ชวนรู้จักครูรางวัลคุณากรปี 2566 ครูอุดร สายสิงห์ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ พลิกวิถีคิดชุมชน รวมถึงสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม ผู้ได้รับรางวัลครูรางวัลคุณากร 2566 เมื่อครั้นปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนบ้านโกตาบารู จังหวัดยะลา (ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ครูโรงเรียนบ้านวังบวบ จังหวัดสงขลา)
เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน ครูอุดรจึงได้ตัดสินใจบวชเรียนเป็นเวลา 6 ปี ระหว่างนั้นได้เรียนรู้เรื่องความประมาณตน รู้จักพอ และในฐานะครู ครูอุดรได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างทุกๆ ด้านแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่จนได้รับฉายาว่า “ครูกีตอ”
ครูอุดรรับราชการมาเป็นเวลา 16 ปี ได้ปฏิบัติตามระเบียบวินัยของข้าราชการอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับงาน แก้ปัญหาของผู้เรียนในทุกๆ ด้านอย่างเต็มความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ มีผลงานเผยแพร่ในโรงเรียน ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ และได้รับเชิญเป็นวิทยากร
ด้านการจัดการเรียนการสอน ครูอุดรได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3
หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่นำไปสู่การใช้ในชีวิตจริง
การจัดการศึกษาในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถตอบสนองการพัฒนาผู้เรียนได้ครบทุกด้าน ครูอุดรเน้นการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยเชื่อว่า “หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่นำไปสู่การใช้ในชีวิตจริง คือการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งเนื้อหา ทักษะ กระบวนการ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติจริงตามความต้องการและความถนัดของผู้เรียน”
นอกจากนี้ยังสร้าง
- วิสัยทัศน์ 4 ก. คือ การเรียน การงาน การเงิน และการสร้างวินัย คุณธรรม
- โครงการคุณธรรมนำ 4 ก. ให้พอเพียง โดยใช้ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านการน้อมนำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อน 4 ก. ดังกล่าว
- โครงการ KOTA PROMPT โครงการที่พัฒนาทักษะชีวิตและบูรณาการการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระ เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคตได้ เป็นโครงการที่บูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคีเครือข่าย องค์กร หน่วยงานในจังหวัดยะลาทุกภาคส่วน
มีกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม สามารถพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ด้านการเรียน การงาน การเงินในระหว่างเรียน และช่วงปิดภาคเรียน ส่งเสริมอาชีพให้ผู้เรียน ทุกคนมีวินัยในการเรียนรู้ ได้มีการฝึกทักษะสู่การปฏิบัติจริงจากแหล่งเรียนรู้ที่ได้จัดสร้างขึ้น
พัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลาย เหมาะสม และพอเพียงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
“ครูต้องสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลายเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน…”
ครูอุดรมีความวิริยะอุตสาหะ โดยได้น้อมนำเอากระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาประยุกต์ใช้ในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ โดยมีคติประจำใจว่า “ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่ครูสอนเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แล้วใครจะทำ”
ครูอุดรได้ร่วมกับคณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียน สร้างและประสานภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลาย เหมาะสม และพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จำเป็นต้องจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย
เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมสร้าง ร่วมใช้ประโยชน์ ร่วมจัด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสังคม ชุมชน ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของที่จะปกป้อง หวงแหน ไม่ให้เกิดการทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ครูอุดรจึงได้จัดสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ ขึ้นภายในโรงเรียน โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการสืบค้น คิดค้น ปฏิบัติจริง ค้นคว้า หาความรู้ ให้เป็นวิถีชีวิต มุ่งไปสู่การศึกษาตลอดชีวิต และมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมจัดการศึกษา
ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ชุมชนก็สามารถใช้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อบรม สัมมนาประชุมและจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม
นวัตกรรมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ครูอุดรเป็นผู้ที่ทุ่มเทและเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละเวลาในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่วิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยการจัดสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ได้เรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง โดยได้คิดโครงการต่างๆ เช่น แข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด ส่งเสริมสนับสนุนโครงการรณรงค์การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย การส่งเสริมการบริโภคผักในโรงเรียน
ครูอุดรมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการพัฒนาคนให้มีความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ฝึกฝนผู้เรียนให้มีความพร้อมในการใช้ชีวิต เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และได้สร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เช่น
- “การพัฒนารูปแบบการสอนสังคมศึกษาตามแนว Constructivism” โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่พลเมือง กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
- รายงานผลการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนรู้เรื่อง “ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1”
งานวิจัยทั้ง 2 เรื่องเป็นการสร้างกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือ แบ่งปัน ร่วมรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย ร่วมยินดีและน้อมรับกติกาของกลุ่ม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ศาสตร์พระราชา นำไปสู่การปฏิบัติที่สร้างความมั่นคงของชีวิตในปัจจุบันและอนาคต
มูลนิธิรางวัลครูเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้มอบรางวัลคุณากร ปี 2566 แก่ครูอุดร สายสิงห์
เพื่อยกย่องความทุ่มเทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์