ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดเวลาที่ผ่านมากองทุนฯได้เสนอให้ทุกรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งเป็นโรงเรียนประถม ที่เปิดสอนในระดับมัธยมต้นด้วย เพราะโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ โรงเรียนขยายโอกาสจึงเป็นที่พึ่งของเด็กยากจนกลุ่ม 15% ล่างของประเทศ ที่ไม่สามารถไปเรียนโรงเรียนในเมืองได้ เพราไม่มีค่าเดินทาง ค่าครองชีพเพียงพอ เป็นเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ
“สวัสดิการอาหารสำหรับเด็กยากจนจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก ที่ผ่านมา โรงเรียน คุณครู ต่างรู้ดีและต้องแก้ปัญหากันเองมาโดยตลอด ด้วยจิตใจที่มีความเมตตา เมื่อเห็นเด็กท้องหิว ยืนมองน้องๆ กินข้าว ก็ต้องพยายามช่วยเหลือให้เด็กทุกคนในโรงเรียนได้กินอิ่มกันถ้วนหน้า ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายนโยบาย โรงเรียน วัด ท้องถิ่น เอกชน ชุมชน”
ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่า การลงทุนพัฒนามนุษย์ต้องพิจารณาทุกด้าน ถ้าท้องยังร้อง เด็กยังหิว ก็เรียนไม่รู้เรื่อง จากการลงพื้นที่ พบว่า เด็กๆ เหล่านี้ มีอาการปวดท้อง ไม่มีสมาธิ บางคนฟุบกับโต๊ะ บางคนกระวนกระวาย เข้าห้องน้ำบ่อย ช่วง 11 โมง จิตใจยิ่งกระวนกระวาย ว่าเมื่อไรจะถึงเวลาอาหารกลางวัน เพราะไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามาจากที่บ้าน แต่ถ้าได้รับประทานอาหารเด็กๆจะมีความสุข ตาเป็นประกาย บางคนหิวมาก ยกชามข้าว ซดโฮก ด้วยความเอร็ดอร่อย อยากมาโรงเรียนมาทุกวัน เพราะอยู่บ้านไม่ได้ทานอาหารอิ่มท้องแบบนี้
เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะไม่ว่าจะลงทุนกระตุ้นการเรียนรู้แค่ไหนก็ตาม หากภาวะโภชนาการของเด็กยังไม่ดี ก็ไม่มีทางพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ทองคำได้ กลายเป็นมนุษย์ตะกั่วเสียก่อน เพราะเมื่อได้อาหารไม่ครบถ้วน ก็แคระแกร็น ตัวเหลือง สมาธิในการเรียนรู้ไม่คงที่ เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อไอคิว อีคิว ต่ำลง กระทบคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ ถ้าจัดโครงการสวัสดิการอาหารเช้า อาหารกลางวัน จะทำให้เด็กๆมาโรงเรียนเพิ่มขึ้น และสม่ำเสมอ ลดอัตราการหลุดออกจากระบบเพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในชีวิตของเด็กๆ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้เพียงวันละ 34 บาท
“ผมขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษาชั้นมัธยมต้น ม.1-ม.3 ถูกกำหนดไว้ใน พรบ.การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้น เด็กทุกคนควรได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน รวมถึงอาหารเช้าที่มีคุณภาพ เพื่อให้มีโภชนาการที่ดี ได้รับสารอาหารครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่า งบประมาณค่าอาหารกลางวัน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากรัฐบาลพร้อมจะลงทุนเรื่องนี้ ใช้งบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. ซึ่งมีนักเรียนราว 4.7 แสนคน โดยที่ผ่านมามีต้นแบบที่เคยทดลองนำร่องอยู่ที่ จังหวัดสกลนคร ยะลา นราธิวาส เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน และกรุงเทพมหานคร