“ผลลัพธ์หลังเข้าร่วมโครงการ TSQP ครูเห็นนักเรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งการกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตอบคำถามในห้องเรียนมากขึ้น สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนที่มีความหลากหลาย”
เสียงสะท้อนของ ครูศิวพร ไกรนรา ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนบ้านกู้กู หลังนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ TSQP มาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning เป็นระยะเวลากว่าสามปี
ครูศิวพร บอกว่าเดิมโรงเรียนบ้านกู้กูประสบกับปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาครูไม่เพียงพอ ปัญหาการวัดและประเมินผลนักเรียนที่ค่อนข้างล่าช้า และปัญหาเรื่องวิธีการสอนของครูที่ไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเมื่อทราบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตว่ามี ‘โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ (Teacher and School Quality Program: TSQP) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เธอจึงรีบประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขออนุมัติเข้าร่วมโครงการ
“ครูรู้สึกว่าโครงการ TSQP เป็นโครงการที่ก้าวล้ำเพราะครูเห็นถึงการพัฒนาทั้งคุณครู การพัฒนาในระบบการวัดและประเมินผลซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ตัวนักเรียน เนื่องจากนักเรียนส่วนมากมีฐานะยากจน ฉะนั้นโอกาสในการออกไปเจอโลกภายนอกหรือการเข้าถึงสื่อเทคโนโลยีจะค่อนข้างน้อย ครูจึงคิดว่าถ้าเรามีรูปแบบการสอนที่หลากหลาย เด็กก็จะได้รับการพัฒนามากขึ้น”
แน่นอนว่าทุกการเริ่มต้นมักยากเสมอ เช่นเดียวกับครูศิวพรและครูท่านอื่น เพราะแม้จะเข้ารับการอบรมผ่านทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตจนเกิดแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ แต่ความท้าทายคือครูจะนำองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดและปรับใช้ในสถานการณ์จริงอย่างไร
“ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ ยอมรับว่าครูก็กังวลจึงใช้วง PLC (Professional Learning Community) เข้ามาระดมความคิด คือครูทำงานเป็นทีมเต็มรูปแบบในการประชุมแลกเปลี่ยนการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อไล่สเต็ปการสอนและวัดประเมินผลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะไม่มีการบอกว่านี่ชั้นเรียนของคุณเราไม่เกี่ยว”
เมื่อได้ข้อสรุปจากวง PLC ว่าโรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีทักษะการคิด ทักษะการทำงานเป็นทีม และมีความรับผิดชอบ สิ่งที่ครูศิวพรดำเนินการต่อคือการตั้งวง PLC ของนักเรียน และวง PLC ผู้ปกครอง เพื่อถามคำถามเดียวกันว่าแต่ละคนมีสิ่งที่อยากให้โรงเรียนเป็น สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และเป้าหมายของทุกคนเป็นอย่างไร
“ในส่วนผู้ปกครอง ตอนวางเป้าหมายร่วมกันครั้งแรก ผู้ปกครองบอกว่าอยากให้ลูกของเขาเก่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือเขาอยากให้ลูกเขาเอาตัวรอดในสังคมได้ สามารถทำงานกับผู้อื่นได้ ซึ่งสิ่งที่ครูกำลังทำอยู่ถือว่าตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้
ส่วนนักเรียนก็มีการพูดคุยกันว่าอยากให้ครูสอนแบบไหน นักเรียนที่ดีเป็นยังไง หรือมีเรื่องไหนที่เด็กๆ สนใจ ซึ่งคำตอบหนึ่งที่เขาสะท้อนกลับมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาอยากให้สภาพแวดล้อมของบ้านและโรงเรียนสะอาด เพราะชุมชนบริเวณโรงเรียนเป็นชุมชนเมืองที่มีความแออัดสูง เวลาเลิกเรียนก็จะมีคนมาขายอาหารบ้าง มาใช้สถานที่อออกกำลังกายบ้าง ฉะนั้นเด็กเขาก็บอกว่าอยากให้โรงเรียนสะอาด ประกอบกับโรงเรียนอยู่ใกล้ป่าชายเลนด้วย แล้วเราจะทำยังไงที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ นี่คือประเด็นที่เกิดขึ้นในการกำหนดหน่วยการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ”
แม้หน่วยการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะจะเกิดจากความสนใจของนักเรียน แต่ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่น้อย คณะครูและผู้บริหารจึงร่วมกันออกแบบการสอนที่ตอบโจทย์ด้านการบูรณาการการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ซึ่งต้องเหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6
“ในวง PLC ครูมีการคุยกันว่าถ้าเป็นเด็กน้อยควรจะรู้อะไร อย่างน้อยก็ขอให้เขารู้เรื่องประเภทของขยะก่อน พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย ครูก็วางว่าจะให้เขาเรียนรู้บูรณาการอย่างไรจากสิ่งรอบตัว แล้วเราโชคดีที่มีชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้าน เรามีตัวอย่างคือศูนย์สิ่งแวดล้อมของชุมชนกิ่งแก้วซอยหนึ่ง ซึ่งผู้นำชุมชนสร้างไว้ เราก็ได้ท่านเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความรู้เด็กๆ รวมถึงสามารถพาเด็กๆ ไปที่ศูนย์การเรียนรู้ได้ ก็เลยใช้การบูรณาการและการเรียนแบบ Active Learning (การเรียนรู้เชิงรุก) โดยเฉพาะกับนักเรียนชั้นป.4-6”
ครูศิวพร กล่าวต่อว่าหลังจากที่เด็กๆ เรียนรู้ประเภทของขยะ หลายคนมีการเดินสำรวจโรงเรียนและนำปัญหาของขยะเหล่านั้นมาพูดคุยในชั้นเรียน โดยเฉพาะเรื่องขยะเหลือทิ้งจากเศษอาหารและการทำครัว ทำให้เธอเกิดไอเดียต่อยอดไปสู่การเรียนรู้แบบ Project-Based Learning ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนำปัญหาขยะในโรงเรียนมาต่อยอดเป็นโครงงานชนิดต่างๆ ตามความสนใจของตัวเอง
“บางชั้นเรียนเอาเปลือกไข่มาทำเป็นปุ๋ย บางกลุ่มนำเปลือกผลไม้นำเศษอาหารมาเลี้ยงไส้เดือน ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์มูลไส้เดือนแล้วให้เด็กๆ ออกแบบโลโก้ก่อนนำไปจ่ายแจกให้ผู้ปกครอง หรืออย่างพี่ ป.6 ได้นำร่องโครงการถังหมักรักโลก เขาก็วัดค่าในดินก่อนนำเศษอาหารมาใส่ ทำให้พอทดลองปลูกผักบุ้งก็จะรู้ว่าปลูกผักบุ้งในดินแบบนี้ต้องใส่มูลไส้เดือนเท่าไหร่”
ขณะที่นักเรียนกำลังสนุกสนานกับการได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ สิ่งที่ครูศิวพรเน้นย้ำในวง PLC ของคณะครูและผู้บริหารเสมอ คือครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ‘พี่เลี้ยง’ หรือ ‘โค้ช’ ให้กับนักเรียน
“ครูจะให้อิสระก่อนว่าเขาอยากทำอะไร มีวิธีการหาข้อมูลและดำเนินการยังไง ครูจะเป็นโค้ชคอยดูว่าต้องทำยังไงถึงจะรวบรวมประเด็นให้เขาเดินไปตามสเต็ป เพื่อบูรณาการการเรียนรู้กับ 8 กลุ่มสาระ เช่น เทคโนโลยีได้เรื่องการสืบค้นข้อมูลและออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์มูลไส้เดือน การงานอาชีพได้เรื่องการนำมูลไส้เดือนมาปลูกผักเพื่อการเกษตร หรือภาษาไทยที่ต้องอาศัยการจดบันทึกและการสื่อสารที่คนอื่นต้องฟังแล้วเข้าใจ ซึ่งครูมองว่ามันสอดแทรกคือเด็กได้รับโดยที่ครูไม่ต้องไปบอกว่าเขา เพราะเขาจะได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง”
นอกจากการปรับบทบาทจากครูสู่โค้ชแล้ว หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายคณะครูโรงเรียนบ้านกู้กูที่สุดคือการตั้ง ‘ชุดคำถาม’ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการกระตุ้นความคิดของนักเรียน เพื่อเชื่อมโยงคำตอบไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ จนกระทั่งสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ทั้งหมดมาตอบโจทย์การทำโครงงานจริง
“การตั้งชุดคำถามเป็นเทคนิคที่ครูแต่ละท่านต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ครูบางท่านอาจทำได้เร็วหรือทำได้ช้า ซึ่งความยากของครูคือเราจะต้องไม่ปากไวบอกคำตอบเด็กก่อน เพราะครูอาจรู้สึกชินกับการสอนแบบเดิม แต่พอฝึกบ่อยๆ ครูก็เริ่มใช้ชุดคำถามได้ดีขึ้น สามารถใช้ชุดคำถามไล่สเต็ปจากง่ายไปยาก หรือบางคำถามที่นักเรียนไม่เข้าใจ ครูก็จะคิดคำถามย่อยขึ้นมาทดแทน เช่น ถ้าเด็กทำเรื่องการย่อยสลายของขยะ ก็จะถามเด็กว่าขยะมีกี่ประเภท แต่ละประเภทต่างกันยังไง แล้วดูความต่างได้จากตรงไหน คือต้องมีคำถามที่จะทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงคำตอบของเขาไปสู่สิ่งที่เขาอยากรู้ให้ได้ ซึ่งการจะถามเขาแบบนี้ได้ถือเป็นทักษะที่ครูจะต้องฝึกฝน”
สำหรับผลลัพธ์หลังจากเข้าโครงการ TSQP คือนักเรียนโรงเรียนบ้านกู้กูมีทักษะการคิด มีความกล้าแสดงออก และมีความรับผิดชอบในการทำงานเป็นทีมมากขึ้น
“ครูเห็นนักเรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งการกล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าตอบคำถามในห้องมากขึ้น ซึ่งนอกจากผลลัพธ์เหล่านี้เขายังรู้จักรับฟังความเห็นของเพื่อนคนอื่น สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมกับเพื่อนที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่ว่าพอเป็นเด็กเรียนเก่งก็จะไม่อยากได้เด็กที่เรียนไม่เก่งหรือทิ้งเพื่อน แต่เขาจะพยายามหาวิธีว่าจะทำยังไงให้เพื่อนหรือกลุ่มของเขาได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน”
ขณะเดียวกัน พอนักเรียนมีความสุขการกับเรียนมากขึ้น ผลลัพธ์อีกอย่างที่น่าสนใจคือผลคะแนนสอบ RT , NT และ O-Net ในช่วงสามปีหลังของโรงเรียนบ้านกู้กูมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี
“พอได้ใช้การจัดการเรียนรู้แบบ PBL สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือครูมองเห็นว่าเด็กๆ กล้าคิด กล้าตอบ ซึ่งมันส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนเองโดยตรงครูมองเห็นพัฒนาการของเขาว่าพอนักเรียนสามารถลำดับความคิดได้ด้วยตัวเอง ผลสัมฤทธิ์ก็เลยสูงขึ้น เพราะการสอนแบบนี้มันช่วยตอบโจทย์นักเรียนให้มีอิสระในการคิดและไปตอบในส่วนของคะแนนส่วนนั้นด้วย
ส่วนในมุมของผู้ปกครอง เนื่องจากว่าปีแรกๆ ที่ทำโปรเจกต์อาจมีช่วงหยุดเรียนจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรง ทำให้ผู้ปกครองเองก็ต้องเป็นเหมือนนักเรียนที่เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ซึ่งพ่อแม่จะมีการคุยกันในกลุ่มไลน์ผู้ปกครองถึงเรื่องที่ลูกจัดการขยะหรือทดลองปลูกพืชทางการเกษตร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งผู้ปกครองจะมีเสียงตอบรับที่ดีว่าลูกของเขามีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญในเรื่องการทิ้งเศษอาหาร เพราะลูกสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญคือเขาสามารถให้เหตุผลกับผู้ปกครองได้ว่าอะไรที่เขาควรทำหรือไม่ควรทำ”
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ครูเองก็มีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะบทบาท วิธีการสอน การตั้งชุดคำถาม รวมถึงการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียน
“สิ่งสำคัญของการทำ Project-Based Learning คือครูเองก็เรียนรู้ไปกับเด็ก บางอย่างเราก็ไม่เคยทำมาก่อน แต่เราจะทำด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนการทำโปรเจกต์นั้น แม้ครูจะดึงเวลาทุกวันพฤหัสสองคาบสุดท้ายมาเป็นคาบลดวิชาเรียนเพิ่มเวลารู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ในรายวิชาที่ครูเป็นเจ้าของรายวิชาเอง ครูหลายท่านก็สามารถออกแบบกิจกรรมการสอนแบบ Active Learning ให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น ผ่านเกม ผ่านโจทย์สถานการณ์จำลองว่าเขาต้องทำยังไง รวมถึงการตั้งชุดคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดแทนการป้อนความรู้แบบเดิม ซึ่งครูได้มาจากการทำโปรเจกต์นี้”
ครูศิวพร ทิ้งท้ายว่าแม้เธอจะเคยผ่านประสบการณ์ในโรงเรียนที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้านวิชาการ แต่ในปัจจุบันการอาศัยความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถยืนหยัดได้ในโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“ครูมองว่าในโลกปัจจุบันและโลกของอนาคต เด็กไม่น่าจะมีความรู้แค่อย่างเดียว ถ้ามีความรู้อย่างเดียวมันอาศัยแค่ท่องจำก็ได้ แต่ว่าในโลกการทำงาน ในโลกชีวิตจริง หรือแม้แต่สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ใครที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ คนนั้นคือผู้ที่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสอนนักเรียนให้มีความรู้คู่ทักษะและกระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ตรงนั้นสำคัญกว่า เพราะไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ เขาจะมีทักษะติดตัว สามารถคิดได้ มีกระบวนการที่สามารถเอาองค์ความรู้ที่มีมาใช้ต่อยอดความรู้ของเขาได้ด้วยตัวเอง สามารถเอาตัวรอดและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะเราไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ในปัจจุบัน ดังนั้นกระบวนการสอนจะเน้นแค่ความรู้ในห้องอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาเรียนรู้กระบวนการที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในอนาคต”