‘ยะลาโมเดล’‘เคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ด้วยทุนมนุษย์’ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา

‘ยะลาโมเดล’‘เคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ด้วยทุนมนุษย์’ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา

“เราไม่ได้วางแผนพัฒนาเมืองจากความฝัน แต่เริ่มทำจากต้นทุนที่มีอยู่….”

“ผมคิดว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่คนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างท้องถิ่นและพัฒนาเมือง เพราะคนที่มองเห็นปัญหา พร้อมทำงาน และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สุด ก็คือคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ เหล่านั้น”

จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2546-2556 จนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลาเกือบสามปี ในช่วงปี 2563-2565 ทำให้ยะลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ต้องเผชิญสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประชากรที่นับวันยิ่งทวีขึ้น

แต่แม้ต้องเจออุปสรรคมากมายในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ นครยะลาแห่งนี้กลับมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (Gross Domestic Product: GDP) เติบโตต่อเนื่องในทุกปีนับตั้งแต่ปี 2558

เรื่องราวน่าสนใจในบทความนี้ว่าด้วยเรื่อง ยะลาทำได้อย่างไร? ในการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์จากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนกลายมา ‘เป็นเมืองน่าอยู่’ ในวันนี้

ชวนสำรวจแนวทางพัฒนาเมืองยะลา ผ่านมุมมองของ นายกเทศมนตรีนครยะลา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ จากเวทีเสวนาเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ‘การลงทุนมนุษย์ เพื่อพัฒนาอนาคตของประเทศ’ ส่วนหนึ่งของ งานสัมมนาทางวิชาการประจำปี “Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ” โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

1.จัดสรรทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สุงสุด

ย้อนไปในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่อย่างหนัก นครยะลาได้มองถึงการ ‘สร้างเมือง’ โดยเริ่มวางรากฐานที่การ ‘พัฒนาทุนมนุษย์’ กับภารกิจชื่อว่า ‘The Second Singapore’

“เราเห็นตัวอย่างจากสิงคโปร์โมเดล ที่ใช้การสร้างคนมาเป็นต้นทางของการเปลี่ยนแปลงเมืองในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2546 กิจกรรมหลากหลายที่มุ่งสร้างทักษะให้กับเด็กและเยาวชนจึงเกิดขึ้น มีการจัดตั้ง TK Park ยะลา ซึ่งเป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย รวมถึงการทำค่ายเยาวชนในรูปแบบ Thinking Skill เพื่อบ่มเพาะทักษะการคิด การกีฬา การสื่อสาร ความเป็นผู้นำ และแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกัน ร่วมด้วยการจัดการศึกษาทางไกล (Remote Education) เพื่อเติมเต็มทักษะทางภาษา และนำแพลตฟอร์ม Brain Cloud หรือการเรียนรู้แบบบูรณาการด้านภาษาศาสตร์ ผสานกับการใช้เทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัย มาใช้ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลทุกแห่ง

“สืบเนื่องถึงช่วงเวลาที่เหตุการณ์ความไม่สงบทุเลาลง นครยะลาได้เริ่มแผนฟื้นฟูเมืองด้วยทุนภายใน เพราะเรารู้ว่าเมืองเราไม่ได้มีต้นทุนมากมาย การจัดสรรทรัพยากรเท่าที่มีให้ได้ประโยชน์สูงสุดจึงสำคัญมาก ยะลาได้รวบรวมจุดแข็งต่างๆ ของเมือง ตั้งแต่ผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้านของเมืองที่ยะลาได้รับการยอมรับระดับประเทศ จนถึงความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ส่วนเรื่องการศึกษา เป็นที่ทราบกันดีว่ายะลาคือ ‘ตักศิลา’ แห่งภูมิภาค ด้วยมีการจัดการศึกษาครบทุกรูปแบบเพียงจังหวัดเดียวในภาคใต้ แล้วยังมีความโดดเด่นเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์มายาวนาน

“เราจึงนำต้นทุนเหล่านี้มาต่อยอด ตั้งแต่การจัด Tutorial Class (ห้องเรียนพิเศษเพื่อปูพื้นฐานนอกชั้นเรียนปกติ) สำหรับเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสโดยเฉพาะ มีห้องเรียนนวัตกรรม Fab Learn Lab เพื่อสร้างและต่อยอดให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีการทำ MOU ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำเหล่าคณาจารย์ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ มาช่วยเติมไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และสร้างเด็กเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็น Startup รุ่นใหม่ มีการต่อยอดคุณค่าวัฒนธรรม อาทิ จัดเวทีแฟชั่นมลายู เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันให้ยะลาเป็นศูนย์กลางการสร้างแบรนด์เครื่องแต่งกายที่ทันสมัย ทว่าคงไว้ซึ่งความงามพื้นถิ่น หรือการเปิด ‘พิพิธฑภัณฑ์เมือง’ ให้เป็น City Lab ที่เด็ก ๆ จะได้ร่วมออกแบบเมืองยะลาในรูปแบบที่คิดไว้ไปด้วยกัน โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองยะลา 10 ปี ที่จะมีการเก็บข้อมูลประชากร สำรวจความต้องการเป็นรายคน อันเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำควบคู่กันระหว่าง การสร้างคน และ กำหนดทิศทางของเมืองในอนาคต”

2.‘ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’ จากร่องรอยความสูญเสียในวิกฤตโควิด-19

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การมาถึงของวิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำมหาศาล ซึ่งทำให้ยะลาพบว่ามีจำนวนเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงหลุดเป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย จึงมีการสำรวจค้นหาพร้อมจัดโปรแกรม ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ สำหรับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบหรือมีแนวโน้มหลุดจากระบบในช่วงปิดโรงเรียน ตามด้วยโครงการ ‘มอบแท็บเลตยืมเรียน’ ให้กับนักเรียนทุกคนในสังกัดเทศบาล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)

ในระยะฟื้นฟู เด็กยะลาชั้น ม.1-ม.2 ทุกคนจะได้เข้าสู่กระบวนการแนะแนวรายบุคคลใน 3 ด้าน คือ 1.ทดสอบประเมิน IQ EQ 2.ทดสอบด้านพหุปัญญา  (Multiple Intelligences) เพื่อค้นหาศักยภาพที่หลากหลาย และ 3.ทดสอบความพร้อมทางอาชีพ (Vocational Readiness Test) เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเมือง

“งานสำคัญคือเราได้รวบรวมเด็กเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาส จากฐานข้อมูลของโรงเรียน ฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และฐานข้อมูลจาก อบจ. เพื่อนำเด็กเข้าสู่การแนะแนวร่วมกับผู้ปกครองเป็นรายคน โดยเน้นเรื่องการ Upskill Reskill เพื่อความมั่นคงด้านการประกอบอาชีพให้กับผู้ปกครอง อันจะเป็นส่วนสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลบุตรหลาน นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือทุนการศึกษา โดยหาทุนจากการจัดกิจกรรมในจังหวัด และนำทุนส่วนหนึ่งไปใช้ส่งเสริมทักษะอาชีพและสร้างรายได้ระหว่างเรียน สำหรับเด็กเยาวชนใน อบต. เล็กๆ นอกเขตเทศบาล พร้อมจัดตั้ง ‘มูลนิธิลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ขึ้นเพื่อดูแลด้านการศึกษาของจังหวัดโดยเฉพาะ”

“ผลที่ตามมาจากแผนงานทั้งหมด คือนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตัวเลข GDP ของจังหวัดยะลาเคยดิ่งลงไปอยู่ในจุดต่ำที่สุด ก็กลับมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในทุกปี และถือเป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ทำได้ โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคที่รับรองโดยกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของยะลาอยู่ที่ 89.8 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 80.4 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 76.7 และนี่อาจเป็นคำตอบว่า การพัฒนาคน ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้อย่างไร”

3.‘กระจายอำนาจ’ หนทางนำท้องถิ่นเข้มแข็ง หนุนส่วนกลางมั่นคง

แม้ทิศทางการพัฒนาเมืองยะลาจะแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีนครยะลาได้กล่าวถึงแนวคิดเพื่อปลดล็อกอุปสรรค และจะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และสร้างเมืองให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการ ‘กระจายอำนาจ’

ณ วันนี้ ทุกพื้นที่จำเป็นต้องสำรวจและเข้าถึงเด็กเยาวชนให้ได้เป็นรายบุคคล ทั้งยังต้องมีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้ทำงานได้ทั้งแนวกว้างและแนวลึก

“ยกตัวอย่างการต่อยอดแผนงาน Fab Learn Lab ที่ถึงวันหนึ่งเมื่อเยาวชนกลุ่มนี้เติบโต เขาจะพร้อมสำหรับการเป็น Startup และเทศบาลที่ทราบถึงศักยภาพจะมีหน้าที่ดูแลในช่วงต้น เช่นการช่วยเรื่องทุนกู้ยืมรายย่อย (Microfinance) จนเมื่อมีชิ้นงาน เทศบาลจะเข้าไปร่วมหุ้นเพื่อยกระดับมูลค่า แล้วจากนั้นเมื่อเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เขาจะสามารถซื้อหุ้นคืน ซึ่งทุนที่คืนกลับมาจะกลายเป็นวงจรในการช่วยเหลือเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ต่อไป นี่คือแผนการที่เรามองว่าต้องใช้งบประมาณที่มาจากส่วนกลาง และต้องมีความความยืดหยุ่นในกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้เทศบาลมีอำนาวางแผนและตัดสินใจได้มากขึ้น”

นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจแล้ว ก็จำต้องลงลึกด้านการจัดสรรงบประมาณควบคู่กัน โดยสิ่งที่ส่วนกลางควรพิจารณา คือการจัดสรรงบประมาณตามตามหลักยุทธศาสตร์ และจากข้อมูลว่าพื้นที่ใดยากจนกว่า ขาดแคลนและเหลื่อมล้ำมากกว่า หรือมีตัวเลขที่เป็นสีแดงมากกว่า เพราะจังหวัดเหล่านี้ควรได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สะท้อนผ่านข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ เช่นในด้านการศึกษา ท้องถิ่นควรมีโอกาสพิจารณาให้ทุนเด็กเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่จะให้ผลตอบแทนที่แน่นอนในอนาคต

“หลักการเหล่านี้เราพูดถึงภายใต้ข้อเท็จจริงว่า ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมาสังคมเราเลื่อนไหลเปลี่ยนหน้าตาไปมากแล้ว หากตัวบทกฎหมายบางอย่างยังไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนตามเลย และมันกำลังเป็นอุปสรรคในการทำงานกับเด็กเยาวชนในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ผมอยากย้ำว่าถ้าเราเชื่อมั่นตรงกันว่า หากเด็กได้รับการศึกษาและเข้าสู่ระบบการพัฒนาได้ทุกคน GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้น 3% โดยทันที เราก็ยิ่งต้องถ่ายเทอำนาจเพื่อการพัฒนาแบบย่อสเกลลงในระดับท้องถิ่น เพื่อการทำงานที่ชัดเจนในรูปแบบพื้นที่เฉพาะและรูปแบบปัญหาเฉพาะ และแน่นอนว่าข้อมูลในพื้นที่ใดก็ตาม แต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง คือผู้รู้ ผู้เข้าใจ สามารถลงมือทำได้ทันที และจะทำให้เห็นในระยะเวลาไม่นานว่า ผลตอบแทนที่สะท้อนกลับมามีความคุ้มค่าเพียงใด”

เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปด้วยอัตราความเร็วเพิ่มขึ้น ขณะที่การจะรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จำเป็นต้องอาศัย ‘คนที่อยู่ใกล้กับปัญหามากที่สุด’ เป็นด่านหน้าในการทำงานและ “หากอำนาจกระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เชื่อว่าเราจะเห็นการหลั่งไหลกลับคืนบ้านเกิดของคนจำนวนมาก แล้วคนเหล่านี้เองที่จะนำองค์ความรู้ พละกำลัง และประสบการณ์มาพัฒนาท้องถิ่นของตนแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนทุกพื้นที่เข้มแข็ง ส่วนกลางก็จะแข็งแรงมั่นคงไปด้วยโดยอัตโนมัติ”