โรงเรียนพัฒนาตนเอง จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย : รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต

โรงเรียนพัฒนาตนเอง จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย : รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต

โรงเรียนมีสมรรถนะในการพัฒนาตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”  เป็นแนวคิดหลักของโครงการ โรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเครือข่ายด้านการศึกษา 11 เครือข่าย ที่พยายามเปิดประตูสู่โอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21

หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายด้านการศึกษาที่มีบทบาทในฐานะพี่เลี้ยงถ่ายทอดนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางให้ครูนำไปใช้ในการพัฒนานักเรียน รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต  เล่าถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ ซึ่งไม่เพียงสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน ยังส่งต่อแรงกระเพื่อมไปยังส่วนต่างๆ ในระบบการศึกษาว่า 

“TSQP มีกรอบความคิดเรื่องการเชื่อมการพัฒนาการศึกษาที่เป็น All for Education ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของห้องเรียนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ Ecosystem ทั้งหมดที่เข้าไปโอบอุ้มห้องเรียนให้เกิดการพัฒนา” 

“ผลลัพธ์สุดท้ายเลย คือ Core Learning Outcomes (ผลลัพธ์การเรียนรู้) เราหวังว่าปลายทางเด็กต้องได้รับการพัฒนา ต้องมีทักษะการคิดขั้นสูง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การเรียนรู้สิ่งใหม่ และเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วก็มีความสามารถเชิงพฤติกรรม มีคุณลักษณะและค่านิยมที่ดี ซึ่งสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ในโครงการจะเรียกว่า VASK หรือ Value Attitude Skill Knowledge” 

“ส่วนครู อันดับแรกต้องมีสมรรถนะในการสอนหรือจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะเด็กให้เกิด VASK ได้ ด้วยวิธีที่เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ซึ่งแน่นอนหนีไม่พ้น Active Learning และสิ่งที่เราคาดหวังคือมันต้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา ไม่ใช่ว่าจบโครงการแล้วเลิกทำ เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เราใส่เข้าไปต้องทำตลอด ทั้งการ Coaching การสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้ามสถานศึกษา การวางเป้าหมายร่วมกับชุมชนโดยที่เน้นผู้เรียน เป้าหมายต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถ้าโรงเรียนไม่ได้เน้นเรื่อง Core Learning Outcomes ที่เป็น VASK แต่เน้นเรื่อง O-NET, NT สุดท้ายมันจะพัง” 

รศ.ดร.ธันยวิช เชื่อมั่นว่าครูที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) จะได้เรียนรู้ทั้งนวัตกรรม เครื่องมือต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ซึ่งสุดท้ายเขาจะตกผลึกเป็นครูที่พัฒนาตัวเอง 

“ครูที่ผ่านโครงการ TSQP ถึงย้ายไปที่อื่นก็ไม่เสียหาย เพราะสิ่งที่ฝังเข้าไปในตัวคือ นิสัยของนักเรียนรู้ เขาจะเป็นผู้สร้างสรรค์และออกแบบการเรียนรู้ได้โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับนวัตกรรม เพราะสุดท้ายเขารู้แล้วว่าต้องคิดเอง นวัตกรรมเป็นแค่ตัวเปิดโลกทัศน์ เขารู้ว่าถ้าแก้ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้นวัตกรรมตัวนี้ แก้ปัญหาของห้องเรียนหรือครูต้องใช้นวัตกรรมแบบนี้ เขาจึงต้องมีนวัตกรรมหลายอย่าง เราก็ต้องจัดกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้เขาได้มาเรียนรู้นวัตกรรมเหล่านั้น เพื่อนำไปแก้ปัญหาหรือว่าไปยกระดับในเรื่องที่เขาต้องการ”

ทั้งนี้ หลังจากโครงการได้ดำเนินการมาถึงปีที่ 4 ดร.ธันยวิช บอกว่าเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับผู้อำนวยการโรงเรียนและครูที่เข้าร่วมโครงการ

“กลุ่มผู้อำนวยการ ผมรู้สึกว่าเปลี่ยนไปเยอะ แต่เดิมผู้อำนวยการเป็นผู้อำนวยความสะดวกจริงๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว 

อันดับแรกเป็นนักบริหารโรงเรียนที่มีมาตรการต่างๆ 

อันดับที่สองคือเป็นผู้นำทางวิชาการ ผู้อำนวยการทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ในคนเดียวกันด้วย บางโรงเรียนผู้อำนวยการลงไปสอนเองเพื่อทำให้ครูดู ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ทำไปด้วยกัน 

อันดับที่สามคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณ เขาเริ่มเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นกัลยาณมิตร เป็นญาติผู้ใหญ่ของครู ให้ความอบอุ่นปลอดภัยแก่ครูและผู้ปกครองด้วย 

สุดท้ายคือ นักเชื่อมระบบนิเวศ จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นนักทอดผ้าป่าหาเงินสนับสนุน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นนักเชื่อมระบบนิเวศการเรียนรู้โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้อำนวยการเริ่มเป็น Fighter (นักสู้) มากขึ้นในการที่จะไปเชื่อม Ecosystem (ระบบนิเวศ) มาพัฒนาโรงเรียนให้เกิดความเข้มแข็ง เป็นแกนกลางในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น ที่สำคัญยังเกิดเครือข่ายการทำงานด้วย”

“สำหรับคุณครู อันดับแรกคือผมเห็นดวงตาครูที่เห็นเด็กมากขึ้น แทนที่จะเห็นความก้าวหน้า เห็นอนาคตชีวิตฉันเพียงอย่างเดียว เริ่มมองเห็นอนาคตของเด็กเป็นหลัก เพราะเขาเชื่อว่าถ้าอนาคตเด็กดี ชีวิตเขาก็ดีเอง แล้วก็เริ่มมีจิตวิญญาณของครูมากขึ้น 

อันดับที่สองคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการเรียนการสอน คือเริ่มที่จะคิดวิธีถ่ายทอดหรือจัดกระบวนการให้เด็กมากขึ้น โดยอาจจะใช้ตัวนวัตกรรมเป็นต้นแบบ 

นอกจากเป็นผู้ให้กับนักเรียนแล้ว ยังเริ่มเป็นผู้ให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยน เกิดเครือข่ายครู แล้วทุกอย่างมาจากฐานก็คือ ครูกลายเป็นนักสร้าง สร้างองค์ความรู้เอง เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับตัวเก่ง วิกฤตไหนมาฉันปรับได้หมด พร้อมสู้ และมีความยืดหยุ่นสูง จากเดิมเป็นครูที่ต้องรอ ไม่รู้จะทำยังไง ปิดโรงเรียนก็ปิดไป เด็กกลับมาเกิด Learning Loss ก็ไม่คิดหาวิธีฟื้นฟู แต่ตอนนี้ไม่ ทุกคนมี Proactive (เชิงรุก) ที่จะทำ แล้วมายเซ็ตเรื่องของเด็ก จากมุมมองที่เน้นเรื่องของความรู้อย่างเดียวก็เริ่มตระหนักว่าในเด็กหนึ่งคนต้องเน้นทั้ง VASK และเริ่มเข้าใจว่าฐานรากที่สำคัญมาจากตัว V กับตัว A ที่อยู่บนฐาน เหมือนภูเขาน้ำแข็ง คือถ้า 2 ตัวนี้ดี ที่เหลือจะดีเอง ครูเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น” 

“ส่วนนักเรียนคงไม่ต้องพูดถึง ทุกเครือข่าย Core Learning Outcomes (ผลลัพธ์การเรียนรู้) ทุกเรื่องขึ้นหมด ทั้งความรู้ ทักษะการสื่อสาร พฤติกรรมบ่งชี้ต่างๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดี เด็ก Drop Out น้อยลง ความสุขมากขึ้น ทักษะการคิดขั้นสูงเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่ง ดร.ธันยวิชเห็นว่าน่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต คือการส่งต่อแรงบันดาลใจให้โรงเรียนอื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นว่าภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด โรงเรียนเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาตนเองได้ 

พร้อมกันนี้ ดร.ธันยวิช ยังได้ส่งกำลังใจถึงคุณครูที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับคุณภาพห้องเรียน ให้เชื่อมั่นว่าตนเองมีศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

“ครูเก่งนะ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ ความกลัว กลัวที่จะทำผิด เพราะว่าวัฒนธรรมเราเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างความมั่นใจให้ครู แล้วต้องทำให้เข้าใจว่ากระบวนการและวิธีกลางทางไม่มีถูกมีผิด ขออย่างเดียว ขอแค่เด็กได้รับการพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ดี กระบวนการอาจจะบิดหรือไม่ใช่จากต้นฉบับ มันทำได้หมด …โครงการนี้พูดเสมอว่า ครูต้องพัฒนาตัวเอง โรงเรียนต้องพัฒนาตัวเอง”