สื่อสาร “งานวิจัย” อย่างทรงพลัง เพื่อผลักดันสู่ผลลัพธ์เชิงนโยบาย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สื่อสาร “งานวิจัย” อย่างทรงพลัง เพื่อผลักดันสู่ผลลัพธ์เชิงนโยบาย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“งานวิจัยชิ้นหนึ่งจะไม่ส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นได้เลย ถ้าไม่มีการออกแบบวิธีขับเคลื่อนผ่านสังคมด้วยการสื่อสารที่มีพลัง ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการกำหนดโจทย์งาน ว่าจะลำเลียงเส้นทางอย่างไร เพื่อให้องค์ความรู้ส่งผลกระทบได้มากที่สุด เพราะแต่ละเส้นทางจะมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เราจะเห็นว่างานวิจัยจำนวนหนึ่งทำเสร็จแล้วไม่ได้ใช้ กองค้างอยู่บนหิ้ง นั่นเพราะมันถูกวางไว้ผิดที่ และไม่มีการมองถึงเรื่อง Communication Package หรือการสื่อสารที่ ‘เซ็กซี่’ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนได้มากพอ”

‘พลิกโฉมการศึกษาไทยด้วยงานวิชาการ’ กับ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเพิ่มแรงกระเพื่อมของงานวิจัย เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายการศึกษา ตั้งแต่ขั้นตอนกำหนดโจทย์วิจัย การทำงานที่สอดคล้องกับกรอบเวลา รวมถึงการออกแบบวิธีสื่อสารที่ทรงพลัง เพื่อให้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากผลงานวิจัยส่งไปถึงผู้คนในวงกว้าง และช่วยผลักดันนโยบายการศึกษาให้เกิดผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานวิจัยมีหน้าที่ ‘กำจัด’ และ ‘เพิ่มพูน’ ตะกอนสั่งสมของสายน้ำแห่งองค์ความรู้

ดร.เกียรติอนันต์ แบ่งการทำงานวิจัยแบบกว้าง ๆ เป็น 3 แบบ คือ 1) วิจัยเพื่อกำหนดกรอบการคิด (research for framing) เช่น การคาดเดาว่าโลกในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วคิดเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การทำงานเชิงปฏิบัติ 2) วิจัยเพื่อทดลองใช้องค์ความรู้ (research for acting) ในพื้นที่หนึ่ง กลุ่มโรงเรียนลักษณะหนึ่ง หรือในบริบทสถานการณ์หนึ่ง และ 3) วิจัยเพื่อปลดบางสิ่งที่ไม่จำเป็น (research for saying goodbye) เช่น ตั้งคำถามว่าการเข้าเรียน 8 โมงเช้า เลิก 4 โมงเย็น ยังจำเป็นกับโลกปัจจุบันแค่ไหน แล้วหากงานวิจัยพิสูจน์ได้ว่า ถ้าลดเวลาเรียนเหลือครึ่งวันก็ได้ผลเท่ากัน การผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบข้อบังคับเดิมก็สามารถทำได้

งานวิจัยจึงเป็นทั้งการ ‘กำจัด’ และ ‘เพิ่มพูน’ ตะกอนสั่งสมของสายน้ำแห่งองค์ความรู้ เพราะถ้าไม่ทบทวน คัดกรอง ปลดปล่อย หรือคัดทิ้ง วันหนึ่งสายน้ำจะตื้นเขิน เพราะใต้ผิวน้ำจะสุมกองด้วยซากตะกอนของความรู้แบบเก่าจำนวนนับไม่ถ้วน

“การทำงานวิจัยในประเทศไทยมักถูกพูดถึงบ่อย ๆ ว่า ‘ปัญหาวันนี้ วิจัยวันหน้า’ ซึ่งสะท้อนว่างานวิจัยส่วนใหญ่มักทำขึ้นหลังจากปัญหาเดินนำล่วงหน้าไปไกลแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้ ‘งานวิจัยเชิงมิติเวลา’ ลักษณะนี้ส่งผลต่อยอดถึงอนาคตได้ คือผู้วิจัยต้องให้ความสำคัญกับการเฉลี่ยน้ำหนักของกรอบเวลา (time frame) โดยมองอดีตเพื่อปรับปรุงปัจจุบัน และทำความเข้าใจปัจจุบันเพื่อเดินไปสู่อนาคต

“คือถ้าให้น้ำหนักอดีตมากไป ภาพปัจจุบันจะไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือถ้าจดจ่อกับปัจจุบันโดยไม่เรียนรู้จากอดีต เราจะหยุดนิ่ง ไปต่อไม่ได้ แล้วถ้าวนเวียนอยู่กับอดีตและปัจจุบันโดยไม่มองเผื่ออนาคตไว้เลย วันหนึ่งที่สังคมเปลี่ยนผ่าน บางเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีหรือไม่เคยอุบัติขึ้น เราจะไม่เข้าใจ และไม่มีองค์ความรู้สำหรับรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ”

กลยุทธ์สื่อสารงานวิจัยที่ ‘เซ็กซี่’ คือช่องว่างที่ขาดหาย

ดร.เกียรติอนันต์ ย้ำว่า งานวิจัยควรมียุทธศาสตร์การสื่อสารที่ดึงดูดความสนใจหรือ ‘เซ็กซี่’ มากพอ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย (policy advocacy) โดยต้องเป็นการสื่อสารที่มีพลัง สามารถดึงดูดความสนใจสาธารณชนที่อยู่นอกแวดวงวิชาการการศึกษา เพื่อให้งานวิจัยชิ้นนั้น ๆ เดินหน้าได้ตรงตามวัตถุประสงค์

“งานวิจัยหลายชิ้นมีช่องว่างที่ขาดหายไปคือ กลยุทธ์การสื่อสาร เลยกลายเป็นว่าทำวิจัยเสร็จแล้วกลับถูกวางทิ้งไว้เฉย ๆ ทั้งที่นำเสนอประเด็นน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย 

“วันนี้เรามีองค์ความรู้น่าสนใจ มีงานวิชาการดี ๆ มีปราชญ์ชาวบ้านและนักวิจัยเก่ง ๆ จำนวนมาก แต่หลายครั้งไม่สามารถส่งสารสำคัญออกไปได้ เช่น นักวิชาการเมื่อต้องถ่ายทอดข้อมูล ก็จะติดข้อจำกัดเรื่องการบอกเล่าด้วยทักษะคนสอนหนังสือ ซึ่งไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่หลากหลาย แต่ข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่ออยู่ในมือนักสื่อสาร เนื้อหาที่ซับซ้อนเข้าใจยากจะถูกย่อยให้คนทั่วไปเข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยทักษะของนักสื่อสารที่สามารถพลิกกลับข้อมูลไปมา ค้นหาเหลี่ยมมุมเล็กน้อยออกมานำเสนอได้เหมาะเจาะ เพราะใจความสำคัญของการสื่อสารคือ ทุกคนไม่จำเป็นต้องบริโภคสาระข้อมูลชุดเดียวกันทั้งหมด” 

ดร.เกียรติอนันต์ เสนอว่า เนื้อหาที่หนาและหนักของงานวิชาการ 1 เล่ม สามารถแปรรูปออกมาได้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหมือนแบ่งรูปทรงพีระมิดขนาดใหญ่ ให้เผยเพียงส่วนสัดของสามเหลี่ยมปลายเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ หรือส่งสารออกไปเฉพาะ Key Point บางอย่าง ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่หากต้องการสื่อสารข้อมูลระดับลึก จึงค่อยแสดงให้เห็นถึงฐานรากพีระมิด ในแง่มุมที่กว้างและลึกขึ้น

หว่านโปรยเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ในพื้นที่ที่มีโอกาสเติบโตงอกงาม

“ถ้าเราออกแบบงานวิจัยจากหน้างาน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่ต้น โอกาสที่งานวิจัยชิ้นนั้นจะมองเห็นตัวเลขหรือข้อมูลสำคัญ และหาแนวทางรับมือได้ทันการก็ยิ่งมีมากขึ้น”

หมุดหมายปลายทางของผู้ทำงานวิจัยทุกคน คือคาดหวังว่าองค์ความรู้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดร.เกียรติอนันต์ มีข้อเสนอแนะว่า นักวิจัยควรมีคุณสมบัติพื้นฐานของนักสื่อสารอยู่ในตัว โดยนับแต่ขั้นตอนกำหนดโจทย์จนถึงระหว่างการทำงาน ถ้าผู้วิจัยได้พบปะพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนกำหนดและนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนาน แต่ขอแค่มีช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสั้น ๆ และสม่ำเสมอ ช่วงเวลาเหล่านั้นจะไม่เพียงทำให้ผู้วิจัยกับภาคนโยบายสามารถสื่อสารการทำงานได้ดีขึ้นแล้ว หากยังเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผู้วิจัยจะได้ ‘หย่อนเมล็ดพันธุ์ทางความคิด’ เอาไว้ บนพื้นดินที่มีแนวโน้มว่าแนวคิดนั้น ๆ จะเติบโตงอกงามในวันข้างหน้า

ไม่มีผลลัพธ์เชิงนโยบายใด ร้ายแรงเท่ากับการจัดการศึกษาที่ผิดพลาด

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า วงจรการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาสาธารณะในโลกยุคใหม่ ต้องมี 4 องค์ประกอบหลัก คือ ‘ข้อมูล-งานวิจัย-นโยบาย-การนำไปใช้’ อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการทำข้อมูลไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นถูกจัดเก็บอย่างแยกส่วน ทำให้เมื่อผู้วิจัยจะนำมาใช้ ต้องเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนเข้าถึงข้อมูล ทำเรื่องขอใช้ข้อมูล จนถึงนำข้อมูลที่กระจัดกระจายมาประกอบเป็นเนื้อเดียว ซึ่งทำให้กระบวนการวิจัยยืดยาวออกไปและไม่สามารถกำหนดวันสิ้นสุดงานได้ งานวิจัยหลายชิ้นจึงไม่อาจนำผลลัพธ์ขององค์ความรู้ที่สกัดได้มาใช้ได้ทันการ หรือแย่กว่านั้นคือไม่ได้นำออกไปใช้ที่หน้างานจริงเลย

“ที่ผมอยากบอกคือ เทคโนโลยีในวันนี้ทำให้เรามีวิธีสารพัดที่จะจัดเก็บข้อมูลระหว่างทางเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด แล้วส่งตรงสู่ศูนย์กลางเดียวให้เป็นถังขนาดใหญ่ที่ใช้งานได้ทันที เป็น Grand Eco System ที่มีข้อมูลแวดล้อมของเด็กทุกคน ทุกประเภท ทุกระดับชั้น มีข้อมูลของโรงเรียน ข้อมูลของลักษณะพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานให้ผู้วิจัยสามารถรีดผลลัพธ์จากกงานวิชาการได้ตรงจุด และผู้กำหนดนโยบายก็จะมีข้อมูลที่แม่นยำในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา 

“ผมเชื่อว่าการศึกษาเป็นกลไกเดียวที่การันตีว่า เราจะพลิกโฉมอนาคตประเทศไทยได้ยั่งยืนที่สุด ตามที่ข้อมูลงานวิจัยบอกว่า ถ้าเด็กทุกคนได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.8 ถึง 2 ล้านบาทตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นเงินที่รัฐไม่ต้องควักจากคลังไปแจก แต่เกิดจากรากฐานการศึกษาที่ดี” 

ดร.เกียรติอนันต์ ย้ำด้วยว่า การทำงานวิจัยทุกวันนี้เป็นการทำงานแข่งกับกรอบเวลา เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นทุกปี เราจึงต้องมีข้อมูลเพื่อประมาณการณ์แนวโน้มความต้องการของอาชีพต่าง ๆ นอกจากนี้ การจัดการศึกษาก็ต้องตรวจสอบตัวเองด้วยว่า จะผลิตผู้เรียนออกมาอย่างไรให้ทันกับโลกยุคใหม่ ที่บางอาชีพจะมีอายุไม่เกิน 5-10 ปี หรือบางอาชีพที่เคยมีมานับสิบนับร้อยปี จะค่อย ๆ สูญหายไปในอนาคต

“สุดท้ายผมอยากฝากถึงผู้มีส่วนร่วมจัดการศึกษาทุกท่านว่า ไม่มีผลลัพธ์เชิงนโยบายใดจะร้ายแรงเท่ากับการจัดการศึกษาที่ผิดพลาดอีกแล้ว เพราะการศึกษานั้นมีพลังมาก ถ้าเราพลาดนิดเดียว มันจะเป็นลิ่มที่ตอกลงไปบนผู้คน แล้วจะทิ้งรอยแผลแห่งความเหลื่อมล้ำไว้ในระยะยาว”


ที่มา : ถอดความจากเวทีเสวนาวิชาการ ‘ภาพอนาคตการพลิกโฉมการศึกษาไทย เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ภายใต้การประชุมทางวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 17 วันที่ 8 สิงหาคม 2566 จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา