย์ที่ครูมอบให้ หรือถ้าเด็กต่อยอดคิดค้นชิ้นงานเพิ่มเติมก็แล้วแต่เขาเลย เพราะครูมีบทบาทเป็นโค้ชให้คำปรึกษาเท่านั้นค่ะ” ครูมณีรัตน์ จิตนิยม อธิบาย
สำหรับผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มั่นใจ กล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น และรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีคุณครูเป็นโค้ชที่ให้คำปรึกษา สนับสนุน และคอยดูแลอยู่ข้างๆ ให้เด็กได้แสดงศักยภาพตามความสนใจและความต้องการได้อย่างเต็มที่
“สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ แววตา สีหน้า และรอยยิ้มของนักเรียน ตลอดการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเขาก็เรียกร้องที่จะไปห้องนั้นอีก เพราะเวลาไปเรียนรู้ที่ห้องนั้นเขาจะรู้สึกดีใจ หรือเวลาที่เห็นผลงานของตัวเองที่ได้ไปโชว์ก็จะรู้สึกภูมิใจค่ะ” ครูมณีรัตน์ เล่าถึงการตอบรับของเด็กๆพร้อมกันนี้ ผอ.สมรัก กล่าวเสริมว่า การออกแบบห้องเรียนตามใจเป็นโมเดลหนึ่งที่มาจากหลักสูตรการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ที่ต้องการให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนบ้านสามยอดนั้นใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป็นโรงเรียนนําร่องกับ CBE และใช้การเรียนรู้ทั้ง 6 สมรรถนะ ในการออกแบบกิจกรรม
Active Learning ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เปลี่ยนครูเป็นโค้ช
คุณครูที่โรงเรียนบ้านสามยอดจะเขียนแผนการสอนเป็น Active Learning เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายคือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งข้อดีของ Active Learning คือนักเรียนจะได้สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของคุณครูท้ายคาบ โดยคุณครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนสะท้อนผลหลากหลายรูปแบบได้เต็มที่ ทั้งด้านดีหรือข้อเสนอแนะที่เขาต้องการให้คุณครูจัดการเรียนการสอน คุณครูก็นําข้อมูลตรงนั้นมาวางแผนในการจัดการเรียนรู้ต่อไป เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของนักเรียนแต่ละระดับชั้น
“เราให้โจทย์เด็กๆ เขาไปคิดต่อยอดเอาเองว่าจะนําเสนออะไร และจะใช้อุปกรณ์เครื่องมืออะไร เขาก็จะไปหาจากห้องเรียนตามใจ ส่วนครูก็เป็นโค้ชคอยฟังระหว่างเขาทํากิจกรรม จะได้เห็นกระบวนการคิด การแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงที่เขาเจอ โดยที่ครูจะไม่ได้บอกเลยว่า หนูใช้อันนั้นสิ ใช้อันนี้สิ เป็นการเรียนรู้ที่เราให้อิสระเขามากขึ้น”
ครูมณีรัตน์ เล่าถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งครูต้องทําการบ้านด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จากการสังเกตความสนใจของนักเรียนและนำมาบูรณาการร่วมกับกิจกรรมในห้องเรียน และความเหมาะสมของเนื้อหา เพื่อที่จะนํามาจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่นการพาออกนอกห้องเรียน จัดการเรียนรู้ในรูปแบบเกม ทั้งเกมที่ให้เด็กได้เคลื่อนไหวและการใช้เทคโนโลยีมาช่วย
“นี่เป็นการบ้านของคุณครูที่จะต้อง Active ตัวเอง ไม่ใช่แค่ให้เด็ก Active อย่างเดียว โดยผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เห็นได้ชัดสําหรับโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมคือ นักเรียนมีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้นมาก จากเด็กที่ไม่ค่อยกล้าพูดก็จะกล้าพูดมากขึ้น”
“เพราะปกติแล้ว ครูจะเป็น Teacher-Centered Approach โดยวางตัวเองเป็นศูนย์กลาง สอนให้นักเรียนปฏิบัติ แต่เราเปลี่ยนใหม่ แทนที่ครูจะยืนพูด ก็ให้นักเรียนออกมาหน้าชั้นเรียน มานําเสนอในรูปแบบตามที่เขาเข้าใจ แล้วครูและเพื่อนๆ ในห้องก็จะช่วยกันเติมเต็มซึ่งพอมีโอกาสได้นำเสนอบ่อยๆ เขาก็ค่อยๆ ปรับ และกล้าแสดงออกมากขึ้นค่ะ” ครูมณีรัตน์ เล่า
ทั้งนี้ มุมมองของผู้ปกครองต่อการเรียนรู้แบบ Active Learning ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องสื่อสารและให้ความเชื่อมั่น เพราะคําว่า ‘เรียน’ ของผู้ปกครองคือการนั่งอยู่ในห้องแล้วทําข้อสอบได้ เน้นวิชาการเป็นหลัก
“การที่ผู้ปกครองเขาเห็นเด็กออกไปสํารวจชุมชน มีกระเป๋าใบหนึ่ง หิ้วใส่ถุง แล้วก็มีใบชิ้นงาน ไปสัมภาษณ์ชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่น ในมุมของผู้ปกครองคือเหมือนไม่ได้เรียนอยู่ สิ่งนี้ก็ต้องทําความเข้าใจ แต่สําหรับชุมชนนี้ผมแก้ไขมาได้ระดับหนึ่งแล้ว” ผอ.สมรัก อธิบาย
ปลดธงในใจครู เพราะการเรียนรู้ไม่มีคำตอบตายตัว
การตั้งธงในใจของครูก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะครูหลายคนอาจติดภาพการเรียนแบบเก่าที่ทุกสิ่งต้องมีคำตอบตายตัว หากครูปักว่าสิ่งนี้คือถูก สิ่งนี้คือผิด ก็จะเป็นการปิดกั้นจินตนาการ ทำให้ไม่เกิดการบูรณาการความคิดเท่าที่ควร
“ผมย้ำกับครูตลอด ว่าอย่าตั้งธงคําตอบของครูไว้ก่อน เมื่อไหร่ที่ครูตั้งธง มันคือการบล็อกความคิดนะ ซึ่งกว่าจะเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบ Action Learning มาเป็น Active Learning ได้ เราต้องทำให้ครูเห็นว่าข้อมูลที่ถูกต้องมันคืออะไร ให้เหตุผลแก่เขา ซึ่งพอครูเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากการให้เด็กทำตามขั้นตอนก็เปลี่ยนให้เด็กเขาได้ลงมือทำ ได้ทดลอง แล้วให้เขาสรุปเป็นองค์ความรู้ ซึ่งอาจจะอาจสรุปผิดก็ได้หรือถูกก็ได้ แต่สิ่งที่เราได้จากการสรุปคือเด็กได้คิด ได้แก้ปัญหา ส่วนความรู้นั้นเดี๋ยวเรามาเติมเต็มกันท้ายชั่วโมง เพราะถ้าเด็กเขาเกิดการสรุปองค์ความรู้ด้วยตัวเองก่อน มันจะเกิดฝังแน่นยั่งยืน เพราะตัวเขาเป็นคนสรุป เป็นคนสร้างเองกับมือ”
การสร้างชิ้นงานในห้องเรียนชิ้นหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากความคิดที่หลากหลาย ซึ่งโจทย์หนึ่งโจทย์ทำให้เด็กได้ผ่านกระบวนการคิด การทํางาน เมื่อแบ่งกลุ่มก็จะเห็นการทํางานเป็นทีม การเสนอความคิดเห็น การสื่อสารกับเพื่อน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอน การวัดผลของโรงเรียนสามยอดจึงไม่เน้นการวัดผลในข้อสอบปรนัย แต่จะเก็บคะแนนส่วนใหญ่เป็นระหว่างปฏิบัติกิจกรรมในสถานการณ์จริงแทน เนื่องจากมองว่าสามารถวัดได้ดีและแม่นยำกว่า
“มันหมดสมัยที่จะสอนโดยการแกะสลักตามที่คุณครูบอกแล้ว เหมือนเราสมัยก่อนที่แกะสลักมะละกอเป็นดอกกุหลาบตามคุณครู ตามแบบฉบับ แต่ถ้าที่นี่เราสอนแกะสลักในหมายความว่า หากนักเรียนมีผลไม้อะไรที่สนใจ ก็เอามาแกะสลักเป็นอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่สําคัญคือนักเรียนต้องนําเสนอให้ได้ว่าแกะเพื่ออะไร มันมีประโยชน์อย่างไร มีข้อดีข้อเสียยังไง รูปแบบมาจากไหน แนวคิดมาจากตรงไหน ถ้ามีเหตุผลรองรับก็ได้คะแนน
ผมมองว่ามันตอบโจทย์การเรียนการสอนในยุคที่เปลี่ยน สร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้คิดสร้างสรรค์ แสดงความสามารถในการนําเสนอผ่านความต้องการและแนวคิดของเขา” ผอ.สมรัก กล่าวในที่สุด