การจะพลิกโฉมอนาคตการศึกษาไทยให้ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางนโยบายเป็นแนวทางหลัก ซึ่งการกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาอาจไม่สามารถทำได้ด้วยการเดินเป็นเส้นตรง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นหลากหลาย เป็นวงจรที่บิดพันกันเป็นเกลียวซับซ้อน ทำให้ฝ่ายกำหนดนโยบายต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อเข้าใจปัญหาอุปสรรค และมีบทเรียนแนวทางแก้ไขที่ถูกจุด
งานวิจัยทางวิชาการจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อขั้นตอนต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบาย โดยงานวิจัยที่จะสนับสนุนกระบวนการทางนโยบายได้ ต้องมี Political Economy หรือการมองภาพโครงสร้างที่มากกว่าเพียงมิติเดียว กล่าวคือ ต้องเข้าใจทั้งบริบทด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
“ที่สำคัญ งานวิจัยที่จะสามารถผลักดันวาระสำคัญของประเทศได้ ต้องผ่านการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกลำดับขั้นตอน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ทิศทางงบประมาณ ไล่ไปจนถึงผู้นำไปปฏิบัติบังคับใช้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบายทั้งหมด”
ข้อเสนอข้างต้นคือความเห็นของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ภาพอนาคตการพลิกโฉมการศึกษาไทย เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในการประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 17
เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัย เพราะการกำหนดนโยบายทางการศึกษาไทยมีมูลค่าสูงมาก ด้วยงบประมาณราว 500,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมการดูแลโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง ครู 400,000 คน ยังไม่รวมส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร พื้นที่ ชุมชน และประชากรอีกจำนวนมาก
“ดังนั้นงานวิจัยต้องเข้าใจและลงลึกไปถึงกลไกเหล่านี้ให้ได้ จึงจะสามารถสนับสนุนให้เกิดนโยบายที่แข็งแรงพอจะพลิกโฉมการศึกษาที่ยั่งยืนได้ โดยไม่หมดพลังไปตามวงจรของผู้กำหนดนโยบายที่ทยอยผลัดเปลี่ยนกันตามวาระ”
มองภาพอนาคตไปด้วยกัน
ดร.ไกรยส ระบุว่า การนำเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษา จำเป็นต้องมีฐานรากที่แข็งแรงจากการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ และต้องมีการผลักดันให้ความรู้จากผลงานวิจัยได้เผยแพร่สู่สาธารณะ รวมถึงยกย่องส่งเสริมให้นักวิจัยมีขวัญกำลังใจในการสร้างผลงานที่มีคุณค่า
เช่นเดียวกัน หลักการทำงานขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. ก็มุ่งใช้งานวิจัยเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา และผลักดันวาระสำคัญต่าง ๆ ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
ในระดับนานาชาติ การกำหนดนโยบายต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและมีความหวัง ว่าเมื่อนำมาใช้แล้วจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ มีการคิดคำนวณและบริหารความเสี่ยงเพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายของนโยบายบรรลุได้จริง ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การทำนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ จำเป็นต้องมีข้อมูลยืนยันผลผ่านการทดลองนำร่องมาแล้วในบางพื้นที่
“ประเด็นสำคัญคือ ถ้ากระบวนการกำหนดนโยบายกับงานวิจัยไม่ได้ออกแบบร่วมกันตั้งแต่ต้น ทั้งสองฝั่งก็จะไม่ได้ประโยชน์จากกันมากเท่าที่ควร เพราะการทำนโยบายมีวงจรที่สั้นนับเป็นหลักเดือนหรือสัปดาห์ ขณะที่การทำงานวิจัยต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือบางชิ้นนับเป็นปี และด้วยการกำหนดโจทย์งานวิจัยและขั้นตอนการของบประมาณมีเงื่อนไขเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการผลิตงานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายจึงควรมีวงจรตั้งแต่ต้นจนจบอย่างน้อย 3 ปี โดยต้องชวนฝ่ายกำหนดนโยบายมาร่วมกำหนดโจทย์ร่วมกับทีมวิจัย เพื่อมองภาพอนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้าไปด้วยกัน”
งานวิจัยแสดง ‘หลักฐานเชิงประจักษ์’ สะท้อนวาระทางสังคม
ข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ไปยังข้อเท็จจริงเสมอ ว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาเร่งด่วนในเรื่องใด เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กสศ. ซึ่งทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน ครู และโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมกันทำวิจัยจนได้ข้อมูลที่เป็น ‘หลักฐานเชิงประจักษ์’ ว่าเด็กไทยต้องเจอกับภาวะทุพโภชนาการ การถดถอยทางการเรียนรู้ ปัญหาเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากพัฒนาการที่ขาดช่วง เป็นต้น
“เมื่อข้อมูลหน้างานแสดงให้เห็นชัดเจน เราจึงมีโจทย์สำหรับการทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สอดรับกับวาระสำคัญของสังคมในขณะนั้น ซึ่งเป็นงานวิชาการที่ไม่จำกัดกรอบแค่ในแวดวงการศึกษา แต่แตะไปถึงนโยบายสาธารณสุข งานสังคมสงเคราะห์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยข้อมูลที่ลงลึกในระดับพื้นที่”
ดร.ไกรยส ย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างผู้วิจัยกับผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องเริ่มต้นจากจุดนี้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีพื้นฐานความเข้าใจเชิงบริบทที่ตรงกัน สื่อสารกันภายใต้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากสถานการณ์จริง ซึ่งข้อมูลที่มาจากคนทำงานด่านหน้าคือ ครู ผู้นำท้องถิ่น หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะค่อย ๆ คลี่คลายให้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข นำไปสู่บทสนทนาที่ลงลึกไปถึงรายละเอียด ว่าแต่ละฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร ต้องมีเครื่องมือหรือบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานใดบ้าง จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนถอดบทเรียนสู่การทำงานเชิงนโยบาย
“กสศ. ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านข้อมูลผ่านการสร้างเครือข่ายพื้นที่ เพราะไม่ว่าเกิดเหตุใดขึ้นก็ตาม เราเชื่อว่าคนในพื้นที่ปัญหาคือคนที่รู้ดีที่สุด แผนงานหรือข้อเสนอต่าง ๆ จึงต้องดำเนินผ่านข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่มาจากคนหน้างานเหล่านั้น แล้วข้อมูลนี้จะเป็นหลักฐานสนับสนุนในการช่วยให้เกิดตัดสินใจที่ดีที่สุดของฝ่ายกำหนดนโยบาย”
กระบวนการรับประกัน 2 ขั้นตอน ว่างานวิจัยจะไม่ถูกแขวนไว้แค่บนหิ้ง
ปัญหาที่ผ่านมาของงานวิจัยทางวิชาการในประเทศไทยมักพบว่า งานวิจัยหลายชิ้นที่มีวาระขับเคลื่อนสังคม และมีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต ทว่ากลับต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนการพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายปฏิบัติการด้วยข้อแม้หลายประการ โดยเหตุผลของการถูกปัดตกมักเป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขทางงบประมาณ ทำให้ผู้ทำวิจัยต้องกลับมาทบทวนแก้ไข ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันข้อเสนอไปสู่ขั้นกำหนดนโยบาย
“งานวิจัยพอทำจบ ส่งเล่ม ก็เหมือนเป็นจุดสิ้นสุดกระบวนการของโครงการนั้น ๆ แต่หากมองในทางนโยบายแล้ว เราต้องถือว่ากระบวนการเพิ่งจะเริ่มต้น แต่น่าเสียดายที่ประสบการณ์จริงบอกกับเราว่า ไม่ใช่งานวิจัยทุกชิ้นจะได้ไปถึงฝั่ง เราจึงจำเป็นต้องมี 2 กระบวนการมาช่วย เพื่อให้งานวิจัยได้รับการผลักดันไปสู่การปฏิบัติงานจริง
“ประการแรก Research Management คือ ต้องให้ผู้วิจัยกับฝ่ายจัดทำนโยบายได้บริหารจัดการร่วมกัน นับตั้งแต่วันแรกจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้ฝ่ายนโยบายช่วยเตรียมปลดล็อกในบางเรื่อง ขณะที่ผู้วิจัยเองก็จะมีกรอบของการทำงานที่ตั้งอยู่บนฐานของการนำไปใช้จริง
“ประการที่สองคือ ต้องมี Network หรือแผนที่เครือข่ายทำงาน ที่ช่วยให้ผู้วิจัยเห็นลำดับภาพในขั้นปฏิบัติการ ว่าถ้าจะผลักดันวาระใดวาระหนึ่งให้เป็นไปได้ ต้องหารือทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานใดบ้าง โดยหากเชื่อมโยงวงจรการทำงานเป็นระบบเครือข่ายร่วมกัน ทั้งผู้วิจัย ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงฝ่ายปฏิบัติการต่าง ๆ ได้ตามขั้นตอนนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งจะคุ้มต่อการลงทุน แสดงประสิทธิภาพได้มากที่สุด และไม่เป็นเพียงงานวิชาการที่ถูกแขวนไว้บนหิ้งโดยไม่ได้นำมาใช้จริง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การทำงานงานวิจัยทุกครั้งควรมีเวทีอภิปราย เพื่อสะท้อนความเห็น เติมความลุ่มลึก และการร่วมนำเสนอประสบการณ์จากมุมมองอื่น ๆ”
การลงทุนเชื่อมโยงเครือข่ายฐานข้อมูลทั้งประเทศเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการทำงานงานวิจัย นับเป็นอีกหนทางหนึ่งของการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากคนทำงานด่านหน้า เพื่อส่งต่อไปถึงผู้กำหนดนโยบายให้มีฐานข้อมูลที่ดีพอสำหรับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ และเพื่อจะช่วยยืนยันว่า ทุกนโยบายที่ออกมาจากคลังข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น จะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอนาคตไปอีกหลายสิบปี