โรงเรียนจะพัฒนาตนเองได้ ตัวแปรสำคัญไม่ได้มีเพียงแค่ผู้เล่นอย่างครูและนักเรียนเท่านั้น การหนุนเสริมด้านบริหารจัดการจากผู้บริหารและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนนโยบายการศึกษาสู่การปฏิบัติการในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
“จังหวัดนครศรีธรรมราชมีทั้งหมด 5 เขต ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้ามาช่วยนำร่องดำเนินโครงการ TSQP ในพื้นที่เขต 3 เข้าใจว่าเป็นพื้นที่เขตที่มีโรงเรียนขนาดเล็กเยอะที่สุด คือ 136 โรงเรียน คิดเป็น 60% เรามีครูแค่ 1,500 คน กับนักเรียนประมาณ 27,000 คน ดังนั้นการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กจึงเป็นงานที่ท้าทายมาก ประกอบกับนโยบายที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามปีงบประมาณ ถ้าเราทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลาง หรือ Messenger ที่คอยส่งสารจาก สพฐ. ไปโรงเรียนเท่านั้น ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นที่ผ่านมาสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ครอบคลุมทุกคน” นางพนารัตน์ หาญมานพ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครศรีธรรมราช เขต 3 สะท้อนถึงแนวคิดการดำเนินงานในฐานะหน่วยงานเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการขยายผลโรงเรียน TSQP
นางพนารัตน์ เล่าว่า ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 3 มีโรงเรียนในเครือข่าย TSQP อยู่ 4 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดนาหมอบุญ โรงเรียนวัดชมพูประดิษฐ์ โรงเรียนวัดสุวรรณโฆษิต และโรงเรียนวัดไม้เสียบ ซึ่งผู้บริหารทั้ง 4 โรงเรียนนี้กล่าวได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เมื่อเราเห็นการขับเคลื่อนของ 4 โรงเรียน ก็มาช่วยกันคิดในฐานะเครือข่ายว่าจะมีส่วนช่วยในการขยายผลได้อย่างไร
“คิดกันว่าจะขยายผลยังไง จาก 4 โรงเรียน เป็น 10 โรงเรียน หรือ 20 โรงเรียน ก็เลยคุยกันว่า เอาอย่างนี้มั้ย ทำครั้งเดียวเลยทั้ง 221 โรงเรียนในพื้นที่ สร้างความตกใจให้บรรดาผู้บริหารว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ต้องการผลสำเร็จแค่ไหน ทะลุฟ้าไปเลยมั้ย คำตอบคือไม่ เราเพียงต้องการสร้างแรงกระเทือนให้ผู้บริหารทุกคนต้องรู้ในสิ่งเดียวกัน เมื่อจุดเน้นของเขตพื้นที่บอกว่า เราจะต้องปรับห้องเรียน เปลี่ยนวิธีสอน คนที่จะต้องปรับจึงไม่ใช่ครูเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้บริหารทุกคน”
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครศรีธรรมราช เขต 3 ในการสนับสนุนและขยายผลโรงเรียนพัฒนาตนเอง นางพนารัตน์ เล่าว่า การขยับเพื่อปรับอันดับแรกคือ การตั้งทีมนิเทศ
“การปรับครั้งที่ 1 เป็นการสร้างทีมนิเทศขึ้นมา เนื่องจากว่าในส่วนของเขต 3 มีกลุ่มศึกษานิเทศแค่ 6 คน ซึ่งเต็มกรอบจริงๆ ต้อง 17 คน โดยขั้นที่ 1 เราแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมที่ 1 เรียกว่า ‘ทีมนิเทศ’ เราไม่ได้คิดเองว่าใครจะทำหน้าที่อะไร แต่ให้โจทย์ไปว่าเราจะสร้างทีมนิเทศขึ้นมา เอากระบวนการ Coaching และ PLC ไปจับ ในครั้งแรกให้ผู้บริหารสองท่านจับคู่กัน จะกี่โรงเรียนก็ตาม คนแรกอาวุโสหน่อยให้เป็น Administrator Teacher เป็นผู้จัดการควบคุมทุกอย่าง ดูแลการจัดกิจกรรม และผู้บริหารอีกท่านหนึ่งเป็น Head Coach มีครูวิชาการ และมีครูผู้ร่วมเรียนรู้ หรือ Buddy Teacher 2 คน ทำแบบลองผิดลองถูก เชื่อมั้ยว่าเรามีบุคลากรครู 1,500 คน และมีผู้บริหารอีก 130 คน รวมแล้วเป็น 1,630 คน แต่คำสั่งตั้งทีมนิเทศฉบับแรกมีถึง 40 หน้า คนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการครั้งนี้มีทั้งหมด 882 คน นั่นคือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั้งหมด สะท้อนได้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง”
ส่วนทีมที่ 2 ใช้ชื่อว่า ‘ทีมนิเทศหนุนเสริม’ ทำหน้าที่คอยนิเทศ หรือส่งเสริม ให้การสนับสนุน และพัฒนามาตรฐานของการศึกษาให้แก่ทีมนิเทศอีกทีหนึ่ง
นางพนารัตน์ เล่าว่า บางครั้งคนนิเทศก็นิเทศผิด หรือนิเทศไม่ตรงเป้า ดังนั้นเราจึงมีทีมนิเทศหนุนเสริม ซึ่งก็คือคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา (ก.ต.ป.น.) และศึกษานิเทศก์ เป็นหัวใจสำคัญเลยที่จะทำหน้าที่ลงไปดู ให้คำแนะนำ รวมทั้งบอกได้ว่าครูคนนี้สอนดีหรือไม่ดี ทีมนิเทศที่ตั้งขึ้นมาทั้ง Administrator, Head Coach, ครูวิชาการ รวมถึง Buddy Teacher สามารถทำบทบาทหน้าที่ได้ถูกต้องหรือไม่ แล้ว Buddy Teacher คนใดที่จะเป็น Model Teacher ได้ เช่น ถ้าจะดูเรื่องการสอนคณิตศาสตร์ระดับประถมจะต้องศึกษาจากครูท่านนี้ ดังนั้นทีมนิเทศหนุนเสริมจะต้องศึกษาและเตรียมตัว เรียกได้ว่าแทบจะเป็นศึกษานิเทศก์คนหนึ่งเลยก็ได้
เมื่อกองกำลัง ‘ทีมนิเทศ’ พร้อมแล้ว เข้าสู่กระบวนการวางแผนพัฒนากิจกรรม PLC และ Coaching ตามกระบวนการ PDCA โดยมีการออกแบบรูปแบบการสอนและกระบวนการพัฒนาผู้เรียน
นางพนารัตน์ เล่าว่า เราก็อธิบาย ตัดทอนแบบนิเทศให้ง่ายที่สุด สร้างกระบวนการขับเคลื่อน Active Learning ที่ไม่ยาก ไม่วิชาการจนเกินไป ทำแล้วเด็กได้ และตัวของเขาก็ต้องมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจ ด้วยไม่มีงบประมาณ ทุกคนก็พร้อมใจทำงานในวันหยุด ประชุมออนไลน์ ไปศึกษาผ่านยูทูบ เพื่อพัฒนาแผนการสอน ตรวจแผนการสอน ก่อนนำไปทดลองใช้จริงให้ชั้นเรียน
“พอเราตรวจแผนการสอน โจทย์ยากก็ออกมาทันที แต่ละโรงเรียนต้องการโชว์ศักยภาพ เอาครูที่สอนดีที่สุดมาเป็น Buddy Teacher ครูสองคนที่จะสอนให้คนอื่นดู แต่ปรากฏว่าครูที่มาโค้ชคนอื่น เป็นครู ครู คศ. 1 เขาก็ไม่กล้าโค้ช เพราะไม่มีความมั่นใจ ขณะที่โรงเรียนซึ่งเป็นเครือข่ายของ TSQP อยู่แล้ว ก็จะตีโจทย์แตกและเลือกทีมได้ชัดเจนกว่า เช่น คนที่โค้ชจะต้องเป็นกลุ่มสาระเดียวกัน หรือ เอาครู คศ. 1 มาเป็น Buddy Teacher แล้วก็เลือกครูวิชาการที่มีภูมิรู้ มีวิทยฐานะสูงกว่ามาเป็นโค้ช ซึ่งจะโค้ชได้ชัดเจน ก็เป็นตัวอย่างมาแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นก็ทดลองสอนจริงทั้ง 99 ทีม มีทีมลงไปสังเกตการสอนที่ห้องเรียน และใช้กระบวนการโค้ชกันด้วยรูปแบบ PLC แลกเปลี่ยนความเห็นกัน แลกเปลี่ยนใบงาน ซึ่งพวกเขาก็พบปัญหามากมายพร้อมที่จะมาสะท้อนให้สำนักงานเขตฯ ฟัง”
อุปสรรคปัญหาจากการปฏิบัติงานจริง ได้นำมาสู่การถอดบทเรียนร่วมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น นางพนารัตน์ บอกว่า ‘เหนือความคาดหวัง’
“เราจัดประชุมเพื่อถอดบทเรียน 1 วัน ซึ่งทุกคนมาแบบพร้อมที่อยากจะบอกว่า สิ่งที่เขตสั่งให้ทำ มันไม่ถูกเลย วันนั้นก็เลยย้อนถามกลับไปว่า แล้วท่านอยากได้แบบไหน ปรากฏว่าวันนั้นเป็นวันที่ไม่น่าเชื่อ เราเกิดรูปแบบการนิเทศต่างพื้นที่ทั้งหมด 17 แบบ ซึ่งเป็นการออกแบบโดยเขาเอง จากแบบนิเทศฉบับเดียวกัน กลายเป็นแบบนิเทศที่หลากหลายและพร้อมจะนำไปขับเคลื่อนในภาคเรียนที่ 2 ถามว่าในห้วงระยะเวลา 6 เดือนที่ปฏิบัติงานมาพอใจในระดับไหน บอกได้ว่ามันเกินกว่าที่เราคิดว่าจะทำได้”
นางพนารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย ในเวทีเสวนา ‘การปรับตัวของโรงเรียน ด้านการบริหารจัดการ ทีมวิชาการ และการหนุนเสริมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชั้นเรียน’ ภายใต้งานปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน ในมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวของระบบบริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการหนุนเสริมให้โรงเรียนมีความพร้อมต่อการรับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การขยับตัวจากจุดเล็กๆ ที่เป็นความหวังในการสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่เยาวชนทั้งในด้านทักษะและพฤติกรรมตามเป้าหมายของโรงเรียนพัฒนาตนเอง