เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลนิธิก้าวคนละก้าว และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมจัดกิจกรรมพิเศษ ในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน SX Sustainability Expo 2023 ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ รวมพลังความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ โดยบนเวทีกิจกรรมเป็นการพบปะกับครอบครัวก้าวคนละก้าว ร่วมพูดคุยและฟังเพลงแบบ ‘Music Talk Shows’ จาก อาทิวราห์ คงมาลัย ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว ร่วมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และตัวแทนนักเรียนที่มาช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราว ‘ทุนก้าวเพื่อน้อง’ ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ยังได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมงาน SX2023 และผู้รับชมผ่านทาง Facebook Live มูลนิธิก้าวคนละก้าว ร่วมกิจกรรม ‘ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็ก ๆ’ วิ่ง 10 กิโลเมตร ในวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 ที่สนามกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี หรือร่วมกิจกรรมวิ่งสะสมระยะทางแบบ Virtual Run โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาสมทบทุนในโครงการทุนก้าวเพื่อน้อง ปีที่ 4 ที่มูลนิธิก้าวคนละก้าว ดำเนินงานร่วมกับ กสศ.
อาทิวราห์ คงมาลัย ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว หรือ ‘ตูน บอดี้สแลม’ กล่าวว่า ทุนก้าวเพื่อน้อง เกิดขึ้นจากการรับทราบข้อมูลสถานการณ์ด้านการศึกษาจาก กสศ. ว่ามีเด็กและเยาวชนช่วงชั้นรอยต่อหลังพ้นจากการศึกษาภาคบังคับ หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก มูลนิธิก้าวคนละก้าวจึงตั้งใจว่าจะทำกิจกรรมต่อเนื่องทุกปีเพื่อระดมทุนการศึกษาให้น้องๆ กลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 โดยเริ่มมอบทุนในปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง 3 รุ่น รวม 183 คน
“ทุนก้าวเพื่อน้องเป็นการสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบที่คิดว่าน่าจะช่วยเหลือน้อง ๆ ตามวิธีที่เราถนัดมากที่สุด ซึ่งการได้ลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวเอง ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลและประสบการณ์ตรงของเด็ก ครู โรงเรียน และชุมชนในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้การได้รู้จักกับ กสศ. ถือว่าเป็นการจุดประกายให้มูลนิธิก้าว ฯ กล้าลงมือทำโครงการและช่วยให้รูปแบบโครงการเป็นไปตามที่มูลนิธิตั้งเป้าเอาไว้ คือไม่เพียงช่วยน้องๆ ให้ก้าวข้ามรอยต่อช่วงชั้น ม.3 ไปสู่ระดับที่สูงขึ้น แต่ยังต้องมีการดูแลต่อเนื่องครอบคลุมช่วงเวลาในการเรียนอีก 3 ปี โดยไม่เพียงช่วยเหลือเฉพาะค่าเล่าเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง ที่พัก อุปกรณ์การเรียน ไปจนถึงวันที่ทุกคนจบการศึกษา
“เราเป็นมูลนิธิที่มีคนทำงานแค่หยิบมือเดียว ถ้าไม่มีผู้รู้และคลุกคลีกับปัญหาอย่างเข้มข้น ลำพังการทำงานของมูลนิธิก้าว ฯ คงไม่สามารถทำให้โครงการเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล หมายถึงเราอาจรวบรวมเงินมาได้ แต่เงินก้อนนี้จะมีประโยชน์สูงสุดจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีบุคลากรที่มีความสามารถในการต่อยอด มาทำให้เกิดผลทวีคูณ”
ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวว่า ขอบคุณ กสศ. ที่เป็นต้นทางของข้อมูล คำแนะนำ และการออกแบบการทำงานร่วมกัน ทำให้โครงการทุนก้าวเพื่อน้องดำเนินมาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขอบคุณไปยังผู้มีส่วนร่วมในทุกโครงการของมูลนิธิก้าวคนละก้าว และทิ้งท้ายว่า ทุกคนที่ได้รับคำขอบคุณ คือคนสำคัญและมีส่วนร่วมในรอยยิ้มของน้องๆ ทั้ง 183 คน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนก้าวเพื่อน้อง ถือเป็นหนึ่งช่องทางที่เป็นความหวังของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ในการก้าวต่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และก้าวเดินเล็กๆ ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เองที่จะแสดงถึงความยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต “เพราะเราจะมีวันพรุ่งนี้ที่ดีไม่ได้เลย ถ้าเด็กคนหนึ่งต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป”
กสศ. จึงอยากเน้นย้ำถึงสถานการณ์การศึกษาไทยว่า ช่วงรอยต่อชั้น ม.3 คือจุดแตกหักของความหวัง เพราะเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงดังกล่าว ส่วนใหญ่ต้องเจอกับจุดหักเหในชีวิตและยากจะนำพาตัวเองกลับมาสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้อีกครั้ง
ข้อมูลสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุนก้าวเพื่อน้อง คือการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1.3 ล้านคน หรือเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,039 บาท ต่อคน/เดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ ‘เส้นความยากจน’ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ ฯ) ขีดไว้อยู่ที่ 2,800 บาท ต่อคน/เดือน
“ตัวเลขสำคัญชี้ว่า ในปี 2566 เด็กและเยาวชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนตามนิยามของสภาพัฒน์ ฯ ที่มีอยู่ราว 2.5 ล้านคน ต้องหลุดจากระบบการศึกษาหลังจบชั้น ม.3 จำนวน 30,000 คน และหลุดออกไปอีกราว 100,000 คน เมื่อจบชั้น ม.6
“ขณะเดียวกัน หากเรามองไปที่อัตราการเกิดของเด็กในทุกวันนี้ที่ราว 500,000 คนต่อปี ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกว่าประเทศไทยเราแทบจะไม่มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เรียกได้ว่าเรากำลังเป็นประเทศที่ ‘แก่ก่อนรวย’ หมายถึง เราเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่รายได้เฉลี่ยของประชากรยังอยู่ที่ 20,000 บาท ต่อคน/เดือน ซึ่งหากเราต้องการก้าวไปสู่ประเทศในกลุ่มรายได้สูง เราจำเป็นต้องทำให้รายได้เฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 38,000 บาท ต่อคน/เดือน เป็นอย่างน้อย คำถามคือเราจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาเป็นหลักหมื่นหลักแสนคนทุกปี
“ดังนั้นการเกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องของทุนก้าวเพื่อน้อง แม้จะเป็นทุนที่มอบให้กับเยาวชนจำนวนไม่มากต่อปี แต่การค้นหาและให้โอกาสสำหรับน้อง ๆ ที่คัดสรรมาแล้วว่าขาดโอกาสจริง ๆ และถ้าไม่มีทุนการศึกษาก็แทบจะเป็นการปิดประตูชีวิตของเขา ตรงนี้คือการสร้างความแตกต่าง และเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนที่สุดที่จะทำให้ประเทศก้าวไปได้”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า ขอบคุณมูลนิธิก้าวคนละก้าวที่ช่วยต่อเติมย่างก้าวความฝันของเด็กและเยาวชน รวมถึงขอบคุณทุกคนที่ร่วมสนับสนุนมูลนิธิก้าว ฯ ผ่านไปยังน้องๆ เยาวชนที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคตของประเทศในวันข้างหน้า
ทั้งนี้ ทุนก้าวเพื่อน้องได้จุดประกายให้เห็นแนวทางการให้ทุนการศึกษารูปแบบใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ วิธีคัดกรอง การดูแลตลอดเส้นทางการศึกษาในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ รวมถึงวิธีการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ ให้กระจายออกไปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราคาดหวังว่าการทำงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิก้าวคนละก้าว และ กสศ. จะเป็นต้นแบบที่สามารถส่งต่อความฝัน ความตั้งใจในการทำงานลักษณะเดียวกัน ให้ไปสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป
“ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีการลงทุนใดคุ้มค่าเท่ากับการให้โอกาสทางการศึกษา ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในกิจกรรม ‘ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็ก ๆ’ ของทุกคน จึงหมายถึงการแบ่งปันโอกาสและความสุขไปยังน้องๆ และยังเป็นการสร้างวงจรยั่งยืนเพื่อส่งต่อความสุขให้กับคนไทยทุกๆ คน”