Information System for Equitable Education หรือ iSEE คือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. วิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดเเคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในประเทศไทยให้ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือ
ปัจจุบันระบบ iSEE ได้พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 3.0 คือ ภาคีเครือข่ายที่ลงทะเบียน สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลการทำงานทุนสร้างโอกาสและนวัตกรรมทั้งหมดของ กสศ. เพื่อมีส่วนร่วมส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนาทุนมนุษย์ได้จากระดับพื้นที่
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 ‘ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ’ ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากการนำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 ผลงานวิจัยสถานการณ์การพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัย นวัตกรรมความร่วมมือทางสังคม มีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายใต้หัวข้อ ‘ขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ระดับพื้นที่โดยใช้ฐานข้อมูล’ และ ทดลองใช้งานระบบ iSEE 3.0 ที่ถูกพัฒนาขึ้น
มีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ทั้งเรื่องการศึกษาและการจัดการความรู้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา ธงชัย มั่นคง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัย จังหวัดระยอง (RILA) และภาคีเครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดระยอง และ นิติศักดิ์ โตนิติ ภาคีเครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประเด็นสำคัญของการพูดคุยคือ การให้ความสำคัญกับข้อมูลเพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ การบริหารจัดการเรื่องความรู้ในโครงการต่าง ๆ และความคาดหวังการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงแนวคิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ต้องการเข้าถึง
รศ.ดร.ผณินทรา ในฐานะผู้จัดทำโครงการ learning city กล่าวถึงความสำคัญของฐานข้อมูลซึ่งสามารถใช้ค้นหาคนที่มีความต้องการเรียนรู้ ระดมทรัพยากรเข้ามาช่วยเหลือ และใช้ฐานข้อมูลส่งต่อคนเหล่านั้น เนื่องจาก learning city คือการนำเอาการเรียนรู้เข้าไปแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับคนในเมืองนั้น ๆ เพราะฉะนั้นอันดับแรกจึงต้องศึกษาจากฐานข้อมูลว่าในพื้นที่มีปัญหาอะไร
จังหวัดพะเยาจึงใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมมาจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และแรงงานที่ตกงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เกิดจากการศึกษาผ่านฐานข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education หรือ iSEE) ของทาง กสศ. และฐานข้อมูลจังหวัด เพื่อค้นหาปัญหาคนแต่ละกลุ่ม และส่งต่อคนกลุ่มนี้ให้ได้เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่สร้างไว้ให้ได้มากที่สุด
ในส่วนของจังหวัดระยอง ธงชัยได้แลกเปลี่ยนการทำงานโดยใช้ฐานข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ โดยการตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัย หรือ RILA เพื่อเป็นกลไกในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ แนวคิดดังกล่าวมาจากการทำงานร่วมกับ กสศ. ที่ได้ค้นหาข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา และนำข้อมูลไปทำงานเชิงพื้นที่ต่อไป เพื่อขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดในการเข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว จนนำไปสู่การคิดกลไกจัดการศึกษาในระดับตำบล จังหวัดระยอง
ฐานข้อมูลที่ระยองจัดทำขึ้น จึงเป็นฐานข้อมูลจากกลไกระดับตำบลเป็นหลัก เกิดการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ระดับตำบล เนื่องจากในพื้นที่มีหน่วยจัดการศึกษาหลายหน่วย ทำให้กระบวนการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กเข้าถึงแหล่งทุนแม่นยำมากขึ้น
ทางด้านนิติศักดิ์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานเชิงพื้นที่โดยใช้ข้อมูลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยเช่นกัน โดยมุ่งเป้าไปที่เยาวชนที่อยู่นอกระบบช่วงอายุ 15-24 ปี ในการจัดการความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และนำข้อมูลจากฐานข้อมูล iSEE มาสนับสนุนการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการอัปเดตข้อมูลอย่างครบถ้วนสม่ำเสมอ ในการใช้ข้อมูลจึงต้องพิจารณาข้อมูลที่มีการอัปเดตแล้ว เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น
ในกระบวนการทำงานจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นรายตำบลและหมู่บ้าน จากนั้นจะนำข้อมูลเข้าประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะมีการเรียกประชุมส่วนราชการทั้งหมดในทุกเดือน เพื่อสร้างความร่วมมือระดับจังหวัด รวมถึงสร้างภาคีเครือข่ายกับกลุ่มอื่น ๆ ผ่านการใช้กลไกที่หลากหลาย เพื่อระดมหลายภาคส่วนให้มาร่วมกันออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่
ขณะที่ กสศ. เสนอว่าระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการชี้เป้าเด็กและเยาวชนที่ควรเร่งช่วยเหลือในระดับพื้นที่ได้
ท้ายที่สุดทาง กสศ. เน้นย้ำว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ระดับพื้นที่โดยใช้ฐานข้อมูล มีความสำคัญต่อการมองเห็นและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งจะสามารถขยายผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในอีกหลายด้านของเด็กและเยาวชนได้ เพราะข้อมูลคือกุญแจสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจ ทำให้แต่ละภาคส่วนมองเห็นขอบเขตของปัญหาและเกิดความเข้าใจตรงกันได้เป็นอย่างดี
ผู้สนใจสามารถเข้าไปใช้งาน iSEE ได้ที่ คลิก